‘สมโภชน์ อาหุนัย’ เจ้าของอาณาจักรพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ที่กำลังประสบวิบากกรรมแสนสาหัสทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องส่วนตัวอยู่ในเวลานี้ เคยเล่าประวัติส่วนตัวให้สื่อมวลชนฟังว่า เขามีพี่น้อง 3 คน โดยตัวเองเป็นคนกลาง พี่ชายคนโตอายุห่างกัน 1 รอบ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องห่างกัน 9 ปี
พี่น้องทุกคนต่างมีชื่อเล่นกันหมดเลยยกเว้น ‘สมโภชน์’ คนเดียว เจ้าตัวพูดทีเล่นทีจริงว่า เพราะไม่มีชื่อเล่น จึงไม่ชอบทำอะไรเล่น ๆ เป็นคนจริงจังในทุกเรื่องที่ลงมือทำ
สมโภชน์ เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่เชื่อว่าการศึกษาคือเครื่องมือนำทางชีวิต หลังจากเรียนจบจากโรงเรียน ‘เซนต์คาเบรียล’ เขาสอบเข้าเรียนต่อในคณะ‘วิศวกรรมศาสตร์’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรุ่นที่ 69
ทั้งสองสถาบันการศึกษานี้มีส่วนอย่างมากต่อการสร้าง ‘คอนเนคชั่น’ ของเขาในการทำธุรกิจที่เข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองในเวลาต่อมา
หลังจบปริญญาตรี สมโภชน์ เริ่มทำงานในตำแหน่งเซลล์แมน บริษัทล็อกซเล่ย์ ก่อนจะลาออกไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ หรือ MBA ที่มหาวิทยาลัยพิสต์เบิร์ก สหรัฐฯ จบแล้วกลับมาทำงานที่ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ระยะสั้นๆ ก่อนจะเริ่มเบนเข็มมาทำงานในแวดวงตลาดทุนในฐานะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กับ ‘ดับบลิว.ไอ.คาร์’ และ ‘ยูบีเอส’
ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ได้ 3 ปี สมโภชน์ก็ลาออกมาไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการผ่ายวิจัยใน ‘บงล.บุคคลัภย์’ ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นช่วงที่เขาพบรักและแต่งงานกับ ‘บลังก้า ฮวง’ ต่อมาก็ลาออกมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายลงทุนสถาบันต่างประเทศใน‘บริษัทหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด’ ก่อนจะขึ้นมานั่งในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด ในช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540
ดีลครั้งสำคัญในชีวิตการทำงานของสมโภชน์และบลังก้า ฮวง คือการตัดสินใจเปิดเจรจากับ หยวนต้า ไต้หวัน เพื่อเสนอให้เปิดกิจการในไทย โดยการซื้อใบอนุญาตของ ‘บริษัทหลักทรัพย์ คาเธ่ย์ แคปปิตอล’ และก้าวขึ้นมากุมบังเหียนของหยวนต้า ประเทศไทย
อาจเพราะบุคลิกของ สมโภชน์ ที่เป็นคนทำอะไรจริงจัง มีเป้าหมายไว้พุ่งชน ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 3 ปี จากปี 2541ที่หยวนต้ามีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 14 เขาก็สามารถผลักดันให้หยวนต้า ประเทศไทย ผงาดขึ้นมาก็มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุด ยืนอยู่ ‘เบอร์หนึ่ง’ ของตลาดหุ้นไทยได้ในปี 2543
แต่เพราะความห้าวและดุดันชนิดไม่ฟังใคร ทำให้เขาถูกจับตามองจากคนในวงการโบรกเกอร์ในช่วงนั้นว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่เป็นตัวอันตราย เหมือน ‘เอเลี่ยน สปีชีส์’ ที่กำลังเข้ามาท้าทายบัลลังก์ของบรรดาพี่ใหญ่ในวงการที่คร่ำหวอดมานับสิบ ๆ ปี
ในห้วงเวลาที่ สมโภชน์ กำลังโลดแล่นอย่างหวือหวากับ ‘หยวนต้า ประเทศไทย’ก็เป็นจังหวะเวลาเดียวกันกับการเข้ามาของบรรดาโบรกเกอร์จากอีกฝากฝั่ง โดยกลุ่ม ‘กิมเอ็ง’ จากสิงคโปร์ได้รุกเข้ามาซื้อกิจการของ ‘บริษัทหลักทรัพย์นิธิภัทธ’ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ในการขยายตัวสู่ภูมิภาคอาเซียน
