เรื่องเล่าทัพภาค 4 กับมือที่มองเห็น…แต่ขัดไม่ได้

19 พ.ค. 2568 - 04:57

  • วิกฤติไฟใต้รอบใหม่ว่าด้วยเรื่องเล่าพร้อมกับคำถามคาใจที่ยังเป็นปริศนา

  • กำลังพลและงบประมาณจำนวนมากที่จัดสรรปันส่วนในแต่ละพื้นที่หายไปไหน

  • การทำงานและแก้ปัญหาความไม่สงบที่ยังไม่สงบได้จริง ยังเกิดเหตุต่อเนื่องในพื้นที่ จชต.

สดุดีวีรชนไปอีกหนึ่งนาย สำหรับการพลีชีพของ ‘ผู้กองเหน่ง‘ ร.ต.อ.พนากร อินทา รองสารวัตรสอบสวน สภ.กะพ้อ จังหวัดปัตตานี จากเหตุถูกคนร้ายวางระเบิด ขณะเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุโจรกรรมรถจักรยานยนต์ 


‘ผู้กองเหน่ง’ เป็นอีกหนึ่งเจ้าหน้าที่ ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องบันทึกไว้ของปี 2568 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของหลายฝ่ายให้รัฐบาลเปิดโต๊ะเจรจากับ BRN เพื่อลดความสูญเสีย จากการก่อเหตุถี่ยิบในช่วงเวลาดังกล่าว 


ถ้าลองรวบรวมแบบเร็วๆ ถึงเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเหตุไม่ใหญ่มาก แต่เกิดแบบกระจายและพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายเปราะบาง ทั้งชาวบ้าน และกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ใช่หน่วยรบ หรือหน่วยทางยุทธวิธี  


อย่างวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุลอบวางระเบิดและโจมตีหลายจุดในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป้าหมาย คือ พื้นที่เศรษฐกิจ และฐานที่มั่นของกองสมาชิกอาสารักษาดินแดน ซึ่งมี อาสาสมัครทหารพราน เสียชีวิต 1 นาย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต 2 ราย 


วันที่ 11 มีนาคม 2568 คนร้ายใช้พลแม่นปืน ลอบยิงนายทหารเสียชีวิต 1 นาย บริเวณหน้าฐานปฏิบัติการ ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา 


วันที่ 22 เมษายน 2568 กราดยิงรถบรรทุกพระและสามเณร ขณะออกไปบิณฑบาตที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา สามเณรมรณภาพ 1 รูป   


วันที่ 28 เมษายน 2568 เหตุวางระเบิด รถยนต์ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งไม่ใช้ชุดปฏิบัติการ หรือ ชุดลาดตระเวนทางยุทธวิธี แต่เป็นกำลังพลที่เดินทางกลับจากตรวจสุขภาพ ที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย 

วันเดียวกัน ดักซุ่มยิงอาสาสมัครรักษาดินแดน ที่เดินทางกลับบ้านเพียงลำพัง เสียชีวิต 2 นาย


วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 กราดยิงชาวบ้านเสียชีวิตที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิต 3 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 9 ขวบ และเหตุยิงหญิงชราตาบอดเสียชีวิต ขณะจะไปหาหมอ ส่วนลูกชายพิการทางสมองบาดเจ็บสาหัส 


ล่าสุด 16 พฤษภาคม 2568 เกิดเหตุวางระเบิดรถยนต์ตำรวจภูธร สภ.กะพ้อ บริเวณถนนเข้าหมู่บ้านที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ร้อยเวรเสียชีวิต 1 ราย เคสนี้เป็นรถร้อยเวรสอบสวน ซึ่งไม่ใช่ชุดปฏิบัติการหลักของตำรวจภูธรเช่นกัน 


การก่อเหตุที่กระจายไปทุกพื้นที่ และเป็นเหตุขนาดเล็ก เน้นเป้าหมายที่กลุ่มเปราะบาง ด้านหนึ่งแม้นักวิเคราะห์หลายราย รวมทั้งนักการเมืองบางพรรค จะพยายามโยงว่า มาจากสาเหตุที่ BRN กดดันให้รัฐบาลกลับมาเจรจาสันติภาพอีกครั้ง 


แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมเริ่มตั้งคำถามว่า เหตุใด?…คนร้ายถึงมีอิสระในการเคลื่อนไหวอย่างอิสระในการก่อเหตุ และหลังเกิดเหตุ ไม่มีชาวบ้านในพื้นที่กล้าให้เบาะแส หรือแจ้งข่าวคนร้ายให้กับเจ้าหน้าที่

 

เหตุลอบวางระเบิดรถยนต์พนักงานสอบสวนล่าสุด แม้จะเกิดเหตุบนถนนสายรอง แต่การวางระเบิดไม่ซับซ้อน เพราะเป็นการลอบวางระเบิดภายในท่อลอดถนน ส่วนจุดที่เกิดเหตุก็เป็นถนนเข้าหมู่บ้าน ซี่งไม่ไกลจากชุมชนมากนัก

 

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการก่อเหตุโจรกรรมรถจักรยานยนต์ เพื่อลวงให้พนักงานสอบสวนเข้าพื้นที่ และกดระเบิดทันทีที่รถยนต์เข้าพื้นที่สังหาร หรือ Killing Zone

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในพื้นที่ ตั้งคำถามว่า การก่อเหตุที่ต้องใช้เวลานำระเบิดไปวาง วางแผนโจรกรรมรถจักรยานยนต์ และโทรศัพท์ไปแจ้งความ เพื่อลวงพนักงานสอบสวนออกมา ทำไมไม่มีใครรู้? ทำไมการข่าวไม่มีเบาะแสมาก่อน? และทำไมหลังเกิดเหตุไม่มีใครให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่?

 

‘ชุดการข่าว’ จำนวนมากที่กระจายอยู่ในพื้นที่ ตามงบประมาณที่ตั้งเบิกหายไปไหน…? 

มวลชนที่เป็นคนของรัฐ ตามงบประมาณที่ตั้งเบิก หายไปไหน…?

งบประมาณโครงการต่างๆ ที่หวังผลในการสร้างความเข้าใจ สร้างงานมวลชนในพื้นที่ มีดัชนีชี้วัดที่ได้ผลจริงหรือ…? 

ถ้าได้ผล…ทำไม? การก่อเหตุในระยะหลัง ถึงมีทั้งอิสระ ทั้งขาดข้อมูลด้านการข่าว ขาดการแจ้งเบาะแสคนร้าย 

นอกจากนั้น กำลังพลในพื้นที่ที่มีจำนวนมาก ทำไมไม่สามารถวางกำลังกระจายครอบคลุมพื้นที่ และป้องกันเป้าหมายเปราะบางได้

 

จากข้อมูลกำลังพลประจำถิ่นในพื้นที่ นอกเหนือกำลังเสริมกำลังและกำลังหลัก ยังมีกำลังพลประจำถิ่น ทั้งสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกำลังอาสาสมัครทหารพราน รวมกันกว่า 2 หมื่นนาย

 

เป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน 11,489 นาย

อาสาสมัครทหารพราน 13,868 อัตรา

รวม 25,357 อัตรา

 

สมาชิกอาสาสมัครรักษาดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ล่าสุดปี 2568 ทั้ง 11,489 นาย แบ่งเป็น สมาชิก อส. ที่ปฏิบัติงานในภารกิจปกติของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 4,564 อัตรา

สมาชิก อส.ที่ปฏิบัติงานในภารกิจด้านความมั่นคง จำนวน 6,925 อัตรา เป็นกำลังที่ขึ้นต่อการควบคุมทางยุทธการกับหน่วยทหารในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงเป็นการเฉพาะ ตามที่ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า มอบหมาย

 

ทั้ง 6,925 อัตรา ประกอบด้วย

สมาชิก อส.ชุดคุ้มครองตำบล 164 ตำบล ตำบลละ 33 อัตรา รวม 5,412 อัตรา

สมาชิก อส. ชุดรักษาความปลอดภัยเขตเมือง 5 เมือง ๆ ละ 210 อัตรา รวม 1,050 อัตรา ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอเมืองยะลา อำเภอเบตง อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอสุไหงโก-ลก

