JOY LIFE: ฉันไม่ได้ขี้งก แต่ฉันเป็น Chrometophobia ‘โรคกลัวการใช้เงิน’ ต่างหาก!

29 มิถุนายน 2566 - 02:32

JOY-LIFE-Chrometophobia-SPACEBAR-Thumbnail
  • คนขี้งก กับคนที่เป็นโรคกลัวการใช้เงินมันอาจจะคล้ายกัน แต่แท้จริงแล้ว มันมีเส้นบางๆ ของอาการที่ต่างกันกั้นอยู่

“แกมันขี้งก” , “อย่าขี้เหนียวดิ” และอีกสารพัดคำด่าทอในเรื่องของการที่มักจะมีปัญหาในการควักเงินเพื่อจ่ายออกไป ซึ่งนั่นก็บั่นทอนหัวใจคนถูกกระทำพอสมควร แต่หารู้ไม่ว่า พฤติกรรมขี้งก กับโรคกลัวการใช้เงิน มันมีเส้นบางๆ ของอาการที่ต่างกันซ่อนอยู่ 

หลายคนอาจจะมีพฤติกรรมขี้งกจริงๆ เป็นพฤติกรรมที่อยากได้ อยากมี อยากกิน แต่ไม่อยากจ่ายเงิน เพราะไม่อยากควักเงินในกระเป๋าให้ยอดเงินมันไหลออกไป แต่ก็มีอีกหลายคน ที่มีอาการตื่นกลัว ตัวสั่น ใจสั่น ปากซีด ทุกครั้งที่ต้องหยิบเงินในกระเป๋าออกมาใช้จ่าย ถึงแม้ว่าจะไม่มีหนี้สินรัดตัวใดๆ เลยก็ตาม 

อาการที่พูดถึงนี้ คืออาการของโรคกลัวการใช้เงิน หรือ Chrometophobia (โครโมโทโฟเบีย) มาจากคำภาษากรีก chrimata แปลว่าเงิน และ phobos แปลว่าความกลัว ความหวาดกลัวนี้เรียกว่า chrematophobia นั่นเอง 

เรามาทำความรู้จักกับโครโมโทโฟเบียกันก่อน โครโมโทโฟเบียเป็นอาการกลัวการใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีเหตุผล เป็นอาการกลัวทางจิตเวชในหมวดโรคกลัวที่เฉพาะเจาะจง โดยความกลัวนี้อาจจะรวมไปถึงของมีค่าอื่นๆ ด้วย เช่น ทอง เพชร รถยนต์คันหรู สิ่งของและเครื่องประดับราคาแพงด้วยก็ได้ 

ส่วนสาเหตุที่แน่ชัด เกี่ยวกับโรคโครโมโทโฟเบีย ยังไม่มีการวินิจฉัยออกมาอย่างแน่ชัด แต่ทางจิตแพทย์ ก็ได้คาดว่าอาจจะขึ้นจาก พันธุกรรมหรือบุคคลในครอบครัวที่มีประวัติป่วยในโรคโฟเบียหรือโรคกลัว ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนจิตใจก็อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคกลัวการใช้เงินได้เช่นกัน และผู้ที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวลอย่าง OCD หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ ก็มีโอกาสเป็นโรคกลัวเงินได้ เพราะในสมองมักจะหมกหมุ่นในเรื่องของเงิน จนไม่สามารถหยุดคิดถึงเงินได้ 

อาการหลักๆ ของผู้ป่วยโรคโครโมโทโฟเบีย ตามที่ดร. ดารามุส (Dr. Daramus) นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบอนุญาตและผู้เขียนหนังสือ ‘Understanding Bipolar Disorder’ ได้ระบุไว้ มีดังนี้...  
  • กลัวการใช้เงินมากจนถึงขนาดที่จะเข้ามารบกวนชีวิตประจำวัน 
  • ความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกกับโอกาสที่จะใช้เงิน 
  • มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินมากที่สุด 
  • อื่นๆ เช่น นั่งนับเงินของตัวเองอยู่ซ้ำๆ เพื่อความมั่นใจว่ายังอยู่ครบ, กลัวที่จะต้องจับ หรือแม้แต่พูดหรือคิดถึงเรื่องเงิน 
ในส่วนของการรักษาและรับมือกับอาการ เนื่องจากไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดของโรคว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด จึงไม่มีการรักษาที่ออกแบบมาเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีรูปแบบการรักษาที่แตกต่างกันมากมายที่สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้ได้ เช่น การบำบัดด้วยการสัมผัส การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (CBT) และยาทางจิตเวชบางชนิด 

สิ่งที่ควรตระหนักถึงเสมอคือ การประหยัดอดออมเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการจ่ายหรือปล่อยให้เงินหลุดรอดออกมาจากกระเป๋าเลย เพราะผลเสียที่จะเกิดขึ้นอาจจะทำให้ต้องเสียเงินมากกว่าเดิมในอนาคตก็ได้ รวมถึงสุขภาพจิตที่ถดถอยลงด้วย ฉะนั้นแล้ว รีบสังเกตตัวเอง และไปพบแพทย์กันเถอะ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์