‘ยิ่งลักษณ์’ กลับไทยช่องทางไหน?

21 พ.ย. 2567 - 04:16

  • กลับไทยได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า

  • เพียงแต่ไม่ได้บอกจะใช้ช่องทางไหน

  • คาดกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติเช่นเดียวกับพี่ชาย

politics-thailand-thaksin-channel-yingluck-return-SPACEBAR-Hero.jpg

การเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงสงกรานต์ หรือปี๋ใหม่เมือง ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างแดน ไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่กลับมาเป็นข่าวบนหน้าสื่ออีกครั้งเพราะ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศ โดยย้ำถึงการเดินทางกลับของน้องสาวว่า จะสามารถกลับไทยได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า

“ผมไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรที่ขัดขวางเธอ (ยิ่งลักษณ์) ไม่ให้กลับบ้าน ผมคิดว่าเธออาจจะกลับมาก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส (ที่เหมาะสม)” 

ทักษิณให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ไม่กี่วันก่อน ซึ่งดูมีความมั่นใจสูงว่าน้องสาวตัวเองจะได้เดินทางกลับไทยก่อนช่วงสงกรานต์ในเดือนเมษายนด้วยซ้ำ

เพียงแต่ไม่ได้บอกจะใช้ช่องทางไหนและสื่อเองก็ไม่สนใจซักถาม เพราะคงเห็นตัวอย่างจากทักษิณมาแล้ว

วันนี้ ยิ่งลักษณ์จะเลือกใช้วิธีไหนดินทางกลับประเทศไทย ไม่มีใครรู้ แม้แต่ ชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายรัฐบาลซึ่งเป็นมือกฎหมายพรรคเพื่อไทยด้วย ก็ยังให้คำตอบนั้นไม่ได้

"พูดไปก็เป็นการเดามากกว่า เลยไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร..พูดกับสื่อตรงไปตรงมาว่าไม่รู้จริงๆ"

ชูศักดิ์สารภาพแบบตรง ๆ ก่อนจะขยายความว่า ครั้นจะรออาศัยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ยังอีกนาน ไม่แน่ใจจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้เมื่อไหร่ หรือต่อให้เปิดสมัยประชุมมาแล้วพิจารณาได้เลย ก็คงไม่เสร็จง่าย ๆ เพราะยังมีความเห็นแตกต่างกันอีกเยอะ

เอาเป็นว่า กรณีของยิ่งลักษณ์ ที่มีโทษจำคุก 5 ปี ในคดีรับจำนำข้าวเพียงคดีเดียวและเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่การทุจริต จึงมีความซับซ้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของทักษิณ

ส่วนจะเลือกช่องทางทางไหนในการเดินทางกลับประเทศไทย

หากตัดประเด็นการรอโดยสารไปพร้อมกับการนิรโทษกรรม ที่ต้องใช้เวลาอีกนานออก ก็จะเหลืออยู่ช่องทางเดียว คือ กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติเช่นเดียวกับพี่ชาย เพียงแต่อาจมีช่องทางให้เดินมากกว่า

หนึ่ง ใช้สถานทูตไทยในต่างประเทศ ที่เป็นเสมือนราชอาณาจักรไทย เป็นที่ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับคดีความทั้งหมด รวมทั้ง จัดทำเอกสารทุกอย่างให้แล้วเสร็จ ก่อนนำตัวกลับเข้ามาประเทศไทย อย่างที่หลายคนคาดเดาไว้

สอง กลับมาว่ากันในประเทศไทยล้วน ๆ สูตรเดียวกับทักษิณนั่นแหล่ะ เพียงแต่อาจมีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้กระบวนการต่าง ๆ ต้องใช้เวลาอยู่ในเรือนจำนานเกินไป 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกข้อหนึ่งหรือข้อสอง กุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูเรือนจำออกไปได้ โดยที่ไม่ต้องรอช่องทางอื่น คือ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือที่เรียกว่า "การคุมขังนอกเรือนจำ"

โดยระเบียบนี้ กรมราชทัณฑ์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2566 และเริ่มมีผลใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป เพื่อให้การดำเนินการกับผู้ต้องขังเป็นไปตามหลักสากล ไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน และลดดความแออัดของเรือนจำ

เมื่อพิจารณาจากระเบียบดังกล่าว อดีตนายกฯ หญิงคนแรกของไทย หลังตกเป็น "ผู้ต้องขัง" ย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง ซึ่งมีรองอธิบดีราชทัณฑ์ เป็นประธาน เสนอให้อธิบดีพิจารณาอนุมัติ นำตัวไปคุมขังนอกเรือนจำได้

ส่วนจะนำตัวไปคุมขังไว้ที่ไหน ก็สุดแท้แต่จะเลือกเอาตามเงื่อนไข ซึ่งมีทั้งสถานพยาบาล เคหะสถาน บ้านเรือน ที่มีเลขประจำบ้าน หรืออาคาร สิ่งปลูกสร้าง ที่มีเลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่สามารถระบุตำแหน่งได้

ระเบียบนี้ประกาศใช้มาจะครบหนึ่งปีแล้ว ไม่แน่ใจมีผู้ต้องขังเข้ามาใช้ช่องทางนี้ผ่านไปกี่รุ่นแล้ว ยังไม่ปรากฎเป็นข่าว ดังนั้น พรุ่งนี้ มะรืนนี้ หากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อมาร่วม "ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" ตามที่พี่ชายประกาศไว้และจะขอใช้ช่องทางนี้บ้าง

กรมราชทัณฑ์คงไม่สงวนสิทธิ์!!

ช่วงสองสามวันก่อนเห็น รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ออกมาพูดถึงการเดินทางกลับไทยของยิ่งลักษณ์เอาไว้ไม่สั้นไม่ยาวนักว่า   

"เบื้องต้นยังไม่ได้รับการประสานมา แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เพราะคนที่จะเข้าสู่กระบวนการของกรมราชทัณฑ์ ต้องเริ่มต้นที่กระบวนการศาลก่อน คือมีหมายขังที่ออกโดยศาล เมื่อรับหมายแล้วกรมราชทัณฑ์ก็ปฏิบัติตาม และตามกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ปัจจุบันมีการยกระดับมากขึ้น หากเป็นผู้หญิงก็ต้องอยู่ในทัณฑสถานกลาง ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย"

พ.ต.อ.ทวี ย้ำอยู่หลายรอบเมื่อถูกถามถึงการกลับมาของยิ่งลักษณ์ จะเข้าสู่กระบวนการแบบเดียวกับทักษิณ จนไปถึงขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ว่า ตอนนั้น ตนยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรียุติธรรม พร้อมกับย้ำคำเดิม

"ไม่ได้เป็นโมเดลอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างปฏิบัติตามกฎหมาย"

เมื่อว่ากันตามกฎหมาย ก็เห็นจะมีอยู่ช่องทางเดียวนี่แหล่ะ คือ ใช้สิทธิคุมขังนอกเรือนจำ ส่วนเมื่อเข้ามารับโทษแล้วจะไปแสวงหาช่องทางอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เช่น การขอพระราชทานอภัยโทษ ก็เป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังทุกคนสามารถทำได้

แต่หากจะกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ แบบไม่ต้องการความเท่ ไม่เลี้ยวไปไหน ก็ต้องเข้า-ออกทางประตูใช้สิทธิขอคุมขังนอกเรือนจำนี้แแหล่ะ!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์