ผลกระทบทางจิตใจที่รุนแรงในเหตุการณ์สุดแสนอำมหิตที่มนุษย์พึงกระทำต่อกัน

16 พ.ย. 2565 - 08:06

  • 4 อาการทางจิตวิทยาที่บ่งชี้ว่าคุณได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรงจนเข้าขั้นวิกฤต

  • การเยียวยาและการรักษาที่มนุษย์ (ที่รักกัน) พึงปฏิบัติต่อกัน

How-to-cope-with-PTSD-disorder-SPACEBAR-Main
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7sWv4RGY6FajMd6FgcXUXb/2d6ca3b10d7bdc06079e599356730394/How-to-cope-with-PTSD-disorder-SPACEBAR-Main

ในทางจิตวิทยามีกลุ่มอาการและพฤติกรรมที่ชี้ชัดว่า นอกจากมนุษย์ทุกคนบนโลกจะมีโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าผลกระทบทางจิตใจจากความรุนแรงนั้นๆ อาจจะทำให้เขาเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อของโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder ) หรือโรคความเจ็บป่วยทางจิตใจที่เกิดจากการได้รับจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงในเหตุการณ์สุดแสนอำมหิตที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันด้วย เช่น การก่อการร้าย สภาวะสงครามและความอดอยาก การสังหารหมู่ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การถูกข่มขืนไปจนถึงเหตุการณ์อย่างการประสบภัยพิบัติหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง ซึ่งในทางจิตวิทยามีกลุ่มอาการที่ชี้ชัดของโรคนี้อยู่ด้วยกัน 4 อาการด้วยกันคือ 

1.เห็นภาพหลอนของเหตุการณ์ร้ายแรงนั้นๆ หรือฝันถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ  

2.เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นๆ จะมีอาการตื่นตระหนก ควบคุมตัวเองไม่ได้ หงุดหงิด ก้าวร้าว โมโหง่าย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ใจสั่น ตกใจง่าย ไม่มีสมาธิ ความดันโลหิตสูง  

3.การหลีกเลี่ยงที่จะพาตัวเองกลับไปสู่สถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ร้าย เช่น ไม่กล้าเฉียดผ่านไปสถานที่นั้นๆ กลัวการซ้อนมอเตอร์ไซค์เพราะเคยเจออุบัติเหตุรถชน กลัวเพศตรงข้ามเพราะเคยถูกล่วงละเมิด กลัวการเดินห้างสรรพสินค้าเพราะเคยเจอเหตุการณ์กราดยิงเป็นต้น 

4. มีความด้านคิดลบจนเป็นนิสัย รู้สึกเศร้าใจ ไม่มีความสุขไปจนถึงไม่อยากมีชีวิตอยู่ 

 

จึงนับเป็นเรื่องเร่งด่วนของผู้คนใกล้ชิดและคนรอบข้างที่ต้องหาทำทุกหนทาง เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วย PTSD สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างใกล้เคียงความปกติที่สุด แน่นอนว่ามันเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจและเวลา และนี่คือบทความที่รวบรวมวิธีการรักษาตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ที่สามารถนำไปใช้ดูแลเยียวยาจิตใจของคนที่คุณรัก 

ฟัง 

เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย ที่จะต้องรับฟังหรือแบกรับความทุกข์ที่แสนสาหัสของใครสักคนซ้ำไปวนมาซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่รับฟังอาจจะกลายมาเป็นคนป่วยซะเองหากจิตใจไม่เข้มแข็งพอ แต่การรับฟังนั้นก็นับได้ว่าเป็นการเยียวยาขั้นตอนแรกที่สามารถแบ่งปันความทุกข์จากผู้ป่วยให้เบาลงได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้ป่วยพบเจออยู่ก็ตาม แต่สำหรับในขั้นตอนนี้ ‘ความพยายามเข้าใจ’ ด้วยความรู้สึกที่อยากช่วยอย่างเต็มใจคือหัวใจสำคัญของภาพรวมทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดในขั้นตอนนี้ คุณสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้ได้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวด้วยการฟังสิ่งที่เขาระบายออกมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิธีที่นักจิตวิทยานิยมใช้ในการเข้าถึงผู้ป่วยเพื่อประเมินก่อนเข้ารับการรักษาในระดับต่อไป เพราะฉะนั้นจงรับฟังด้วย ‘หัวใจ’ ไม่ใช่ฟังด้วย 'สมอง'

