ผ่า กกล.ทพ.จชต. ‘กองพันปีศาจ‘ รบรุกเร็วหรือไร้ตัวตน

15 พ.ค. 2568 - 04:22

  • เปิดโครงสร้าง กกล.ทหารพรานจังหวัดชายแดนใต้ มีกำลังพลกว่าหมื่นคน งบประมาณปีละกว่า 2,000 ล้านบาท

  • คนคุมกำลังหน่วยนี้ ถือเป็นกำลังสำคัญของแม่ทัพในการขับเคลื่อนดับเหตุความไม่สงบ

  • แม่ทัพภาคที่ 4 เร่งปรับแผน ย้ำต้องไม่เกิดเหตุอีก และคนร้ายต้องไม่มีที่ยืน

EP.ก่อน เขียนถึงการจัดทัพ กองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กกล.ทพ.จชต.ของแม่ทัพภาคที่ 4 ‘พล.ท.ไพศาล หนูสังข์’ ที่เปลี่ยนตัว ผู้บังคับการ หรือ ผบ.กกล.ทพ.จชต จาก พันเอก สฐิรพงษ์ อาจหาญ เสนาธิการกองพลทหารราบที่ 5 มาเป็น พันเอก หาญพล เพชรม่วง ผู้อำนวยการกองข่าว กองทัพภาคที่ 4


EP.นี้ จะขยายให้เห็นถึงความสำคัญของ กกล.ทพ.จชต.และความสำคัญของตำแหน่ง ผบ.กกล.จชต. ว่าทำไม การคัดเลือก ผบ.จะต้องเป็นนายทหารที่แม่ทัพภาคที่ 4 ไว้วางใจ และส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว

 

ตำแหน่ง ผบ.กกล.ทพ.จชต. เป็นอัตราพันเอกพิเศษ หรือ บัญชี น.5 ที่ส่วนใหญ่จะใช้นายทหารในระดับผู้บังคับการกรม หรือเทียบเท่ามาดำรงตำแหน่งนี้

 

ผบ.กกล.จชต.คนล่าสุด พันเอก หาญพล เพชรม่วง ดำรงตำแหน่ง ผอ.กขว.ทภ.4 ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้บังคับการกรม ขณะที่คนก่อนหน้า พันเอก สฐิรพงษ์ อาจหาญ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.กกล.ทพ.จชต. ขณะที่เป็น ผบ.ร.15 และล่าสุดก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ฉก.นราธิวาส ก็ขยับไปเป็นเสธฯพล.ร.15 ซึ่งเป็นอัตรา น.5 เช่นเดียวกัน

 

นายทหารคนสำคัญของกองทัพภาคที่ 4 ที่เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.กกล.จชต. และต่อมายังมีบทบาทในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ คือ พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ (ตท.18) ,แม่ทัพเดฟ พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ (ตท.20) ที่ต่อมาขึ้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 , พล.ท.โภชน์ นวลบุญ (ตท.20) และเสธฯแมกซ์ พล.อ.คมกฤช รัตนฉายา ผบ.กกล.จชต. 

แม้มีอัตราแค่ พันเอกพิเศษ แต่มีอำนาจบังคับบัญชากองกำลังทหารพรานถึง 9 กรม และ 1 หมวดทหารพรานหญิง 

 

กรมทหารพรานทั้ง 9 กรมประกอบด้วย กรมทหารที่ 41 กรมทหารพรานที่ 42 กรมทหารพรานที่ 43 กรมทหารพรานที่ 44 กรมทหารพรานที่ 45 กรมทหารพรานที่ 46 กรมทหารพรานที่ 47 กรมทหารพรานที่ 48 กรมทหารพรานที่ 49 และหมวดทหารพรานหญิง

 

ผู้บังคับการกรมทหารพรานแต่ละกรม อัตราเทียบเท่าผู้บังคับกองพัน แต่มีอัตราพันเอก หรือที่เรียกกันว่า ผู้พันอัตราพันเอก ผู้การแต่ละกรม จะมีบังคับบัญชากำลังทหารพราน กรมละ 15 กองร้อย ประกอบด้วยอัตราเต็มกำลัง กรมละ 1,489 นาย จัดกำลังจากทหารหลัก ประกอบกับอาสาสมัครทหารพราน ซึ่งร้อยละ 80 จะเป็นคนในพื้นที่ 