สมาชิก อส.ชุดรักษาความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ จำนวน 224 อัตรา 

สมาชิก อส.ประจำกองบังคับการควบคุมกองอาสารักษาดินแดน (บก.ควบคุม อส.จชต.) จำนวน 239 อัตรา


นอกจากนี้ ยังมีกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ อัพเดทล่าสุด 9 กรมทหารพราน หรือ จำนวน 144 กองร้อยทหารพราน 9 หมวดทหารพรานหญิง จำนวน 13,868 อัตรา ประกอบด้วย

 

กรมทหารพรานที่ 41 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

กรมทหารพรานที่ 42 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

กรมทหารพรานที่ 43 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

กรมทหารพรานที่ 44 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

กรมทหารพรานที่ 45 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

กรมทหารพรานที่ 46 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

กรมทหารพรานที่ 47 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

กรมทหารพรานที่ 48 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

กรมทหารพรานที่ 49 จำนวน 16 กองร้อย 1 หมวดทหารพรานหญิง

 

กำลังประจำถิ่น ทั้งสมาชิกอาสารักษาดินแดน และ อาสาสมัครทหารพรานรวมกันกว่า 2 หมื่นนาย พร้อมงบประมาณด้านการข่าว งบประมาณด้านการสร้างมวลชน จึงถูกตั้งคำถามว่า ทำไมหูตา ของภาครัฐ ถึงไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะมีเบาะแสหรือมีข่าวล่วงหน้า ข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ที่จะทำให้สกัดการก่อเหตุ หรือติดตามผู้ก่อเหตุ

 

งบประมาณกว่า 5 พันล้านบาทในแต่ละปี…ถูกใช้อย่างเหมาะสม และตรงเป้าหมายหรือไม่…? 

ปัญหาใหญ่ของกองทัพภาคที่ 4 วันนี้ คือ มีคำถามจากหลายฝ่ายว่า ‘แม่ทัพภาคที่ 4‘ มีอำนาจในการบริหารงบประมาณ และจัดวางกำลังพล…แค่ไหน?

 

มีคำถามว่า การจัดทำบัญชีโยกย้าย ที่มีระบบการวางทายาทเพื่อสืบทอดตำแหน่งในหน่วยกำลังหลัก หน่วยที่ต้องบริหารกำลังพล บริหารงบประมาณ แม่ทัพมีอิสระในการจัดวางขนาดไหน

 

มือที่สามที่แม้จะมองเห็น แต่ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งมีคำร่ำลือว่า สอดแทรกเข้าไปแทรกแซงการโยกย้าย สอดแทรกเข้าไปร่วมจัดการบริหารงบประมาณ คือ ใคร…? ทำไมยังมีอำนาจที่ทำได้

 

มีเรื่องเล่าขานกันมา จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะเป็นเรื่องเล่าที่ไม่น่าเชื่อถือว่า ก่อนฤดูโยกย้ายแต่ละปี บางตำแหน่งทำไมต้องมีการลงเรือ ทำไมต้องลงทะเล ทำไมต้องไปบ้านผู้ใหญ่บางราย ทั้งที่แต่ละราย ก็น่าจะหมดอำนาจหรือเกษียณอายุราชการไปนานแล้ว

 

ทั้งหมด…แม้ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง และไม่น่าจะมีน้ำหนัก 

แต่ก็มีคำถามว่า ในเมื่อไม่จริง…ทำไมผลลัพธ์ของการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงใกล้เคียงกับเรื่องเล่าที่ไม่มีน้ำหนัก เรื่องเล่าที่ไม่น่าจะจริงเหล่านั้น

 

มือที่มองเห็น…แต่ขวางไม่ได้ ในกองทัพภาคที่ 4 มีจริงหรือไม่? หรือเป็นแค่เรื่องเล่าเม้าท์กันสนุกปาก… 

แต่ว่าใคร…จะเป็นคนตอบคำถามนี้ได้กันนะ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์