ถอดบทเรียน ‘พ่อบรรหาร’ สานฝันรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21

6 พ.ย. 2567 - 03:01

  • นักการเมืองคาดหวังมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21

  • ท็อป-วราวุธ ออกมาจุดประกาย

  • ถอดบทเรียนในอดีตสมัยคุณพ่อตัวเองได้เริ่มต้นเอาไว้

politics-thailand-varawut-constitutional-SPACEBAR-Hero.jpg

ทันทีที่ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบจ.ทั่วประเทศขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ทำให้ความหวังของหลายคนที่จะได้เห็นการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปด้วยพร้อมกันในคราวเดียว ดับวูบลงทันที

เพราะกฎหมายประชามติที่จะนำมาใช้ ยังอยู่ในมือของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา และไม่รู้จะออกหัวออกก้อยอย่างไร ดังนั้น ต่อให้เร่งเครื่องขนาดไหนก็เสร็จไม่ทันแน่ ๆ 

ไหนจะยังมีกรอบเวลาช้าเร็ว 60-150 วัน คอยกำกับไว้กรณีจะให้ทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ความจริงหลายคนคงเลิกหวังกันไปแล้ว และพยายามเอี้ยวตัวหลบซ้ายหลบขวาด้วยซ้ำไป สำหรับพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาล เมื่อถูกถามไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงและแถลงต่อสภาเอาไว้ได้

แต่ในขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ หนึ่งในแกนนำพรรคสีส้ม ที่หายใจเข้าออกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะต้องการนำมาลบล้างผลของคณะรัฐประหาร กำลังดิ้นรนขอเข้าพบ 3 บุคคลสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อหาช่องทางพิเศษจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ให้ได้นั้น

เป็นจังหวะเดียวกับที่ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ทายาทอดีตนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ออกมาชี้ทางแห่งความหวังให้ โดยถอดบทเรียนในอดีตสมัยคุณพ่อตัวเองได้เริ่มต้นเอาไว้

ที่กว่าจะมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับธงเขียว โดยส.ส.ร.และประชาชนร่วมกันยกร่างขึ้น ก็ผ่านมาถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีอีกคนจากพรรคความหวังใหม่

ย้อนไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ในปี 2538 บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้นในเวลาต่อมา 

‘ท๊อป-วราวุธ’ คงต้องการชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้น หัวใจสำคัญคือการเร่งจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ขึ้นมาให้ได้ก่อน เพราะอายุของ ส.ส.ร.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระสภาชุดนี้ซึ่งจะหมดลงในวันที่ 13 พฤษภาคม 2570 

‘การตั้ง ส.ส.ร.เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่ได้ประกาศใช้สมัยรัฐบาลของนายบรรหาร แต่ก็ยังได้รับเครดิตการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ขออย่าพึ่งหมดหวัง รัฐบาลจะเร่งทำงานเต็มที่เพื่อให้เกิด ส.ส.ร.และจะมีกลไกรับฟังความคิดเห็นในทุกพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’

ส่วนการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นนั้น วราวุธไม่อยากให้กังวลว่าจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังมีสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้

วราวุธ ยังสะกิดไปถึงพรรคเพื่อไทย ที่มีความคิดตัดตอนการทำประชามติให้เหลือเพียง 2 ครั้งด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวทางมาค่อนข้างชัดเจน ให้การแก้ไขมาตรา 256 จำเป็นต้องมีการทำประชามติ และเมื่อมี ส.ส.ร.แล้ว จะต้องมีการทำประชามติครั้งหนึ่ง

‘ส่วนจะ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง ขอให้ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามจะดีกว่า เพราะหากมีการลัดขั้นตอนไป แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา 2-3 ปีที่ผ่านมาจะกลับไปที่ศูนย์ แต่หากเพิ่มเวลาอีกนิด และทำประชามติตามขั้นตอน สุดท้ายจะคุ้มค่าที่เราได้ดำเนินการไป’

ในตอนท้าย วราวุธย้ำว่า เครดิตของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญต้องประกาศใช้ในรัฐบาลนี้ แต่การให้เกิด ส.ส.ร.คือหัวใจสำคัญ

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นดอกผลการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี2535 ที่รวมตัวกันขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากการสืบทอดอำนาจหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(รสช.) จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองในเวลาต่อมา

แต่ผ่านไปสองปี ความพยายามยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที แม้ในปี 2537 ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และมี มารุต บุนนาค เป็นประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ขึ้นมาศึกษาและเสนอแนะในการพัฒนาหรือปฏิรูปการเมืองการปกครอง ก็ยังวนอยู่ในอ่างหาทางออกไม่เจอ

จนมาเริ่มต้นตั้งไข่นับหนึ่งมี ส.ส.ร.ขึ้นในรัฐบาลบรรหาร ปี2538 และมีรัฐธรรมนูญปี2540 ฉบับแรกที่ประชาชนร่วมกันยกร่างขึ้นได้สำเร็จ

จากบทเรียนที่ว่านี้กระมัง ทำให้ ‘ท็อป-วราวุธ’ ถอดออกมาจุดประกาย สานฝันไปสู่การมีรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 21 ของประเทศไทย ที่มีประชาชนร่วมกันยกร่างขึ้นในนามของ ส.ส.ร.2 ทั้ง ๆ ที่ความหวังเริ่มจะริบหรี่เต็มทีก็ตาม

เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จะขอแค่ตั้งไข่ให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมาก่อน แต่ลึก ๆ แล้วมีการออกแบบเอาไว้อยู่บ้างเหมือนกัน โดยตั้งเป้าจะร่างให้เสร็จและทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นปี2570

รอดูประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 อย่างที่นักการเมืองตั้งความหวังเอาไว้หรือเปล่า?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์