ปิดจบภายในวันเดียว เรื่องการกลับมาของ วิษณุ เครืองาม ‘เนติบริกร-คัมแบค’ ในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกได้เข้าพบหารือที่บ้านพักในช่วงสายวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา
จากนั้น มีข่าวสะพัดไล่หลังตามมามากมาย แต่คนในรัฐบาลแม้แต่นายกฯ เศรษฐา ยัง ‘แบ่งรับแบ่งสู้’ ขอให้รอคำสั่งอย่างเป็นทางการ จนเจ้าตัวต้องออกมาเฉลยเองในช่วงบ่ายอ่อนเมื่อวาน ทุกอย่างเลยจบ ไม่ต้องเสียเวลาไป ‘คุ้ยแคะ’ กันต่ออีก
แต่ที่ยังชวนให้สงสัยไม่หาย คือเหตุผลของการมารับตำแหน่งที่ปรึกษาในครั้งนี้ ที่บอกเป็นเรื่องเก่าเรื่องเดิมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ในสำนักเลขาธิการ ครม.ไว้ก่อนพ้นจากรองนายกรัฐมนตรี จะมาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการปรับระบบ ระเบียบงานเอกสารของหน่วยงาน
ฟังดูเหตุผลแค่นี้ไม่น่าจะมีน้ำหนักพอ เพราะบังเอิญเป็นเหตุการณ์คาบเกี่ยวกับที่นายกฯ เศรษฐา ถูก 40 สว.ยื่นถอดถอนต่อศาลรัฐธรรมนูญพอดี และต้องเร่งส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันด้วย ซึ่งหากเป็นจริงอย่างที่ว่าก็นับเป็นการบังเอิญอย่างร้ายกาจ
การมาของมือกฎหมายระดับเนติบริกรหนนี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับคดีในศาลรัฐธรรมนูญของนายกฯ เศรษฐาหรือไม่ก็ตาม แต่ข่าววงในยืนยันว่า ทำให้นายกฯ เศรษฐา รู้สึก ‘ผ่อนคลาย’ และเดินทางไปประชุมที่ฮ่องกง แบบไม่มีอะไรต้อง ‘ห่วงหน้าพะวงหลัง’
ความรู้สึกเหมือนมีพระมาโปรดในช่วงที่ชีวิตกำลังสับสนไร้ทางออก
หลายคนอาจมองภาพอาจารย์วิษณุ เป็น ‘ปลาคนละน้ำ’ กับพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นรองนายกฯ อยู่ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานถึง 9 ปี แต่อย่าลืมว่าก่อนหน้านั้น อาจารย์วิษณุใช้ชีวิตอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จนถึงรองนายกรัฐมนตรี อยู่กับนายกรัฐมนตรีมา 9 คน 13 รัฐบาล และเริ่มเข้าสู่การเมืองครั้งแรกในตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
แม้แต่การกลับมารับโทษของทักษิณ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก็เป็นอาจารย์วิษณุคนนี้ ที่จัดการเรื่องกฎหมายให้ทั้งหมด รวมถึงการขอ **‘พระราชทานอภัยโทษ’**และเข้าไปตรวจดูความเรียบร้อยเรือนจำวันแรกที่ทักษิณถูกนำตัวไปคุมขัง ในฐานะของรองนายกฯ และรับผิดชอบดูแลกระทรวงยุติธรรมอีกตำแหน่งแทน ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ที่ลาออกไป
เพียงเท่านี้ ก็คงจะพอมองเห็นว่า ถึงแม้อาจารย์วิษณุจะเป็นปลาคนละน้ำกับคนในพรรคเพื่อไทย แต่กับเจ้าของพรรคเพื่อไทยนั้น ถือว่ามีความคุ้นเคยอยู่ในระดับที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
ดีไม่ดีการกลับคืนสู่ทำเนียบรัฐบาลหนนี้ของอาจารย์วิษณุ แม้จะ ‘เลี่ยงไม่รับตำแหน่งที่ใหญ่กว่า’ ไม่ว่าจะเก้าอี้เดิมในตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย หรือที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยเลือกมาอยู่ในจุดที่ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมืองก็ตาม
แต่ภาพที่คนเคยมองรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในอดีต ว่าไม่ต่างจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะแวดล้อมไปด้วยรัฐมนตรีที่ล้วนมาจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร วันนี้ก็คงไม่ต่างกัน หากจะพูดว่าเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่รัฐมนตรีล้วนเป็น ‘คนหน้าเดิมๆ’ จากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนั้น
จนมีนักการเมืองบางคนตั้งฉายาให้รัฐบาลชุดนี้ไปบ้างแล้วว่า รัฐบาล ‘ยุทธษิณ’
สุดท้ายการมาของเนติบริกรเที่ยวนี้ วงในบอก ‘ไม่ได้มาเพราะใจสั่ง’ อยากเข้ามาจัดระเบียบในสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ติดค้างตามที่รับปากกับเจ้าหน้าที่ไว้ แต่เป็นเรื่องของการมาตามคำขอ ที่ไม่ใช่แค่คุณขอมา หากเป็นระดับ ‘ผู้ใหญ่ส่งมา’ ให้มาช่วยดูแลงานด้านกฎหมายให้กับรัฐบาล ที่ยังขาด ๆ เกิน ๆ อยู่
ที่สำคัญให้มานั่งเป็น ‘พระอันดับ’ เป็นสัญลักษณ์ให้อีกปีกในฝ่ายเดียวกันได้เห็นว่า ทุกอย่างยังขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้ราบรื่นดีอยู่ อย่าเที่ยว **‘เหาะเหินเกินลงกา’**ให้บ้านเมืองต้องหยุดชะงัก
ส่วนจะอยู่เป็น ‘ยันต์กันผี’ ให้สั้นยาวขนาดไหนต้องดูกันต่อ เพราะจากคำพูดของอาจารย์วิษณุในงานเลี้ยงรุ่น ‘รวมใจ นิติ-มธ.2511’ วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังคงย้ำถึงปัญหาสุขภาพที่จะไม่กลับเข้าสู่การเมืองอีก
เอาเป็นว่า วันนี้อาจารย์วิษณุ คงอิ่มตัวกับทะเลการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มายาวนานถึง 13 ปี และได้ถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งหมดไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด **‘ชีวิตที่เปรียบเหมือนทะเลกับหาดทราย’ ** และเป็นหาดทรายที่ผ่านการถูกน้ำทะเล ‘ซัดจมหาย’ มาครั้งแล้วครั้งแล้วถึง 7 ครั้ง ตลอดชีวิตการรับราชการ
การกลับมารับบทเนติบริกรอีกคำรบของอาจารย์วิษณุวันนี้ จึงไม่ใช่ใจสั่งมา แต่เป็นเรื่องผู้ใหญ่ส่งมาล้วน ๆ และอยู่ในจุดที่เจ้าตัวยากจะกล่าวคำปฏิเสธได้