ไม่ลำพัง 

ตามที่ได้เกริ่นไปตั้งแต่แรกว่าการเยียวยาต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจและเวลา นั่นหมายความว่าคุณต้อง พร้อมทุกที่ทุกเวลาด้วยการไม่ปล่อยให้ผู้ป่วย PTSD ต้องอยู่ลำพังเพราะป็นวิธีป้องกันการทำร้ายตัวเองและป้องกันโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนของผู้ป่วย เพราะหากเราปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียวก็เท่ากับเป็นการปล่อยให้เขาทำร้ายตัวเองด้วยความคิด ด้วยภาพหลอนของเหตุการณ์ร้าย ด้วยความรู้สึกผิด และด้วยอะไรก็ตามที่ทำให้เขาไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เพราะฉะนั้นโปรดใช้เวลาอยู่กับเขาให้มากที่สุด ทุกที่ ทุกเวลา เท่าที่คุณจะทำได้โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหตุการณ์เลวร้ายเพิ่งผ่านไปหมาดๆ 

กอดด้วยความรัก 

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วย PTSD ทำร้ายตัวเองเพราะความรู้สึกที่ว่าเขากำลังเผชิญหน้ากับความอำมหิตจากเหตุการณ์เลวร้ายแต่เพียงผู้เดียว หากเราซึ่งเป็นคนใกล้ตัวแสดงออกถึงความรักผ่านการกอดให้เขาเห็นว่าเราพร้อมอยู่เคียงข้าง การสัมผัสด้วยการกอดจะช่วยสร้างพลังให้เขามั่นใจว่าเขาจะมีเราเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาอยากใช้ชีวิตอยู่ต่อ มีหลายครั้งและหลายเคสที่ครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักที่ป่วยเป็น PTSD เพียงเพราะคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวผู้ป่วยไม่เคยมีปะวัติการแสดงความรักความอบอุ่นต่อกันเลย ดังนั้นคุณจงกอดเขาด้วยความรักและหัวใจที่ปรารถนาอยากให้เขากลับมามีชีวิตที่ใกล้เคียงกับความปกติที่สุด แล้วคุณจะพบว่าการกอดให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย  

ข้อดีของการมีชีวิตต่อ 

หลังจากรอดชีวิตจากเหตุการณ์เลวร้ายมา ดวงตาของผู้ป่วย PTSD มักจะมองเห็นโลกใบนี้เป็นสีเทาไปจนถึงดำ ทำให้ความรู้สึกที่หม่นหมองอยู่แล้วดิ่งลงไปอีก ในฐานะคนใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคอยย้ำถึงมุมมองที่ยังสวยงามของโลกใบนี้ไปจนถึงความดีที่ยังคงมีในตัวมนุษย์ ผ่านวิธีการอย่างการพาผู้ป่วยไปพักผ่อนในที่ที่ทำให้เขาสบายใจหรือพาไปทำกิจกรรมเบาๆที่พอจะช่วยทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายได้ในช่วงเวลาหนึ่งไปจนถึงการพาไปเจอไปพูดคุยกับคนที่เคยผ่านเหตุการ์เลวร้ายคล้ายๆกันและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้งที่สามารถจะสื่อสารได้อย่างมีนัยยะสำคัญว่าเขายังมีความหวังและเขาก็ไม่ใช่แค่คนเดียวบนโลกใบนี้ที่พบเจอกับเรื่องไม่ดี รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการได้รับความรักและความซื่อสัตย์หรือการสัมผัสที่จริงใจจากสัตว์เลี้ยงอย่างหมาหรือแมวก็ช่วยได้มากในกรณีนี้ 

