หยุดยุทธการเผาแบงก์ SCBX ปิดโรบินฮู้ด

26 มิ.ย. 2567 - 10:14

  • โรบินฮู้ด แพลตฟอร์มสั่งอาหารกำลังจะปิดตัวลง

  • บริษัทฯ ให้เหตุผล ภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอหยุดแค่นี้

  • ผลประกอบการของโรบินฮู้ดขาดทุนกว่า 5,000 ล้านบาท

robinhood-food-application-delivery-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นความล้มเหลวอีกครั้งของ ‘ยานแม่’ SCBX ในความพยายาม transform ตัวเองจาก ธนาคาร ธุรกิจการเงินเป็นฃบริษัทเทคโนโลยี

ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับ AIS ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท AISCB ให้บริการการเงินดิจิทัล ที่มีการแถลงข่าวเซ็นสัญญาร่วมทุน เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 ผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้ว ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ  เท่ากับโครงการถูกล้มเลิกอย่างเงียบ ๆ ไปโดยปริยาย

ต่อมาคือดีล ‘เทคโอเวอร์ Bitkup’ แพลตฟอร์มซื้อขายดิจิทัลของ ‘จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ ด้วยเงินสูงถึง 17,850 ล้านบาท ตอนต้นเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เรียกเสียงฮือฮาดังลั่นไปทั่ววงการการเงิน และนักลงทุนเงินดิจิทัล   

แต่หลังจากเลื่อนการปิดดีล แบบเลื่อนแล้วเลื่อนอีก SCBX ก็ประกาศล้มการซื้อขาย ในเดือนสิงหาคมปีต่อมา

ล่าสุด คือ การปิดแอปพลิเคชันสั่งอาหาร ‘โรบินฮู้ด’ ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เป็นการตัดสินใจปิดแบบกะทันหัน ไม่มีสัญญาณมาก่อน ลอยแพผู้ใช้นับล้าน ไรเดอร์เป็นหมื่นคน แบบตั้งตัวไม่ติด ราวกับเถ้าแก่ประกาศปิดโรงงานภายใน 24  ชั่วโมง

ในแถลงการณ์เผยแพร่ผ่านสื่อ SCBX ให้เหตุผลในการปิดโรบินฮู้ดไว้อย่างสวยงามว่า เพราะ ภารกิจในการช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤตโควิดได้ยุติลงแล้ว ธุรกิจต่าง ๆ เข้าสู่ภาวะปกติ โรบินฮู้ด จึงตัดสินใจยุติบทบาทลง 

แต่ในหนังสือที่ SCBX ส่งถึงผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ยังมีเหตุผลเพิ่มเติมว่า

‘การยุติการให้บริการดังกล่าว เป็นไปตามกรอบการบริหารเงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน’

ตรงนี้คือ เหตุผลที่แท้จริงในการปิดโรบินฮู้ด เพราะบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ SCBX ถือหุ้น 100 % และเป็นเจ้าของโรบินฮู้ด ผลขาดทุนสะสม 5,500 ล้านบาท ตั้งแต่ให้บริการโรบินฮู้ดในปี 2563 จนถึงปีที่แล้ว

สำหรับคนในวงการอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจดิจิทัล การเลิกกิจการปิดโรบินฮู้ด เป็นเรื่องที่ทุกคนคาดหมายไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นเพราะ **‘เรื่องเล่า’**หรือ story ที่โรบินฮู้ด ใช้สร้างภาพ คือ การช่วยเหลือสังคม ในช่วงโควิด โดยการไม่เก็บค่า GP จากร้านค้า เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชนนั้น  คือ การทุ่มตลาด ใช้กลยุทธ์ราคา ให้บริการฟรี  เป็นเครื่องมือแข่งขันกับ Grab ,Lineman หรือ Panda 

ทำธุรกิจแบบไม่มีรายได้มีแต่ค่าใช้จ่าย ก็เหมือนเผาเงิน เผาแบงก์ทิ้ง รอวันเจ๊งเท่านั้น  คนที่รวยคือผู้บริหารกิจการ วันหนึ่งเจ้าของเงินคือผู้ถือหุ้นก็หมดความอดทน ทุบโต๊ะเลิกกิจการ

เพอร์เพิล เวนเจอรส์ มีทุนจดทะเบียน ประมาณ 8,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาจนถึงปี 2566 มีผลขาดทุนสะส 5,500 ล้านบาท ถ้ารวมกับผลขาดทุนของครึ่งปีแรกของปีนี้ฐานะการเงินถ้าไม่ติตลบ ก็กินทุนจนเกือบจะ ‘หมดหน้าตัก’ แล้ว เป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร SCBX ต้องตัดสินใจว่า  จะไปต่อหรือพอแค่นี้   

ผลก็เป็นอย่างที่รู้กัน คือ ปิดโรบินฮู้ดเพราะเจ๊ง ไม่ใช่ปิดเพราะบรรลุภารกิจช่วยเหลือสังคม

โรบินฮู้ด เป็นไอเดียของ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ อดีตผู้บริหารการตลาดของดีแทค ที่นำไปขายให้ ‘อาทิตย์ นันทวิทยา’ ซีอีโอ SCBX อาทิตย์ฟังแล้วชอบ จึงมอบหมายให้ธนาเป็นผู้รับผิดชอบ ให้เงินทุนมาทำ 

ธนา นั้นตั้งแต่ออกจากดีแทค ก็เปลี่ยนงานหลายที่ แต่ละแห่งอยู่ไม่นาน ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน แต่มีทักษะการพูด การสื่อสาร ที่ตรงกับจริตของคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะนักธุรกิจที่ต้องการประสบความสำเร็จเร็วๆ จึงยึดอาชีพเป็นวิทยากร  ฝึกอบรม การเล่าเรื่อง ขายฝัน จนมีชื่อเสียง มีลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง

ไอเดียเรื่อง โรบินฮู้ดของธนา ที่อาทิตย์และผู้บริหาร SCBX ฟังแล้วชอบ และทำตามโดยให้ธนารับผิดชอบในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส์ สร้างเครดิตให้เขาเป็นอย่างมากว่าเป็น ‘คีย์แมน’ เบื้องหลัง ความสำเร็จอย่างรวดเร็วของโรบินฮู้ด 

อย่างไรก็ตาม ธนาพูดถึงความสำเร็จของโรบินฮู้ด ในแง่ตัวเลขผู้ใช้งาน ร้านในระบบ ที่เพิ่มขี้น อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน เพราะให้ใช้ฟรี ไม่มีค่า GP  รวมทั้งแผนการยกระดับเป็นซูเปอร์แอป แบบ B to  B  แต่ไม่เคยพูดถึงผลประกอบการ กำไร ขาดทุน เลยแม้แต่ครั้งเดียว 

โรบินฮู้ด ก็คือโมเดลธุรกิจแบบ Start Up คือ มีการลงทุนในเทคโนโลยีทันสมัย ใช้โซเชียลมีเดีย สร้างกระแส สร้างการเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในระยะสั้นๆ จำนวนผู้ใช้ผู้ติดตาม มีความสำคัญมากกว่าผลกำไรขาดทุน เงินหมดก็ไปขอใหม่จากเจ้าของทุน หมดอีกก็ขออีก โดยอ้างว่ากิจการกำลังไปได้ดี แต่ต้องการเงินทุนเพิ่ม ขอไปเรื่อย ๆ จนกว่า เจ้าของทุนจะถอดใจ หรือเริ่มเอะใจว่า เผาเงินทิ้งไปตั้งครึ่งหมื่นล้านแล้ว น่าจะพอ หยุดได้แล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์