หลังจากล่องหนไปเกือบจะ 5 วันเต็มๆ ในที่สุดเรือบรรทุกน้ำมัน 3 ลำที่หายไปจากสัตหีบ ก็ถูกจับได้ขณะกำลังล่องเรือลงไปทางภาคใต้
หายก็ง่าย จับก็ง่าย กำลังเป็นปริศนาสำคัญในแวดวงยุทธจักรสีเทาว่า เกิดอะไรขึ้น?
ใครเป็นผู้เขียนบทนิยายเรื่องนี้
ใครเป็นผู้กำกับ…
ใครเป็นนักแสดงหลัก…
แทบทุกนิ้วชี้ตรงกันไปที่ สหชัย เจียรเสริมสิน หรือ “โจ้ ปัตตานี” หรือ “โจ้ น้ำมันเถื่อน” ว่าเป็นตัวละครสำคัญคนหนึ่งของเรื่อง โดยเล่นบทเป็นเจ้าของตัวจริงของเรือทั้ง 3 ลำ

เล่นบทเป็นผู้บงการ
เล่นบทสั่งการให้มีการขโมยเรือของกลางทั้ง 3 ลำ
รวมทั้งสุดท้ายเล่นบทสั่งให้เรือทั้ง 3 ลำล่องลงใต้มาให้ถูกจับ เพื่อจบภาคแรกของละครเรื่อง “อิทธิฤทธิ์เรือล่องหน”
ประวัติของตัวละครสำคัญตัวนี้ถูกนำเสนอไปทุกสื่อ เจาะลึกแทบทุกอณูว่า “สหชัย” หรือ “โจ้” คือใคร มีประวัติเคยก่อคดีอะไรมาบ้าง เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับธุรกิจทั้งหน้าฉาก และหลังฉากอย่างไร
“โจ้” ถูกเปลือยในแทบทุกแง่มุม ถ้าจะให้เขียนว่า โจ้เป็นใคร มาจากไหนก็ดูจะเชย ไม่ทันการณ์
แต่ทันทีที่เรือทั้ง 3 ลำที่หายไปถูกจับ และจับโดยตำรวจสอบสวนกลาง ต้นสังกัดของกองบังคับการตำรวจน้ำ หน่วยงานที่ทำเรือหาย คำถามคือ แล้วตัวละครสำคัญของเรื่องนี้อีกด้านที่ตรงกันข้ามกับ “โจ้ ปัตตานี” คือใคร?