ในบันทึกเรื่อง The Growth Story of EA บนเพจของ บลังก้า ฮวง เล่าเหตุการณ์ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ปี 2543 ไว้ว่า แผนการควบรวม หยวนต้ากับกิมเอ็ง เกิดมาจากไอเดียของ สมโภชน์ ที่ต้องการจะรุกขยายธุรกิจหลักทรัพย์ไปในภูมิภาคอาเซียน จึงเสนอให้ หยวนต้า ไต้หวัน เปิดเจรจาเพื่อซื้อกิจการของกลุ่มกิมเอ็ง แต่บทสรุปในตอนท้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม
เธอบรรยายความรู้สึกในขณะนั้นว่า เธอและสมโภชน์เหมือนเป็นตัวละครที่เล่นไปตามบทโดยไม่รู้ตัวว่าถูกหักหลังและเจอกับกลโกงที่สุดแสนเลือดเย็น
เธอเล่าว่า ในตอนแรก Victor Ma ลูกชายคนโตของเจ้าของหยวนต้า ไต้หวัน หลังจากได้ฟังไอเดียของสมโภชน์ที่จะเข้าซื้อกิจการ กลุ่มกิมเอ็งของสิงคโปร์ ก็สนใจและเปิดเจรจากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกิมเอ็ง ที่เป็นลูกสาวของอดีตประธานาธิบดี ลี กวน ยู
ทุกอย่างดูจะไปได้สวย ซึ่งหากดีลการซื้อกิจการของกิมเอ็งสำเร็จ ทางหยวนต้าไต้หวันรับปากกับสมโภชน์ว่าจะให้เขาเป็นผู้ดูแลกิจการทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน แต่ต่อมาในราวเดือนตุลาคม 2543 สำนักงานใหญ่ของหยวนต้า ไต้หวัน กลับส่งประธานคนใหม่ คือ ‘Geng Ping’ มาดำเนินการแทน ทำให้สมโภชน์ และเธอไม่พอใจอย่างมากถึงขนาดยื่นใบลาออก พร้อมกับขอให้ หยวนต้า ไต้หวัน ซื้อหุ้น 15% ของสมโภชน์และเธอในหยวนต้าประเทศไทยคืนตามข้อตกลงในการก่อตั้งหยวนต้าในไทยในตอนแรก
ในราวเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ปรากฏว่าการเจรจาเพื่อควบรวมกิจการระหว่างหยวนต้ากับกิมเอ็งเกิดหยุดชะงัก เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนหุ้น ทางหยวนต้า ไต้หวันขอให้สมโภชน์อยู่ช่วยงานต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จเรียบร้อย และรับปากว่าจะแต่งตั้งให้สมโภชน์เป็นกรรมการในบริษัทใหม่หลังการควบรวมกิจการ พร้อมกับให้เงินลงทุนราว 1 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาซอฟท์แวร์ในการทำแพลตฟอร์มการซื้อขายหุ้น
ปลายเดือนเมษายนปี 2544 ทั้งสองฝ่ายก็บรรลุขอตกลงในการควบรวมกิจการ และกำหนดจะแถลงข่าวในวันที่ 17 พฤษภาคมปีเดียวกัน
แต่แล้ว ฉากสุดท้ายของการควบรวมหยวนต้าควบกิมเอ็ง กลับหักมุมพลิกผันไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
ภายใต้ข้อตกลง หยวนต้า ไต้หวัน กลับเป็นฝ่ายขายหุ้นทั้งหมด 77% ในหยวนต้าประเทศไทย ให้กับกิมเอ็ง สิงคโปร์ แลกกับหุ้นของ กิมเอ็ง สิงคโปร์ จำนวน 4.6% จากเดิมที่มีอยู่ราว 4.7% ซึ่งจะทำให้หยวนต้าไต้หวัน ถือหุ้นกลุ่มกิมเอ็ง 9.3% กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับสอง
ผลจากข้อตกลงที่เปลี่ยนแปลงไปที่หยวนต้ากลายเป็นฝ่ายขายกิจการในไทยให้กับกิมเอ็ง สิงคโปร์เสียเอง รวมทั้งสมโภชน์มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ไปต่อหลังดีลจบ ทำให้สมโภชน์ถึงกับ ‘ฟิวส์ขาด’ และบินด่วนไปไต้หวันอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อขอให้ Victor Ma ซื้อคืนหุ้นของหยวนต้า ประเทศไทย ที่สมโภชน์และเธอถืออยู่ราว 15% พร้อมกับยื่นใบลาออกอย่างเป็นทางการ
ในระหว่างที่สมโภชน์ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เหมือนโดนหักหลังจากการเจรจาควบรวมระหว่างหยวนต้ากับกิมเอ็ง เขากลับต้องเผชิญศึกอีกด้านที่ถูกรุกเข้าใส่แบบไม่ทันตั้งหลัก เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกสมโภชน์ไปพบในช่วงเย็นของวันที่ 16 พฤษภาคม ก่อนหน้าการประกาศควบรวมกิจการระหว่างกิมเอ็งและหยวนต้าเพียงวันเดียว
ตลาดหลักทรัพย์ แจ้งว่าพบหลักฐานของการร่วมกัน ‘ปั่นหุ้น’ ไทยธนาคาร ของ หยวนต้า สาขาหาดใหญ่ และสั่งระงับการดำเนินงานของหยวนต้า ประเทศไทยทันที ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2544