คุณค่าในความเป็นมนุษย์ 

เพราะการรอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากของผู้ป่วย PTSD ทำให้ผู้ป่วยมักจะโทษตัวเองว่าทำไมไม่ตายๆ ไปซะตอนนั้นหรือเฝ้าคิดว่าทำไมคนที่เขารักถึงไม่รอด ทำไมเขาถึงเห็นแก่ตัว เพื่อดึงให้เขาใช้ชีวิตต่อไปได้ นักจิตวิทยาเลยแนะนำว่าให้คนใกล้ชิดคอยย้ำเตือนว่าชีวิตของเขามีค่า เขายังมีโอกาสใช้ชีวิต และยิ่งเขารู้สึกผิดที่มีชีวิตมากเท่าไหร่ผู้ดูแลผู้ป่วยยิ่งต้องใช้เรื่องความรับผิดชอบเข้ามาจูงใจทำนองว่าการที่เขามีชีวิตอยู่นี่แหละคือการที่เขาได้ตอบแทนคนที่จากไป อยู่เพื่อคนอื่น อยู่เพื่อคนรอบข้างด้วยการทำสิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ แทนคนที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิต่อ ถึงแม้ผู้ป่วยจะยังไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติในเร็ววัน แต่ผลลัพธ์ของแนวทางการเยียวยาแบบนี้นั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและมองเห็นคุณค่าในตัวเองไปจนถึงความหมายของการมีชีวิตต่อไป 

ผู้จัดการส่วนตัว 

หน้าที่สำคัญอีกข้อหนึ่งของคนใกล้ชิดที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่ว่าจะเรื่องตื่นและนอนตามเข็มของนาฬิกา กินอาหารทานขนมได้ตามปกติสุข ออกไปทำงานพบเจอผู้คนไปทำกิจกรรมตามวิถีชีวิตที่พึงมีก่อนหน้า พูดง่าย ๆ ก็คือคุณต้องสวมบทบาทเป็นผู้จัดการส่วนตัวที่คอยกระตุ้นให้เขาได้ใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น(แต่อย่าทำเหมือนว่าเรื่องร้ายแรงไม่เคยเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ผู้ป่วยจะยิ่งขังตัวเองในความคิดอยู่กับเหตุการณ์ร้ายเดิม ๆ ก่อนจะพาตัวเองหลีกหนีออกจากสังคม และสุดท้ายผู้ป่วยก็จะจำไม่ได้แล้วว่า ความปกติคืออะไร หัวใจหลักของการเป็นผู้จัดการส่วนตัวที่นอกจากช่วยเรื่องกำลังใจแล้วก็คืออย่าปล่อยให้ผู้ป่วยว่างจนเกินไป  

รักษา 

ถึงแม้ความจริงจะเจ็บปวด แต่การไม่รับรู้ความจริง หลอกตัวเองไปเรื่อย ๆ และหวังว่าวันหนึ่งมันจะดีขึ้นเองโดยไม่ยอมไปบำบัดรักษา ทั้งๆที่ยังรู้สึกแย่ ยังหลับฝันและฝังใจถึงเหตุการณ์นั้นจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้นั้นมันทรมานกว่ากันมาก ในฐานะผู้ใกล้ชิดมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพาผู้ป่าวยเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ซึ่งก็จะเริ่มจากการให้ผู้ป่วยเผชิญหน้าเพื่อนำไปสู่การยอมรับความจริง นักบำบัดมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพาผู้ป่วยย้อนกลับไปที่เหตุการณ์นั้นอีกครั้งเพื่อหาสาเหตุ ของอาการ PTSD ก่อนจะเลือกวิธีการรักษา แล้วจึงค่อย ๆ พาผู้ป่วยถอยออกมาจากความรู้สึกเลวร้ายทั้งหลายไม่ว่าจะด้วยยาปฏิชีวนะหรือการพูดคุยเพื่อการบำบัดที่ต้องใช้เวลาจนกว่าจิตใจของผู้ป่วยจะเข้มแข็งมากพอที่จะยอมรับ เข้าใจ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างที่ควรจะเป็น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์