อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซระดับโลก เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อ9 ปีที่แล้ว ตามคำชักชวนของรัฐบาล คสช. ในตอนนั้นที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องการสร้างจุดขายใหม่ของประเทศไทย คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี ให้สิทธิประโยชน์ ลดแลกแจกแถมแบบไม่อั้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประแทศ
อาลีบาบา ลงทุนตั้งคลังสินค้าขนาดใหญ่ในอีอีซี ตามมาด้วยการซื้อ Lazada แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ช ที่เข้ามาในประเทศไทยก่อนหน้านั้น
หลังจากนั้นไม่นาน Shopee ของ Tencent ก็ตามเข้ามา
ตอนนั้นมีคำเตือนจากบรรดากูรูด้านอีคอมเมิร์ซทั้งหลายว่า การเข้ามาของยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีนทั้ง 2 ราย จะทำให้สินค้าจีนท่วมตลาดไทย และ ‘ทำลาย’ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทย
คำเตือนอีกเรื่องหนึ่งคือ ร้านค้าคนไทยที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องปรับตัว สร้าง
แบรนด์ของตัวเองขึ้นมา จะทำมาหากินด้วยการซื้อของถูกจากจีน มาขายต่อให้คนไทยตลอดไปไม่ได้ เพราะอีกไม่ช้า แพลตฟอร์มสายตรงจากโรงงานถึงผู้บริโภค จะเข้ามาตัดวงจรคนกลางออกไป
วันนี้คำเตือนกลายเป็นความจริงที่เกิดขึ้น คือการเข้ามาของแอป TEMU
Lazda กับ Shopee เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ร้านค้า ไปตั้งแผงขายสินค้าให้ผู้บริโภค เหมือนตลาดมีผู้ค้าจำนวนมาก
TEMU กับ SHEIN ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ เป็นตลาดเหมือนกันแต่มีผู้ค้ารายเดียวคือ เจ้าของตลาด ขายสินค้าให้ผู้บริโภค โดย ‘ตัดคนกลาง’ คือร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มออกไป
บน TEMU ไม่มีผู้ขาย ไม่มีร้านค้า คนซื้อกับ TEMU โดยตรงเหมือนซื้อกับโรงงาน จึงมีราคาถูกมากจนอดใจไม่ไหว เพราะอย่างที่รู้กันต้นทุนการผลิตของจีนต่ำมาก เนื่องจากมี Volume มหาศาล สินค้าบน Temu หลาย ๆ อย่าง เป็นของเลหลังจากโรงงาน ที่ยอมขายถูก ๆ เพื่อเอาเงินสดไว้ ดีกว่าแบกสต็อก
แพลตฟอร์มจากโรงงานถึงผู้บริโภค อย่างTEMU ดีต่อขาช้อป แต่ทำลายผู้ค้าอีคอมเมิร์ซไทย และ ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปถึงโรงงานผู้ผลิตด้วย จากเดิมที่โรงงานผลิตสินค้าพลาสติกเครื่องเขียน เครื่องประดับ เสื้อผ้า ใช้วิธีเปิดหน้าร้านของตัวเอง หรือเป็นซัพพลายเออร์ให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์ม Lazada หรือShopee
พอมาเจอ TEMU ต้องปิดโรงงานสถานเดียว เพราะ TEMUยกโรงงานมาเองเลย
TEMU กำลังเป็นภัยคุกคามต่อผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของไทย รวมไปถึงโรงงาน ผู้ผลิต ถึงขั้นจะ ‘สูญพันธุ์’ เลยทีเดียว
เหมือนปลาหมอสีคางดำ ถูกปล่อยลงไปในแม่น้ำ ลำคลองอย่างไรอย่างนั้น อะไรจะเกิดขึ้น
สินค้าออนไลน์ที่นำเข้ามาจากจีน ส่วนใหญ่ราคาไม่สูง ไม่ต้องเสียภาษีตามข้อตกลงของ องค์การค้าโลก นอกจากนั้นยังไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในขณะที่สินค้าในประเทศต้องเสียจึงยิ่งทำให้สินค้าจีนได้เปรียบเรื่องราคามากขึ้นไปอีก
ล่าสุดกระทรวงการคลัง ออกกฎกระทรวง เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้เท่านั้น เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ผลิต ผู้ค้าที่เป็นคนไทย
พัฒนาการของแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ เป็นเรื่องยากจะปิดประตูตาย ห้ามไม่ให้มีในประเทศไทย ทำได้แค่การสร้างเงื่อนไข สร้างกำแพงที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อสกัดกั้น หรือเพิ่มต้นทุน ค่าใช้จ่าย เช่น พิธีการทางศุลกากร การตรวจสอบสินค้าเหล่านั้น ว่า มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยในการใช้งานหรือไม่ หรือเป็นสินคค้าต้องห้าม เช่น เซ็กซ์ทอย ปืนปลอม หรืออาวุธเทียม การระบุแหล่งที่มาของสินค้า
ที่ผ่านมาประเทศจีนก็ใช้ ‘non tariff barriers’ แบบนี้ กับสินค้าไทย เช่น ทุเรียนที่ถูกตีกลับ เพราะไม่ผ่านมาตรฐาน สินค้าอาหารที่ถูกตรวจพบว่า มีสารปนเปื้อน เป็นต้น เป็นวิธีปกติ ที่ใช้กันทั่วโลก
ประเทศไทยมีกฎหมายในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ไม่ถูกนำมาใช้กับสินค้าจีน ในขณะที่สินค้าที่นำเข้าผ่านแพลตฟอร์ม Amazon หรือ ebay ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร ตรวจสอบแหล่งที่มา แต่สินค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มจีน ส่งตรงถึงหน้าบ้าน ไม่ระบุแหล่งที่มาว่า มาจากไหน มีมาตรฐาน มอก. หรือไม่ เป็นสินค้าปลอม ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเปล่า
ล่าสุด ที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดย**‘บังคับ’** ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น และสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และซัพพลายเชน ไทยมีความเข้มแข็ง และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
เป็นข้อเสนอเดิมที่ทำได้ทันที เพราะมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่เคยบังคับใช้อย่างจริงจัง ไม่รู้ว่าจะกลัว และเกรงใจจีนกันไปถึงไหน