ทั้งสมโภชน์ และบลังก้า ฮวง เชื่อว่า ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ต้องการจะจัดการกับ สมโภชน์ ที่เป็นเหมือน ‘แกะดำ’ ในสายตาของบรรดากรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯในเวลานั้น ที่ส่วนใหญ่มาจากตัวแทนของโบรกเกอร์ ‘เจ้าที่’ รายอื่นๆ ที่ไม่พอใจบทบาทของ หยวนต้า ที่เข้ามาแย่งตลาดนักลงทุนด้วยกลยุทธ์การตัดราคาค่าคอมมิชชั่น และการให้คำแนะนำการลงทุนในลักษณะหวือหวา จนอาจจะเหมือนเข้าข่ายการปั่นราคาหุ้น
ตอนนั้นสถานการณ์ค่อนข้างวุ่นวาย นอกจากต้องเคลียร์ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง โดยยื่นอุทธรณ์กับตลาดหลักทรัพย์ ฯ แล้ว ยังต้องสะสางปัญหาภายในหยวนต้าให้จบก่อนจะถึงวันที่จะมีการแถลงข่าวดีลการควบรวมกิจการระหว่างหยวนต้ากับกิมเอ็ง
ในใจลึก ๆ ของทั้ง บลังก้า ฮวง และ สมโภชน์ เองเริ่มตระหนักว่า เส้นทางในวงการค้าหลักทรัพย์ของทั้งคู่อาจจะต้อง ‘ปิดฉาก’ ลงในเวลาอีกไม่นาน
บลังก้า ฮวง เล่าว่า ฝ่ายจัดการของหยวนต้าไต้หวัน อ้างว่าพวกเขาถูกกดดันอย่างหนักจากกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯในฝั่งโบรกเกอร์ ที่ไม่พอใจกับบทบาทที่ค่อนข้าง ‘ก้าวร้าว’ ของสมโภชน์ โดยเฉพาะการเปิดสงครามด้านการตลาดกับบรรดาโบรกเกอร์รายอื่นๆ จนทำให้ตลาดเกิดความปั่นป่วนไปทั้งวงการ
ในบันทึก บลังก้า ฮวง เปิดเผยว่าอาจจะเป็นเพราะอาการ ‘สำลักความสำเร็จ’ และแรงกดดันที่ต้องการเป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจ ทำให้สมโภชน์เริ่มไม่เกรงใจและรับฟังคำทักท้วงของใครแม้แต่ตัวเธอเอง จนทำให้ชีวิตแต่งงานของเธอและสมโภชน์ในช่วงนั้นเริ่มมีปัญหา แต่เธอก็พยายามประคับประคองไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม เนื่องจากเพิ่งคลอดลูกสาวคนที่สองในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน
ตอนนั้น ทางเลือกของสมโภชน์ เหลือเพียงการลาออกเองหรือถูกไล่ออก โดยหลังจากมีการเจรจาหว่านล้อมกันอยู่นานหลายวัน ในที่สุดในวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 หยวนต้าประเทศไทย ก็ได้แจ้งข่าวกับสื่อมวลชนถึงการลาออกของสมโภชน์ทำให้เส้นทางเดินในหยวนต้าของ สมโภชน์และเธอก็ต้องปิดฉากลงอย่างเจ็บปวด
ขณะที่กลุ่มกิมเอ็ง สิงคโปร์ กลับกลายเป็นผู้ชนะในเกมการควบรวมกิจการ เมื่อบรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการหลักทรัพย์ของ หยวนต้าไต้หวันในประเทศไทยในปีนั้น และถือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่าง Kimeng Holdings และ Yuanta Financial Holdings แห่งไต้หวัน ในแผนยุทธ์ศาสตร์ขยายธุรกิจให้กว้างขึ้นทั่วเอเชีย
สำหรับตลาดหุ้นไทย หลังการซื้อกิจการหยวนต้าแล้ว กิมเอ็งก็ก้าวขึ้นสู่การเป็นโบรกเกอร์อันดับหนึ่งในทันทีตั้งแต่นั้นมา
ถึงแม้จะต้องปิดฉากในวงการค้าหุ้น โดยผ่านประสบการณ์ชนิด ‘โชกเลือด’ เป็นแผลเหวะหวะ และพกความแค้นไว้เต็มอก แต่สมโภชน์ก็ดูจะยังคงไม่สูญเสียกำลังใจ
ระหว่างที่ต้องเก็บตัว ‘เลียแผล’ สมโภชน์ ก็อาศัยประสบการณ์ในการวิเคราะห์หุ้น ผันตัวเองมาเป็นนักลงทุน เข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัทที่น่าสนใจ และเริ่มใช้ ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’ในการเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ระดับบิ๊ก ๆ ในแวดวงธุรกิจและการเมือง เพื่อหาลู่ทางในธุรกิจใหม่ๆ คือเรื่องพลังงานทดแทนที่เขาเชื่อว่ามีอนาคต
จนนำไปสู่จุดกำเนิด ของ E@ ‘พลังงานบริสุทธิ์’ ในเวลาต่อมา...
(โปรดติดตามตอนต่อไป : รักร้าว หลังมรสุมหยวนต้า)