ปรับครม.สองขยัก สร้างความหวังกระชับอำนาจ!!

22 เม.ย. 2568 - 04:22

  • เริ่มมีความเคลื่อนไหวมากขึ้นในการปรับ ครม.อิ๊งค์ 1

  • เป้าหมายขอคืนกระทรวงหลัก กระชับอำนาจ

  • ประเมินพรรคร่วมขาใหญ่ภูมิใจไทย ออกตัวแรงแบบนี้ดีอยู่แล้ว

Two-cabinet-reshuffles-create-hopes-of-consolidating-power-SPACEBAR-Hero.jpg

ในระหว่างการกล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการกองทุนหมู่บ้านต่อนายกรัฐมนตรีของ ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งระบุตำแหน่งของ ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ จาก รมช.คลัง เป็น รมช.มหาดไทย ที่เมืองทองธานี เมื่อวาน (21 เมษายน 2568)

ไม่ว่าจะจงใจหรือ ‘พลั้งเผลอ’ ไปก็ตาม บังเอิญอยู่ในจังหวะหน้าสิ่ว หน้าขวาน ที่กระแสปรับครม.กำลังมาแรงพอดี โดยเฉพาะในส่วนของทีมเศรษฐกิจที่ตกเป็นเป้า ได้เวลาต้องเขียนคิ้ว ทาปาก แต่งองค์ทรงเครื่องกันเสียใหม่

ในขณะที่ ‘เดอะหนิม-จุลพันธ์’ ลูกพ่อเลี้ยง ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ ก็เป็นรมช.คลัง อยู่มาตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่นั่งควบเก้าอี้ขุนคลังด้วย แต่แทบจะนับครั้งได้ที่โผล่เข้าไปกระทรวงการคลัง ดังนั้น ภาระเกือบจะทั้งหมดจึงตกหนักอยู่กับจุลพันธ์

ไม่ว่าจะโครงการแจกเงินหมื่น มาถึงสถานบันเทิงครบวงจร จุลพันธ์รับเหมาไว้เองหมด ไม่ว่าผิดหรือถูก จนหลายครั้งต้องถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘จุลแพะ’ ก็เพราะพูดไว้แล้ว ถึงเวลาทำไม่ได้อย่างที่พูด

ฟังมาว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลอิ๊งค์ 1/1 ต้องรื้อทีมเศรษฐกิจกันใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความหวังให้กับประชาชน ในท่ามกลางมรสุมลูกใหญ่ระดับ ‘ทอร์นาโดเศรษฐกิจ’ ที่กำลังถาโถมเข้าใส่โลกใบนี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย 

แต่เนื่องจากเดอะหนิม ลูกพ่อเลี้ยงสมพงษ์ ที่ถือเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองกับผู้นำจิตวิญญาณของเพื่อไทย และเป็นแม่ทัพคนสำคัญมีภารกิจทวงคืนฐานที่มั่นใน จ.เชียงใหม่ ที่ถูกพรรคส้มยึดไป 7 เขต พลังประชารัฐ 1 เขต กลับคืนมา

ในวันที่ต้องปรับทีมเศรษฐกิจใหม่ และยังต้องรักษาจุลพันธ์เอาไว้ทำงานสำคัญ จึงอาจต้องรุกคืบเข้ามาที่กระทรวงคลองหลอด ในวันที่ยังทวงคืนมาจากพรรคภูมิใจไทยไม่ได้  

ไม่ว่าจะเป็นการแตะมือ เปลี่ยนตัวกับรัฐมนตรี ‘อิ่ม’ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย หนึ่งเดียวของเพื่อไทยใน กทม.และหนึ่งเดียวในกระทรวงมหาดไทย หรืออาจเป็นการเสริมกำลังเพิ่มก็ตาม

การขานชื่อจุลพันธ์ ในตำแหน่งรมช.มหาดไทย ออกมาล่วงหน้า จึงไม่น่าจะเป็นการหลุดหรือแซวกันเล่นๆ เท่านั้น

