‘ทักษิณ’ พ่อนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง

21 ส.ค. 2567 - 12:02

  • จับตาพ่อนายกฯ โชว์วิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจครั้งแรก หลังพ้นโทษ

  • มีอนาคตทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และลูกสาวเป็นเดิมพัน

  • อดีตนายกฯ ทักษิณ อาจเผยไต๋ นโยบาย ศก. หวังสร้างความเชื่อมั่น

thaksin-shinawatra-economic-team-SPACEBAR-Hero.jpg

ค่ำคืนวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ที่ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน คงแน่นขนัดไปด้วยบรรดาแขก VIP ระดับ ‘บิ๊กเนม’ ทั้งคนในแวดวงภาครัฐและเอกชนที่ต้องการไปแสดงตน ขอไปมีส่วนร่วมในโอกาสสำคัญในรอบเกือบ 20 ปีของอดีตนายกฯ ทักษิณ หรือ ‘โทนี วู้ดซัม’ พ่อนายกฯ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ที่จะขึ้นเวที ดินเนอร์ทอล์ค ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ เพื่อประกาศวิสัยทัศน์  Vision for Thailand 2024 

ลองนึกภาพว่าหากอดีตนายกฯ ทักษิณ มีสถานภาพเป็นเพียงอดีตนักโทษที่เพิ่งได้รับ ‘ใบขาว’ เป็นผู้บริสุทธิ์ และกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว อยู่บ้านเลี้ยงหลาน งานนี้คงไม่ได้รับความสนใจ ให้ความสำคัญจากบุคคลที่เป็นชนชั้นนำของสังคมถึงขนาดนี้

แต่การที่ ทักษิณ เป็น พ่อนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ที่เจ้าตัวบอกเองแบบท้าทายและไม่สะทกสะท้าน ว่า ไม่เพียง ‘ครอบงำ’ แต่ถึงขั้น ‘ครอบครอง’ อย่างเป็นทางการ เพราะเป็นลูกสาวที่มี DNA เดียวกัน และยังแสดงบทบาทนำ ทั้งในฐานะผู้จัดการรัฐบาล และถึงขั้นเป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลที่กำลัง ‘ตั้งไข่’ อยู่ในเวลานี้ ทุกคนจึงไม่ยอมพลาดที่จะหาโอกาสเข้าไปกระทบไหล่ขอ ‘ซีน’ เพื่อต่อสายสัมพันธ์เอาไว้อย่างแน่นอน  

งานนี้เชื่อได้ว่าคงเป็นงานใหญ่ ที่เจ้าภาพสื่อใหญ่ค่ายบางนาของ ‘ฉาย บุนนาค’ต้องสั่งทุ่มทุนสร้างจัดเต็มให้ ‘อลังการงานสร้าง’ เพื่อหวังซื้อใจประมุข บ้านจันทร์ส่องหล้า เต็มที่ ถึงแม้อาจจะขัดใจ มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค (วงษ์โอภาสี) จากค่ายสีฟ้าอยู่ไม่น้อยก็ตาม 

งานนี้ยังถือเป็นอีกหนึ่ง โบนัส ของการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของพ่อนายกฯ ที่เจาะจงเลือกขึ้นเวทีเพื่อเปิดตัวกับค่ายบางนา ช่อง 22 ที่เจ้าตัวเคยมีอดีต **‘แค้น’**ฝังใจกันมาหลายสิบปีกับหนึ่งในตำนานสื่อใหญ่ของเมืองไทย 

ไปกว่านั้น คงต้องยอมรับว่าการกลับมาคราวนี้เป็น ‘ไฟต์บังคับ’ ที่มีอนาคตทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และลูกสาวของตัวเองเป็นเดิมพัน ยิ่งทำให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ต้องยอม ‘ทุ่มหมดหน้าตัก’ เพื่อเร่งออกตัวให้ ‘แรงและเร็ว’ ชนิดไม่ยอมเสียเวลาแม้แต่นาทีเดียว เห็นได้ชัดจากการโดดลงไปล้วงลูกเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ดูจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จนเปรียบเสมือนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริงของรัฐบาล ‘อุ๊งอิ๊ง’ ไปแล้ว

ต้องยอมรับว่าจนถึงนาทีนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหามือดีมาช่วยในการเป็นดรีมทีมด้านเศรษฐกิจ และถึงแม้ รมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร จะขอวางมือหรือไม่ อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็คงจะโดดลงมามีบทบาทเต็มที่ในด้านนี้อย่างแน่นอน เพื่อเร่งผลักดันนโยบายต่างให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด

คาดว่าในการปาฐกถาพิเศษ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของ อดีตนายกฯ ทักษิณในครั้งนี้คงจะ โฟกัส เป็นพิเศษกับปัญหาและทิศทางการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ที่นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัก ๆ อย่าง โครงการดิจิตอลวอลเล็ตแล้ว คาดว่า คงจะเน้นความสำคัญกับแนวคิดของการผลักดันธุรกิจสีเทาให้ขึ้นบนดิน เพื่อกลายเป็นฐานรายได้ใหม่ที่จะช่วยในการขยาย GDP ของไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ และโครงการแลนด์บริดจ์ 

ขณะเดียวกันก็จะพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของการเร่งส่งเสริมด้าน ‘Soft Power’ ที่วาดหวังว่าจะเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของ นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ให้โดดเด่นมากขึ้น 

ยอมรับว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาของ รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ ยังไม่มีผลงานอะไรให้น่าประทับใจ แถมนโยบาย ‘เรือธง’ หลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะโครงการดิจิตอลวอลเล็ต ที่มีปัญหาติดขัดหลาย ๆ ด้านจนทำท่าจะเดินต่อไปด้วยความยากลำบาก ทั้ง ๆ ที่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนไปแล้วกว่า 30 ล้านคน  

เมื่อมีจังหวะและโอกาสที่จะได้ ‘รีเซต’ ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งจากมุมมองของ อดีตนายกฯ ทักษิณ เชื่อว่ายังจำเป็นต้องเดินต่อ แต่ต้องยอม ‘เปลี่ยน’ ปกและเนื้อในใหม่อีกรอบ ภายใต้กรอบความคิดว่าต้องเร่งออกมาตรการ ‘แจกเงิน’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็ว โดยรูปแบบอาจจะอิงเทคโนโลยีหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องถูกกฎหมาย และไม่โดนแรงต้านมากจนเกินไป

ทันทีที่โยนโจทย์ที่ชัดเจนดังกล่าวออกไป ก็ดูเหมือนคณะทำงานที่เหมือน ‘ยืนมึนงงอยู่กลางสี่แยก’มาเป็นเวลานานก็เห็น ‘แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์’ ในฉับพลันทันที หลังจากออกอาการไปไม่เป็นมาพักใหญ่ โดยขานรับการปรับเงื่อนไขตามแนวทางของอดีตนายกฯ ทักษิณ

ตามแนวทางใหม่จะมีการปรับแผน พุ่งเป้าไปแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียนไว้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยใช้วงเงินจากงบกลางปี 2567 ที่เพิ่งผ่านสภาฯมาแล้วในวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และยังสามารถดึงจากงบกลางของปี 2567 ได้อีกในกรอบวงเงินราว 4.3 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1.65 แสนล้านบาท 

เม็ดเงินจำนวนดังกล่าวเพียงพอที่จะแจกเงินหมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียน และถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไว้อยู่แล้วที่มีราว 13-14 ล้านคน หรืออาจจะรวมเด็กที่มีอายุ 16-18 ปี เข้าไปด้วยก็ได้ โดยเติมเป็นเงินสดเข้าไปในบัญชี Prompt Pay ที่ผูกไว้กับธนาคารพาณิชย์ได้ทันที 

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดตามเงื่อนไขเดิม คือ มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 7.5 หมื่นบาท และมีเงินในบัญชีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ก็จะได้รับการจัดสรรในรอบต่อไป โดยอาศัยงบประมาณในปี 2568 ที่กำหนดวงเงินเอาไว้สูงถึง 2.85 แสนล้านบาท โดยแยกเป็นงบกลาง 152,700 ล้านบาท และงบจากการบริหารจัดการงบอื่นอีกราว 132,300 ล้านบาท 

รูปแบบในการแจกให้กับกลุ่มที่เหลือ อาจจะไม่แจกเป็นเงินสดโดยตรง แต่อาจแจกในรูปแบบอื่น เพื่อพุ่งเป้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในบางภาคธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว หรือ ภาคการบริโภคในช่วงปลายปี คล้ายกับมาตรการ เที่ยวทั่วไทย หรือ ชอปช่วยชาติ ของ รัฐบาลลุงตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในอดีต

ทั้งหมดคาดว่าจะเริ่มเดินเร็วขึ้นในอัตราเร่ง เพื่อดึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจให้กลับมา หลังจากที่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยตกอยู่ในอาการ ‘ซึมเศร้า’ มาเป็นเวลาแรมปี และ อดีตนายกฯ ทักษิณเองก็ตระหนักดีว่าหากภาคธุรกิจเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้น ก็ย่อมส่งผลทางบวกไปยังตลาดหุ้นไปด้วย 

สำหรับแนวทางในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ คงจะมีการเปิดเผยในงานปาฐกถาพิเศษในค่ำคืนพรุ่งนี้ของ ‘พ่อนายกฯ อุ๊งอิ๊ง’ ที่มีสถานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้อย่างไม่เป็นทางการ จึงเป็นสิ่งที่บรรดาภาคธุรกิจไม่ยอมพลาด และต้องเอียงหู รอฟัง กันอย่างแน่นอน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์