 

ทหารพราน 9 กรม กรมละ 1,489 นาย หมายถึง กกล.ทพ.จชต. จะมีอัตราเต็มกำลังอยู่ที่ 13,401 นาย บวกกับทหารพรานหญิงอีก 1 หมวด 467 นาย จะทำให้มีอัตรากำลังรวม 13,868 นาย 

กำลังทหารพรานจำนวน 13,868 นาย มีคำตอบแทนขั้นต้นรวมประมาณ 15,000 บาทต่อนาย ซึ่ง ผบ.กกล.ทพ.จชต. จะต้องบริหารงบประมาณกำลังพล ผ่านผู้บังคับการกรมทหารพราน 

 

นั่นหมายถึง ผู้บังคับการกรมแต่ละกรม ต้องบริหารจัดการ งบประมาณค่าตอบแทนกำลังพล กรมละ 1,489 นาย หากประมาณการณ์ เป็นอาสาสมัครทหารพราน เพียง 1,200 อัตรา แต่ละกรมจะมีงบประมาณ ค่าตอบแทนกำลังพล กรมละ 18 ล้านบาทต่อเดือน

ส่วนหมวดทหารพรานหญิง อีก 1 หมวด 468 นาย ทั้ง 468 นาย บรรจุจากอาสาสมัครทหารพรานทั้งหมด จะมีงบประมาณกำลังพลประมาณ 7 ล้านบาท ต่อเดือน

 

ซึ่งหากประมาณการเฉพาะกำลังอาสาสมัครทหารพราน กรมละ 1,200 นาย จำนวน 9 กรม รวม ประมาณ 10,800 นาย รวมทหารพรานหญิงอีก 468 นาย เป็น 11,268 นาย ผบ.กกล.ทพ.จชต. จะบริหารงบประมาณด้านกำลังพล ผ่าน ผบ.กรมทหารพราน 9 กรม และทหารพรานหญิง ถึงเดือนละ 169 ล้านบาท หรือปีละ 2,028 ล้านบาท 

 

ยังไม่นับงบประมาณด้านการข่าว ที่จะต้องมีงบสนับสนุนด้านงานข่าวในพื้นที่อีกกว่า 100 ชุดข่าว

งบประมาณด้านงานมวลชน สำหรับการสร้างมวลชนในพื้นที่ 

งบประมาณด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ได้รับการจัดสรรจากกองทัพ สำหรับแต่ละกรม เพื่อใช้สนับสนุนยานพาหนะของแต่ละหน่วย 

งบประมาณการจัดหาเครื่องมือพิเศษ เพื่อเป็นเครื่องมือทำงานสนับสนุนการปิดล้อมตรวจค้น เช่น โดรน เสื้อเกราะกันกระสุน อาวุธพิเศษ 

 

การบริหารงบประมาณ อย่างน้อยปีละกว่า 2 พันล้านบาท ทำให้ตำแหน่ง ผบ.กกล.ทพ.จชต. จึงเป็นตำแหน่งสำคัญที่แม่ทัพภาคที่ 4 จะต้องได้นายทหารที่ไว้วางใจได้ และทั้งด้านยุทธการและด้านบริหารจัดการ


ด้านยุทธการ กกล.ทพ.จชต. ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2554 เพื่อทดแทนกำลังทหารหลัก ที่จะต้องถอนกำลังตามแผน เพื่อให้ทหารพรานที่เป็นกองกำลังประจำถิ่นเข้าประจำการแทน งานยุทธการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นภารกิจหลักของ กกล.ทพ.จชต.โดยตรง 

 

ส่วนทหารหลัก เช่น กำลังจากกรมทหารราบทั้งหมดในพื้นที่ จชต. จะทำหน้าที่เป็นส่วนงานสนับสนุนเท่านั้น ส่วนนายทหารหรือกำลังพลจากหน่วยหลัก ที่ไปปฏิบัติงานใน กกล.ทพ.จชต.ก็จะไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสนาม 

ผบ.กกล.ทพ.จชต. จึงต้องเป็นมือทำงานด้านยุทธการให้กับ แม่ทัพภาคที่ 4 โดยตรง

 