ในขณะที่นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ยังผลัดผ่อนขอมาตอบคำถามเรื่องปรับ ครม.แบบขอ ‘ไว้พรุ่งนี้’ แทน แต่คนเก๋าเกมอย่าง ‘อาหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รีบชิงวางบิล วางหมาก แถมทวงบุญคุณ ผูกมิตร ล่วงหน้ากันไว้ก่อนเลย 

‘_เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จัดตั้งรัฐบาลมาด้วยกัน พรรคภูมิใจไทย มี สส. 71_ คนเราก็ยกมือสนับสนุนนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาถึง 2 คนแล้ว คือนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ก็เป็นสิ่งที่เรามาร่วมรัฐบาลจนถึงทุกวันนี้ ทำงานร่วมกันก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรตอบสนองข้อสั่งการของนายกฯ ในทุกเรื่อง_’_

‘_โอ้โห ต้องใช้แรงเยอะนะ ไม่น่าจะมีเรื่องพวกนี้ จะเขย่าทำไม ต่างคนต่างทำงาน ไม่เห็นมีปัญหาอะไรในการทำงาน ทำงานร่วมกันมาจะ 2 ปีอยู่แล้ว ทุกคนก็ทำงาน ก็ได้รับเกียรติ และนายกฯ ก็สั่งงานตลอดเวลา เช่นเรื่องตึกสตง._ ถล่ม ก็ติดตามให้กรมโยธาธิการ ของกระทรวงมหาดไทย เร่งหาสาเหตุให้ชัดเจนโดยเร็ว_’_

‘_ถ้าถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสภาฯ พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคแรกที่ออกมาบอกว่าจะปกป้อง และให้ความไว้วางใจ สนับสนุนการทำงานของนายกฯ โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ_’

‘_เราจะไปดูคณิตศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ มันต้องดูเรื่องความผูกพัน ความร่วมมือในการทำงาน และความตั้งใจที่จะร่วมรัฐบาล ถ้าจำได้พรรคภูมิใจไทยถูกเชิญให้ไปร่วมรัฐบาล ในช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2566 เมื่อมีการหารือกันเราก็เห็นว่าน่าจะร่วมกันทำงานได้ดี ก็ร่วมรัฐบาลและยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องปรับเปลี่ยนอะไร_’

 ‘_ยืนยัน ไม่มีคำว่าต่อรองอะไรทั้งสิ้น ถ้าต่อรองก็คงไม่มีอยู่แค่นี้_’

ยกมาให้อ่านกันเต็มๆ เกือบจะทั้งดุ้น ที่ ‘เสี่ยหนู-อนุทิน’ ชิงพูดถึงการปรับครม.เอาไว้เมื่อวาน ที่มีครบทุกรสแบบหวานนิดๆ ซ่อนเปรี้ยวหน่อยๆ  

ดังนั้น อ่านใจ ทักษิณ ชินวัตร พ่อนายกฯ ที่อนุทินบอกกับสื่อว่า เพิ่งชวนไปทานอาหารเย็นมาด้วยในช่วงก่อนสงกรานต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแน่นปึ๊กระหว่างกัน 

การปรับครม.เที่ยวนี้ จึงเป็นขยักแรก แค่เสริมทีมเศรษฐกิจให้ภาพลักษณ์รัฐบาลดูดี มีความหวังในสายตาประชาชนขึ้นมาบ้าง แม้ไม่ถึงขั้น ‘มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี’ ก็ตามที

แถมได้ส่งคนแทรกซึมเข้าไปในกระทรวงคลองหลอดด้วย ถ้าจุลพันธ์ ไปนั่งเก้าอี้ รมช.มหาดไทย อย่างที่ขานตำแหน่งกันไว้ล่วงหน้า

สุดท้าย การปรับครม.ขยักที่สอง อาจจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า นั่นแหละที่เรียกว่า ปรับแบบ ‘กระชับอำนาจ’ ที่เป็นเกมแตกหักก่อนยุบสภาเลือกตั้งใหม่

เพราะเชื่อว่า การเล่นบทตบจูบ หรือขับรถปาดกันไปมาของสองพรรค ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ คงอยู่กันได้ไม่ยืด ท้ายสุดต้องใส่คอนเวิร์ส ทางใครทางมัน ถึงคราวต้องแตกหักกันในที่สุด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์