‘ถูกปฏิเสธ’ อาจนำไปสู่ ‘บาดแผลทางใจ’ ที่ร้ายแรงเกินคาด

4 พ.ค. 2566 - 03:38

  • การถูกปฏิเสธ อาจเป็นบาดแผลทางอารมณ์ที่เราอาจเผชิญได้บ่อยที่สุดในการดำเนินชีวิต

  • การรักษาเยียวยาแผลจิตแผลใจ ด้วยคู่มือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่เปรียบเหมือนเป็นตู้ยาสามัญประจำบ้านสำหรับบาดแผลทางจิตใจ

Emotional-first-aid-SPACEBAR-Thumbnail
เราต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่าการเจ็บป่วยทางร่างกายล้วนมีวิธีรักษาให้อาการบาดเจ็บน้อยลงและหายดีอย่างไร ทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมไปถึงหยูกยาที่มีสรรพคุณส่งผลโดยตรงกับอาการเหล่านั้นให้ทุเลาและหายดี 
 
แต่กับบาดแผลทางจิตใจล่ะ? จะมีสักกี่คนที่รู้วิธีเยียวยารอยแผลเหล่านั้นในแบบที่ถูกที่ควร  
เพราะเราทุกคนล้วนมีโอกาสประสบกับบาดแผลทางอารมณ์บ่อยครั้งตลอดเวลาของการดำเนินชีวิต แต่มีน้อยคนที่จะรู้วิธีรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ หนำซ้ำยังเพิกเฉยและปล่อยให้มันพอกพูนและสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว 
 
“การถูกปฏิเสธคือรอยบาดและรอยถลอกทางจิตใจ ที่กรีดผิวหนังทางอารมณ์ของเราทะลุเข้าไปถึงเนื้อ” 
 
ประโยคข้างต้น คือหนึ่งในเนื้อหาของบทที่ 1 ซึ่งว่าด้วย ‘บาดแผลทางใจจากการถูกปฏิเสธ‘ จากหนังสือ ‘Emotional First Aid: ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ’ เขียนโดย Guy Winch นักจิตวิทยาและนักพูด TED Talks ชื่อดัง และแปลโดย ลลิตา ผลผลา 
 
เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะกำลังประสบกับอาการบาดเจ็บทางอารมณ์ และไม่สามารถจัดการกับความขุ่นเคืองที่ก่อตัวสุมในจิตใจได้ หรือแม้กระทั่งไม่รู้วิธีเบื้องต้นในการจัดการปัญหาเหล่านั้น สำหรับบทความชิ้นนี้ เราจึงขอยกเนื้อหาจากบทแรก ที่กล่าวถึง ‘การถูกปฏิเสธ‘ มาสรุปใจความคร่าวๆ เพื่อเป็นการแบ่งปันกันว่า บางปัญหาที่เราอาจมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แท้ที่จริงแล้วอาจก่อตัวเป็นมรสุมและเป็นปัญหาต่อความสุขของเราได้ตลอดเวลา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5iTMVa8qif7fBAi3VwukdZ/593c8592b2f2829a2d87a2695f3c98cc/Photo01
Photo: fathombookspace.co

การถูกปฏิเสธ : รอยบาดและรอยถลอกทางอารมณ์ของชีวิตประจำวัน 

การถูกปฏิเสธ อาจเป็นบาดแผลทางอารมณ์ที่เราอาจได้เผชิญบ่อยที่สุดระหว่างการดำเนินชีวิต เรามักก้าวผ่านการถูกปฏิเสธจากครั้งอดีตเพื่อมาเจอการถูกปฏิเสธครั้งใหม่ๆ อีกเรื่อยๆ โดยในวัยเด็กเรามีบาดแผลมากมายจาก การถูกเพื่อนๆ ปฏิเสธที่จะเล่นด้วย, การไม่ถูกรับเชิญไปงานวันเกิด เป็นต้น จวบจนมาถึงสารพัดรูปแบบของการถูกปฏิเสธในวัยผู้ใหญ่ เช่น การถูกคนที่กำลังมีท่าทีว่าจะคบหาดูใจกันบอกปัดทั้งทางตรงและทางอ้อม, การไม่ผ่านสัมภาษณ์งาน, การถูกสมาชิกในครอบครัวเมินใส่ 
 
ผู้เขียนบอกกับเราว่า แม้กระทั่งการถูกปฏิเสธเพียงเล็กน้อยแบบที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เบาที่สุด กลับสร้างความเจ็บปวดทางอารมณ์ให้กับเราได้อย่างร้ายแรง โดยยกผลจากการทดลองที่ว่าด้วยการสร้างสถานการณ์หนึ่งขึ้นมา ที่ตัวผู้ถูกทดลองจะได้เข้าไปนั่งอยู่ในห้องรับรองกับคนแปลกหน้า(หน้าม้า) 2 คน โดยแสร้งทำเป็นว่ากำลังต่อคิวรอการเรียกตัวไปร่วมการวิจัยหัวข้ออื่นๆ อยู่  
 