ถ้าไล่ลำดับเหตุการณ์ จับกุมเรือน้ำมัน 3 ลำก่อนจะหาย และก่อนจะถูกจับได้อีกครั้ง
เรือน้ำมันทั้ง 3 ลำ ถูกจับพร้อมเรือเล็กอีก 2 ลำ ขณะรอถ่ายน้ำมันจากเรือใหญ่ลงเรือเล็ก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567
คนจับ คือ ตำรวจกองปราบ และตำรวจน้ำ ทั้ง 2 หน่วยงาน อยู่ภายใต้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามคนปัจจุบัน คือ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ตท.30 นรต.46 เป็นหนึ่งในผู้บังคับการ กองบังคับการหลักใน บช.ก.เพียงไม่กี่ราย ซึ่งไม่ใช่ ตท.34 หรือ นรต.50
ส่วนผู้บังคับการตำรวจน้ำ คือ พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ตท.34 นรต.50
หลังการจับกุมรายละเอียดในคดีทั้งหมด ถูกส่งให้กับพนักสอบสวน คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ผู้บังคับการ คือ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ตท.33 นรต.49
ระหว่างการจับจนกระทั่งก่อนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่เรือหาย มีความพยายามจากเจ้าของเรือในการประสานหาช่องทาง หาเส้นทาง หาผู้ใหญ่ทุกวงการ ทั้งแวดวงการเมือง และแวดวงข้าราชการระดับสูง ที่จะขอให้ช่วยเจรจากับทีมจับกุม เพื่อขอเคลียร์คดี และหาทางขอคืนเรือ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลออกมาว่า การจับครั้งนี้มีเงื่อนงำและมีเบื้องหลัง เพราะขณะถูกจับ เรือทั้ง 5 ลำ ไม่ได้ลอยลำอยู่ในน่านน้ำไทย แต่ลอยลำอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งเป็นน่านน้ำสากล
ระหว่างนั้นกองบังคับการตำรวจ ปอศ.ในฐานะพนักงานสอบสวนจึงส่งเรื่องไปหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดว่า เป็นคดีนอกราชอาณาจักรหรือไม่ เพราะรูปการณ์ทางคดีก้ำกึ่งที่จะเป็นคดีนอกราชอาณาจักร หากส่งฟ้องโดยไม่ชัดเจน อาจถูกศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน
หลังสำนักงานอัยการสูงสุดตอบกลับมาว่า คดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักรที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของพนักงานอัยการ ตัวละครจึงเพิ่มขึ้น
จาก เจ้าของเรือ - กองปราบ - ตำรวจน้ำ - ตำรวจ ปอศ.
มาเป็น เจ้าของเรือ - กองปราบ - ตำรวจน้ำ - ตำรวจปอศ. - พนักงานอัยการ
เจ้าของเรือ ถูกระบุว่า คือ “โจ้ ปัตตานี”
ต้นสังกัดของ 3 หน่วยงาน กองปราบ – ตำรวจน้ำ - ตำรวจ ปอศ. คือ “บิ๊กก้อง” พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ต้นสังกัดของสำนักงานอัยการสูงสุด คือ ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน
ความเกี่ยวพันระหว่าง “โจ้” กับ “สำนักงานอัยการสูงสุด” อาจไม่ชัดเจนนัก
แต่ความเกี่ยวพันระหว่าง “โจ้” กับ “บิ๊กก้อง” ค่อนข้างชัดเจน
“โจ้” ถูกจับกลางกรุง ด้วยฝีมือของตำรวจสอบสวนกลางที่นำโดย “บิ๊กก้อง” เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 หลังเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพียงเดือนเศษ ในข้อหา “ฟอกเงินจากการค้าน้ำมันเถื่อน”
แต่เมื่อนำตัวส่งพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีฟอกเงิน ปรากฏว่า อัยการแจ้งว่า “สั่งไม่ฟ้องไปแล้ว” ไม่มีอำนาจควบคุมตัว จึงต้องปล่อย “โจ้” เป็นอิสระ และหลังจากนั้น “โจ้” ก็ไม่เคยปรากฏตัวในประเทศไทยอีกเลย
มีเพียงข่าวว่า โจ้ไปปักหลักทำธุรกิจสีเทา รวมทั้งค้าน้ำมันเถื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน และเรือน้ำมันทั้ง 3 ลำที่ถูกจับรอบนี้ ก็เป็น 1 ในเรือหลายลำที่โจ้ลำเลียงไปจำหน่ายในน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน
การจับและตรวจยึดเรือน้ำมันทั้ง 3 ลำ ด้วยฝีมือของตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางรอบนี้ ถ้าเรือทั้ง 3 ลำเป็นเรือของ “โจ้ ปัตตานี” จริง นี่จะเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง “โจ้ ปัตตานี” และ “บิ๊กก้อง” อีกครั้ง

ส่วนเรือที่ลอยลำกลับมาให้จับ ทั้งที่พร้อมจะหายลับไปในน่านน้ำสากล หรือน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน เป็นความตั้งใจของเจ้าของเรือ หรือความจำใจของเจ้าของเรือ ต้องรอดูภาค 2 ของเรื่อง “อิทธิฤทธิ์เรือล่องหน”
เพราะบทสรุปของเรื่องนี้ คือข้อความที่ส่งข้ามทะเลมาว่า
“ถ้าอยากจะจับก็จับไป แต่ถ้าอยากจะเอากลับก็จะเอา และถ้าอยากจะให้คืนให้ ก็พร้อมคืน”
คำถามคือ เมื่อข้อความถูกส่งมาแบบนี้ “บิ๊กก้อง” จะตอบว่าอย่างไร ท่ามกลางก้าวย่างบนเส้นทางรับราชการ ที่กำลังจะสวยงามและมั่นคง