แม้พรรคประชาชนจะแพ้การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี อย่างขาดลอย ถึง 66,944 คะแนน แต่ก็เลือกใช้ชุดข้อมูล เปรียบเทียบคะแนนที่ได้ครั้งนี้ กับการเลือก นายก อบจ. เมื่อปี 2563 ที่ส่งผู้สมัครในนามคณะก้าวหน้าว่า ได้คะแนนมากขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี
แปรความพ่ายแก้อย่างย่อยยับให้เป็นชัยชนะ ปลอบใจตัวเองได้สมกับที่ได้ชื่อว่า เป็นพรรคการเมิองคนรุ่นใหม่ ที่ช่ำชองในการเล่มเกมข้อมูล ข่าวสาร
แต่ถ้าไปดูคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จังหวัดราชบุรี ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียง 233,608 คะแนน มากที่สุด ‘ทิ้งห่าง’ พรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ เป็นที่สอง ถึงหนึ่งเท่าตัว
เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง นายกอบจ .ราชบุรี ที่เพิ่งจบไป ‘ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์’ จากพรรคประชาชนได้คะแนน 175,353 คะแนน **‘วิวัฒน์ นิติกาญจนา’**หรือกำนันตุ้ยแชมป์เก่า นายก อบจ. คนที่แล้วได้ 242,297 คะแนน
เวลาผ่านไปแค่ 1 ปี กับอีก 3 เดือน คะแนนของพรรคก้าวไกลในจังหวัดราชบุรี หายไปเกือบ 60,000 คะแนน
มองในมุมนี้ นี่คือความพ่ายแพ้ที่ ‘คณะนำ’ หรือ โปลิตบูโรของ คณะก้าวหน้า พรรคประชาชน ต่างรู้อยู่แก่ใจ
จริงอยู่ว่าการเลือกตั้งระดับชาติ กับระดับท้องถิ่นมีปัจจัยแตกต่างกันระดับชาติ กระแสมีความสำคัญ ระดับท้องถิ่น ตัวบุคคลสำคัญกว่าระบบ การเลือกตั้งสส.มีการลงคะแนนเสียงล่วงหน้า ระดับท้องถิ่นไม่มี ผู้มีสิทธิลงคะนน ต้องกลับมาลงคะแนนที่ภูมิลำนาในวันเลือกตั้ง
แต่ระบบการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ว่านี้ ก็ใช้กับผู้สมัครทุกคน ไม่ได้เป็นคุณเป็นโทษ สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับพรรคใด หรือผู้สมัครคนใดเป็นการเฉพาะ
นอกจากนั้นการเลือกตั้งนายก อบจ. ราชบุรี ไม่ใช่ครั้งแรกของพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั่วประเทศ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2563 คณะก้าวหน้า ภายใต้การนำของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ส่งผู้สมัครทั้งสิ้น 42 จังหวัด ครบทุกภาค ‘แต่ไม่ได้รับเลือกแม้แต่คนเดียว’
ก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. ราชบุรี มีการเลือกตั้ง อบจ. 7 จังหวัด คือ ปทุมธานี อ่างทอง นครสวรรค์ อยุธยา ชัยนาท พะเยา และพิษณุโลก ผลปรากฏว่า ‘บ้านใหญ่’ หรือกลุ่มการเมืองท้องถิ่นชนะทุกจังหวัด แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้ส่งผู้สมัครในนามพรรค แต่ในหลาย ๆ จังหวัด คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ให้การสนับสนุนทางอ้างกับผู้สมัคร ที่เป็นคู่แข่งกับบ้านใหญ่ โดยใช้แบรนด์ **‘ก้าวหน้า’**และสีส้มเป็นสัญลักษณ์ บางรายในบางจังหวัด เช่นที่พิษณุโลกผู้สมัครก็คือ สมาชิกทีมงาน สส. ของพรรคก้าวไกลเองนั่นแหละ
แต่ทุกจังหวัดคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล ก็ไม่สามารถเอาชนะนักการเมือง ท้องถิ่นที่บ้านใหญ่ให้การสนับสนุนได้
การเลือกตั้ง นายก อบจ. ราชบุรี เป็นครั้งแรกที่พรรคก้าวไกล ส่งผู้สมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการ เมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบ ก็เปลี่ยนชื่อเป็นผู้สมัครในนามพรรคประชาชน เป็นการเลือกตั้งที่ธนาธร หวังไว้มากว่าจะ ‘ปักธงคว้าชัยชนะ’ ได้เป็นครั้งแรก
แกนนำระดับหัวหน้าพรรค ในอดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัช ตุลาธน, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรค รวมทั้ง สส. ขวัญใจมหาชนอย่าง ศิริกัญญา ตันสกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ยกทัพลงพื้นที่ เดินเคาะประตูบ้านขอคะแนนให้ชัยรัตน์ อย่างต่อเนื่อง
เป็นการทุ่มสุดตัวของพรรคก้าวไกล / ประชาชน ยิ่งกว่าการเลือกตั้ง ท้องถิ่นครั้งไหนๆ
แต่เมื่อถึงวันพิพากษา เสียงส่วนใหญ่ของคนราชบุรี ‘เท’ ไปให้กับกำนันตุ้ย ทิ้งผู้สมัครพรรคประชาชนไม่เห็นฝุ่น
ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาชน ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวของนักการเมืองบ้านใหญ่ และพรรคการเมืองระดับชาติที่ถูกคนของพรรคก้าวไกล ตราหน้าว่า เป็นไดโนสาร์ เป็นกลุ่มอำนาจเก่า ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ของนักการเมืองในสังกัดบ้านใหญ่หลาย ๆ จังหวัด ทำให้พวกเขาสรุปบทเรียน ปรับตัวสู้กับพรรคก้าวไกล / ประชาชน
ชัยชนะในสนามเลือกตั้ง อบจ. ที่ผ่านมาจนถึงล่าสุดที่ราชบุรีคือ ข้อพิสูจน์ว่าพวกเขาเริ่มรู้แล้วว่า จะสู้กับพรรคประชาชนอย่างไร
แต่ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาชนที่สำคัญคือ **‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’**ในพรรค ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคประชาชนที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดมาจากคณะนำ หรือโปลิตบูโร ที่ประกอบด้วยธนาธร และสหายร่วมอุดมการณ์จากสำนักพิมพ์ ‘ฟ้าเดียวกัน’
เป็นอุดมการณ์ที้ต้องการ พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน สวนทางกับความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัด
ชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2562 เป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ชัยชนะแบบถล่มทลาย 270 เสียง เป็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น คือ ความเป็นจริงในปัจจุบัน
การเลือกตั้งซ่อม สส. พิษณุโลก เขต 1 แทน ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ หรือ หมออ๋อง ในวันที่ 15 กันยายน ที่เป็นการแข่งขันกันระหว่าง ‘ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์’ เด็กของหมออ๋อง แห่งพรรคประชาชน กับ ‘จเด็ศ จันทรา’ จากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชนจะแพ้ไม่ได้เลย เพราะเป็นพื้นที่ของหมออ๋อง ที่ชนะมา 2 สมัยติดต่อกัน
ถ้าครั้งนี้แพ้ก็แสดงว่า พรรคประชาชนชนกำลังถึงจุดเสื่อม อยู่ในช่วงขาลงแล้ว เป็นส้มเอามือบีบเบาๆ จะนิ่ม เปลือกมีสีน้าตาล มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ อันเป็นอาการของส้มเสีย ที่กำลังจะเน่า