นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แค่เกมเล่นกับกระแส

7 มิ.ย. 2567 - 08:55

  • เส้นทางเดินของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาถึงจะสุดทางแล้ว

  • แต่มีเหตุการณ์พลิก เมื่อทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้องคดีมาตรา 112

  • จุดยืนแยกปลา แยกน้ำ ที่วางไว้ต้องเปลี่ยนไป

thailand-politics-amnesty-SPACEBAR-Hero.jpg

ความตั้งใจที่จะให้เป็นคณะทำงานชุดสุดท้าย ที่ศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาเกือบจะถึงปลายทางแล้ว

หลังการประชุมล่าสุดเมื่อวาน ‘นิกร จำนง’ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ออกมาสรุปมติที่ประชุมว่า ‘เห็นชอบ’ เรื่องกรอบเวลานิรโทษกรรม ช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน พร้อมให้กำหนดนิยาม แรงจูงใจทางการเมือง ไว้ว่า 

‘หมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง’

แต่เมื่อถามถึงขอบเขตขัณฑสีมาของการนิรโทษกรรม จะครอบคลุมถึงคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ต้องประชุมอีก 2-3 ครั้ง คงจะพิจารณาได้ เพราะขณะนี้มีหลายคดีที่ต้องมาคิดกันว่าจะนิรโทษอะไรบ้างอย่างไร 

‘ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา ต้องดูกรอบอื่นมาก่อน แต่หากจะนิรโทษกรรมมาตรา112จะต้องครอบคลุมทุกคดีใช่หรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่ว่าจะเจอมาอย่างไร เพราะตอนนี้รวมอยู่ในกรอบการศึกษาทั้งหมด’

คดีมาตรา 112 เดิมได้ ‘ตกผลึก’ ร่วมกันไปแล้ว จะไม่นำมาพิจารณาไปด้วยพร้อมกันในคราวเดียว เพราะมีทั้งรายละเอียดและมีความละเอียดอ่อน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า จึงใช้วิธีแบบ ‘แยกปลาแยกน้ำ’ นิรโทษกรรมให้คนส่วนใหญ่ได้ขึ้นบกไปก่อน

ส่วนความผิดคดีมาตรา 112 ค่อยมาหาช่องทางอื่นดูแลกันต่อไป

แต่เมื่อมีปรากฎการณ์อัยการสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายใหญ่เพื่อไทย ทำให้ฉากการศึกษาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะข้อเสนอจากคนในพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้ ‘รวมเอาคดีมาตรา 112’  เพิ่มเข้าไปด้วย

ทั้ง ๆ ที่ของเดิมทุกพรรคการเมือง ยกเว้นก้าวไกลเพียงพรรคเดียว ต่างเห็นตรงกันให้การนิรโทษกรรมอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อ คือ 

หนึ่ง ไม่มีเรื่องมาตรา 112

สอง ไม่มีเรื่องความผิดอาญาร้ายแรง

สาม ไม่มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น

ทันทีที่พรรคเพื่อไทย ขยายกรอบออกไป ไม่ต่างจากกฎหมายนิรโทษกรรม ‘ฉบับสุดซอย’ ในอดีต จึงทำให้ศัตรูเก่าของทักษิณออกมาส่งเสียงคัดค้าน โดยกลุ่ม ‘คปท.’ พร้อมกับแนวร่วม ที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล พากันมายื่นหนังสือคัดค้านถึงคณะกรรมาธิการฯ

‘เราเห็นว่า การพยายามผลักดันการนิรโทษกรรมโดยการเหมารวมฐานความผิดเหมือนกรณีที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ยิ่งจะสร้างความแตกแยกครั้งใหม่ในสังคมไทย’

‘พิชิต ไชยมงคล’ ตัวแทน คปท.และแนวร่วม ให้ความเห็นพร้อมฝากข้อเสนอแนะให้คณะกรรมาธิการนำไปพิจารณาดำเนินการ

ขณะที่ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา ‘สมชาย แสวงการ’  แสดงความกังกังวลต่อกรณีเดียวกัน โดยหวั่นจะนำไปสู่วิกฤติการเมืองรอบใหม่ขึ้น และอาจนำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง

‘การที่พรรคเพื่อไทย กำลังจะเสนอเรื่องนี้ โดยร่วมกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ก็ตาม ถือเป็นสัญญาณอันตราย ที่จะทำให้การเมืองร้อนขึ้นมาอีก เป็นสิ่งที่ไม่บังควร ผมฝากเรียนไปยังคณะกรรมาธิการ ที่กำลังพิจารณาในเรื่องนี้ว่า ท่านเดินมาในระดับที่ได้ดีพอสมควรแล้ว อย่าย้อนกลับไปสุดซอยแบบเดิมอีก

ถ้าย้อนกลับไป ผมก็มั่นใจว่าจะเกิดวิกฤติตามมาทันที ผมเชื่อว่าคนไทยมากมายค่อนข้างประเทศ ก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว อย่าฝืนทำเรื่องนี้ต่อไป เพื่อเอาใจนายเลยครับ คุณจะลักหลักตอนไหนก็ตาม ประชาชนรู้ทัน แล้วคงไม่ยอม คุณอาจจะมีเสียงข้างมาก แต่เมื่อทันทีที่กฎหมายออกมาใช้ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีแผ่นดินอยู่กัน’

ความจริงคนในซีกเพื่อไทย ที่ออกมาจุดประเด็นเรื่อง นิรโทษกรรมเต็มสูบ คือ ‘นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์’ ก็อยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนี้มาด้วยตั้งแต่ต้น แต่ในช่วง 90 วันแรกของการทำงาน หมอเชิดชัยไม่เคยเสนอเรื่องนี้มาก่อน เพิ่งจะออกมาส่งเสียงเอาเมื่อไม่กี่วันนี่เอง

โดยหมอเชิดชัย ออกมาในจังหวะเวลาเดียวกับที่ทักษิณ ถูกฟ้องคดีมาตรา 112 ซึ่งในทางการเมืองเป็นที่ทราบกันว่า สุดท้ายแล้วคดีนี้คงไม่ได้เป็นปัญหากับทักษิณ ถึงขั้นต้องมาอาศัยเกาะชายผ้าเหลืองนิรโทษกรรมล้างผิดไปพร้อมกับคนอื่น ๆ ด้วย

สำหรับทักษิณเรื่องนี้มันเป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น

การออกมาเคลื่อนไหวหนนี้ของหมอเชิดชัย หลังได้เลื่อนขึ้นเป็นสส.บัญชีรายชื่อคนล่าสุดของเพื่อไทย จึงเป็นการส่งเสียงไปถึงมวลชนคนเสื้อแดงในฐานะอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง 17 จังหวัดภาคอีสานมากกว่า ขณะเดียวกันยังได้ใจมวลชนเสื้อส้ม หรือแม้แต่สส.พรรคสีส้มหลายคนที่เจอคดีมาตรา 112 ด้วย

หนทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อจากนี้ยัง ‘อีกยาวไกล’ เพราะกว่าจะศึกษาเสร็จนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก็ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม จากนั้น ต้องส่งต่อไปให้ ครม.พิจารณาออกเป็นกฎหมาย ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ยังต้องใช้เวลาอีก ‘นานแสนนาน’

ดีไม่ดีอาจเจอ ‘อาถรรพณ์’ เหมือน 20 ปีก่อน ซึ่งมีการศึกษาเรื่องนี้มาแล้ว 13 ครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป จนทำให้คณะกรรมาธิการชุดนี้นำผลศึกษาทั้ง 13 ฉบับมา ‘ถอดเป็นบทเรียน’ เพื่อหวังให้การศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย โดยได้ปิดช่องโหว่ต่างๆ เอาไว้ทั้งหมด

ที่เห็นได้ชัดคือ ขอแค่ศึกษาเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการยกร่างกฎหมายไปพร้อมกันด้วย

ดังนั้น การออกมาส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวจากคนในพรรคเพื่อไทย เรื่อง ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ จึงไม่ใช่การชักใบให้เรือเสีย แต่เป็นแค่ ‘เล่นกับกระแส’ ความรู้สึกของมวลชนไปพร้อมกันด้วยก็เท่านั้น

เพราะวันนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำเพื่อไทยตัวจริง ออกมาตอกฝาโลงไปแล้วว่า จุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ต้น หากจะคุยกันถึงมาตรา 112 ต้องเป็นฉันทานุมัติของคนในสังคมทั้งหมดเท่านั้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์