ส่วนงานบริหารจัดการ การต้องดูแลกำลังพลกว่าหมื่นนาย และงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท ผบ.กกล.ทพ.จชต. ก็ต้องเป็นคนที่ไว้ใจด้านการบริหาร เพื่อป้องกันการรั่วไหล และการบริหารงบประมาณให้มีคุณภาพ 

 

เคยมีการคิดกันเล่นๆ ย้ำว่า…คิดเล่นๆ (ไม่ใช่ความจริง) ว่า งบประมาณด้านกำลังพล หากบริหารจัดการไม่ดี หากคุมยอดจำนวนพลไม่ดี อาจมีคนเล่นแร่ แปรธาตุ เช่น 1 กรม จำนวน 1,489 นาย หากมีกำลังพลที่มีตัวตน บรรจุจริงไม่เต็มยอด เช่น บรรจุเฉพาะรายชื่อ แต่ไม่มีตัวตน แค่กรมละ 400 นาย งบประมาณก็จะหายไปถึงกรมละ 6 ล้านบาทต่อเดือน มี 9 กรม ก็ตกเดือนละ 54 ล้านบาท หรือปีละ 648 ล้านบาท 

 

นี่เฉพาะงบด้านกำลังพล…

แต่ขอย้ำอีกรอบว่า นี่คือ การลองคิดเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องจริง!

ยังไม่รวมถึงเรื่องสมมติ หรือ เรื่องคิดกันเล่นๆในงบประมาณส่วนอื่น 

 

ก่อนการเปิดเจรจาสันติภาพ ที่ตัวแทนฝ่าย BRN พยายามเรียกร้อง โดยอ้างการก่อเหตุขึ้นมาเป็นตัวประกันกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นกองกำลังหลัก จะต้องจัดการจัดทัพ จัดแผนยุทธการ จัดแผนปฏิบัติการตรึงพื้นที่ กดดันความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้ขยับออกมาก่อเหตุ หรือข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านร่วมมือกับทางการเสียก่อน 

 

ประกาศิตจากแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ ที่ย้ำด้วยเสียงที่เข้มข้น ภายใต้สีหน้าที่เคร่งขรึม ขณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายแก่กำลังพล ณ ที่ทำการยุทธวิธี หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสว่า “พื้นที่นี้จะต้องปลอดภัย คนร้ายต้องไม่มีที่ยืน”

 

นั่นหมายถึง ภารกิจหลักของ กกล.ทพ.จชต. ที่จะต้องทวีความเข้มข้นมากขึ้น กำลังพลกว่าหมื่นนายต้องพร้อมปฏิบัติ 

ทหารพราน จชต.เจ้าของฉายา ‘นักรบชุดดำ’  ที่มีม็อตโต้ “คุณธรรม อุดมการณ์ คือหัวใจทหารพราน เพื่อประชาชน” ที่ปฏิบัติการ รุก รบ เร็ว ดั่งกองพันปีศาจ ต้องเป็นกองพันปีศาจที่เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วดั่งล่องหน 

 

อย่าเป็น กองพันปีศาจ ที่มีแค่รายชื่อ แต่ไม่มีกำลังพล เป็นกองพันผี ดั่งที่มีการแอบพูดกันเล่นๆ  

โอกาสที่ แม่ทัพไพศาล บอกว่า “ผมเป็นคนให้โอกาสคน” จะต้องศักดิ์สิทธิ์ 

พอกับประกาศิตที่ประกาศเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ที่ระบุว่า “พื้นที่นี้ต้องปลอดภัย คนร้ายต้องไม่มีที่ยืน”

 

เพราะหากทำสำเร็จ ก็จะเป็นโอกาสให้แม่ทัพไพศาล ปลดแอกจากอำนาจนอกกองทัพ ที่ยังคงพยายามแทรกแซงการบริหาร แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย แทรกแซงการบริหารจัดการงบประมาณ

 

เป็นโอกาสที่จะสร้างกองทัพภาคที่ 4 ให้แข็งแกร่งอีกครั้ง ให้เหมือนในอดีตที่แม่ทัพภาคที่ 4 เคยมีอำนาจเด็ดขาด และมีความเด็ดขาด…เหนือ ‘กลุ่มอิทธิพล‘ ทุกกลุ่มในพื้นที่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์