อยากให้คุณลองนึกภาพตามโดยเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในการทดลองนี้ เริ่มจาก 1 ใน 3 นั้นมองเห็นลูกบอลที่อยู่บนโต๊ะ จึงหยิบขึ้นมาและโยนไปให้คนที่ 2 คนที่ 2 ยิ้มมองมาทางคุณ และโยนบอลมาให้คุณเป็นอันครบหนึ่งรอบ และเมื่อคุณโยนบอลกลับไปให้คนแรก คนแรกโยนไปให้คนที่ 2 อีกทีหนึ่ง แต่ทว่าครั้งนี้คนที่ 2 ไม่ได้โยนบอลมาให้คุณต่ออีกแล้ว แต่โยนกลับไปให้คนแรก ซึ่งหมายถึงเป็นการตัดคุณออกจากเกมนี้ทันที สถานการณ์นี้จะทำให้คุณรู้สึกอย่างไร  
 
หลายๆ คนอาจจะคิดว่าแค่เรื่องเกมโยนบอล มันคงจะไม่มีปัญหา แต่นักจิตวิทยากลับพบคำตอบว่า จากผลการทดลองนี้ ผู้คนต่างให้ข้อมูลตรงกันว่ารู้สึก ‘เจ็บปวดทางอารมณ์อย่างรุนแรง’ จากการถูกตัดออกจากเกมโยนบอล 
 
ดังนั้นเมื่อเทียบการถูกปฏิเสธที่เราเผชิญในชีวิตจริง กับการถูกปฏิเสธจากเกมโยนบอลนี้ที่แทบจะเป็นการถูกปฏิเสธที่เบาที่สุดแล้ว ยังก่อความเจ็บปวดทางอารมณ์อย่างร้ายแรง ทั้งยังรวมไปถึงความหม่นหมอง และความเคารพตัวเองที่ลดลงได้ขนาดนี้ นั่นจึงพอจะทำให้เราตระหนักได้ว่าการถูกปฏิเสธในชีวิตจริงจะสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดได้มากมายขนาดไหน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม การถูกคนที่กำลังคบหาดูใจอยู่ทิ้ง, การถูกปฏิเสธในเรื่องงาน, การพบว่ากลุ่มเพื่อนนัดเจอกันโดยไม่มีเรา นั้นอาจส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์ของเราได้อย่างรุนแรง ไม่ต่างอะไรกับการโดนต่อยเข้าที่ท้อง หรือถูกมีดแทงเข้ากลางอก  
 
ผู้คนเปิดเผยต่อนักจิตวิทยาว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างความเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธ กับ ความเจ็บปวดทางกายภาพที่เคยประสบ พวกเขาจัดให้ความเจ็บปวดทางอารมณ์นี้เทียบเท่ากับการคลอดลูกหรือการรักษาโรคมะเร็งเลยด้วยซ้ำ แม้แต่ความผิดหวังหรือความหวาดกลัว ที่ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่กว่า ยังส่งผลในแง่ของความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงถึงภายในได้น้อยกว่าการถูกปฏิเสธอยู่หลายขุม 
 
แต่โดยท้ายที่สุด นอกจากความเข้าใจที่มากขึ้นของภาวะทางอารมณ์จากการถูกปฏิเสธ ผู้เขียนยังมีคำแนะนำที่มีคุณค่า สำหรับการปฐมพยาบาลเพื่อรักษาบาดแผลทางอารมณ์จากการถูกปฏิเสธให้กับผู้อ่านด้วย โดยมีอยู่ 4 ข้อหลักๆ คือ จัดการการโทษตัวเอง, กอบกู้การเห็นคุณค่าตัวเอง, ฟื้นฟูสายสัมพันธ์ทางสังคม และลดความอ่อนไหว โดยมีรายละเอียดที่เป็นประโยชน์มากมายคล้ายตู้ยาสามัญประจำบ้าน ที่ไม่สามารถสาธยายไว้ตรงนี้ได้หมด ต้องให้ทุกคนลองไปอ่านกันเอาเอง 
 
‘Emotional First Aid: ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ’ เป็นหนังสือจิตวิทยาที่จะพาเราสำรวจบาดแผลทางอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของเรา โดยเนื้อหาประกอบด้วย 7 บทหลัก ว่าด้วย การถูกปฏิเสธ, ความเหงา, การสูญเสียและเหตุการณ์สะเทือนใจ, ความรู้สึกผิด, การครุ่นคิด, ความล้มเหลว และ การเคารพตัวเองต่ำ ปิดท้ายด้วยบทสรุป ‘การสร้างตู้ยารักษาความเจ็บป่วยทางใจ’ โดยแต่ละบทจะสอดแทรกและยกตัวอย่างการทดลองทางจิตวิทยา เคสของความเจ็บปวดทางอารมณ์ รวมไปถึงแนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของอาการเหล่านั้นที่เราสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และคำแนะนำขั้นของอาการที่ควรปรึกษาผู้เชียวชาญอีกด้วย 
 
‘บาดแผลทางใจ’ ที่เราต่างคิดว่าต้องอาศัยเวลาเพื่อเยียวยา แต่ในความเป็นจริงเวลาอาจไม่ช่วยอะไร เพราะอาการของการบาดเจ็บยังส่งผลต่อเราได้ตลอดเมื่อความคิดเหล่านั้นยังกลับมาแล่นวนเวียนอยู่ในหัว ทำให้เรายังรู้สึกเจ็บปวดได้อยู่ซ้ำๆ แม้เรื่องนั้นๆ จะผ่านไปนานแล้ว ซึ่งอย่างน้อยๆ การได้รู้วิธีการรับมือกับภาพบาดใจเหล่านั้น หรือได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิธีเยียวยาบาดแผลที่พอจะช่วยให้ทุเลาลงได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์