JOY LIFE: บ่นมากไป ระวังลูกเตลิด ทริกปรับมายด์เซ็ตก่อนลูกจะไม่น่ารัก

19 เม.ย. 2566 - 03:52

  • พ่อแม่ขี้บ่น เอะอะตำหนิ ติ บ่น ตั้งแต่ลูกเป็นเด็กเล็กจนโต อาจจะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวได้แบบไม่รู้ตัว และในอนาคตอาจจะโดยลอกเลียนพฤติกรรม นำไปสู่การโดนบ่นคืน

JOY-LIFE-Effect-of-parent-complain-SPACEBAR-Hero
ใครๆ ก็อยากให้ลูกทุกคนเกิดมาเป็นคนดีของสังคม เป็นคนที่ได้รับความรักมากที่สุด จากคนรอบตัว และทุกๆ คนบนโลกใบนี้ แน่นอนว่าการคาดหวังที่มากเกินไปของพ่อแม่ หลงคิดว่าดีกับลูกที่สุดแล้ว แท้จริงมันกำลังทำร้ายลูกทางอ้อม  

พ่อแม่หลายๆ บ้าน เลือกที่จะตั้งความหวังไว้กับลูก โดยที่ไม่ได้ถามความสมัครใจ และเลือกที่จะใช้การบ่นหรือการตำหนิ ในสิ่งที่ลูกไม่สามารถทำตามในสิ่งที่พ่อแม่หลายๆ คนต้องการได้ ขั้นหนักสุดคือการลงโทษโดยการตี หรือมีบทลงโทษที่ทำร้ายจิตใจลูก และให้เหตุผลในการตำหนิหรือการลงโทษนี้ เกิดขึ้นเพราะหวังดี และรักลูก  

การรักลูกให้ถูกทาง มันสามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการบ่น ตำหนิ และติเตียนอย่างแน่นอน เพราะการบ่นมากๆ บ่นซ้ำๆ บ่นบ่อยๆ เป็นเพราะอยากให้ลูกทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นไปตามความคาดหวัง แต่รู้ไหมว่าการบ่นยิ่งทำให้ลูกไม่ได้ลงมือทำอย่างเข้าใจ รู้สึกเหมือนทำอะไรก็ไม่ถูกสักอย่าง บางคนเลยคิดว่า ทำก็บ่น ไม่ทำก็บ่น งั้นก็ไม่ทำเลยดีกว่าเพราะยังไงก็บ่นอยู่ดี สุดท้ายเขาก็จะไม่รู้จักความรับผิดชอบ หน้าที่ และความภูมิใจในตัวเอง 

ส่วนการตำหนิ ติเตียนลูกโดยการดุด่า เนื่องจากลูกทำไม่ได้ดั่งใจ ทำผิดตำหนิทันที ดุด่าทันทีแบบไม่รอฟังเหตุผล ซึ่งพ่อแม่บางคนอาจใส่อารมณ์โมโห โกรธ พฤติกรรมนี้ไม่ใช่แค่ทำให้ลูกเสียใจแต่จะทำให้เขาขาดความเป็นตัวเองด้วย ไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรเพราะกลัวผิดพลาด รอทำตามที่พ่อแม่บอกเท่านั้นเพราะไม่อยากถูกโกรธ รวมไปถึงหากมีปัญหาก็ไม่กล้าที่จะบอกหรือปรึกษาพ่อแม่ เพราะกลัวโดนดุด่า  

และรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมดังกล่าวที่ว่ามา มีผลให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มี EF ต่ำ แล้ว EF คืออะไร... EF คือ Executive Functions เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับทักษะการคิดเพื่อให้ชีวิตสำเร็จ มักจะเริ่มพัฒนาขึ้นในเวลาไม่นานหลังปฏิสนธิ โดยช่วงวัย 3-6 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่างๆ ให้กับลูก เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนามากที่สุด และเมื่อ EF ของลูกต่ำ ก็จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีการต่อต้านแบบไม่รู้ตัว  

แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไร ถ้าหากไม่อยากบ่นลูก แต่ก็อยากให้ลูกเป็นคนดีคนหนึ่งในสังคม และมีการเชื่อฟังพ่อแม่ในสิ่งที่สั่งสอน และนี่คือทริกที่จะปรับมายด์เซ็ต หรือชุดความคิดของคนเป็นพ่อแม่ที่พร้อมจะทำเพื่อลูก 
  1. คุยกับลูก การคุยกับลูกอย่างอ่อนโยน เปิดใจกับทุกเรื่อง ทำให้ลูกผ่อนคลายกล้าเปิดใจ แสดงความคิดเห็น และแสดงให้พ่อแม่เห็นว่าเขาชอบอะไร และต้องการอะไร 
  2. สร้างบรรยากาศในการพูดคุยและการทำความเข้าใจ เช่น นั่งข้างกันแทนการนั่งแบบเผชิญหน้า เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม เพื่อสร้างบรรยากาศของความเข้าใจกัน 
  3. ค่อยๆ เปิดใจยอมรับความแตกต่าง กล้าที่จะให้ลูกได้ลองทำในสิ่งที่เลือก ในขณะที่ตัวเองก็ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการดูแลลูกที่ส่งเสริมเขาไปพร้อมกัน 
  4. มีสติ โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ตัวเองให้มากที่สุด เมื่อลูกยังทำได้ไม่ดี ไม่ถูกใจ ไม่สำเร็จ ให้ใจเย็นและคิดเสมอว่า เขายังใหม่กับสิ่งนั้นๆ และให้กำลังใจแทนการติเตียน
ลองปรับมายด์เซ็ตใหม่ และหยุดโยน ยัดเยียด ความคาดหวังที่ลูกไม่ได้ต้องการให้เขา และเข้าหาเขาด้วยความรัก และความเข้าใจ เพราะสุดท้ายสิ่งที่ลูกจะให้เราได้ ก็คือสิ่งที่เราคาดหวังนั่นแหละ แต่เป็นในรูปแบบที่ลูกเป็นคนสร้างสรรค์วิธีการขึ้นมาเอง อย่าลืมนะว่าเขาไม่ได้ขอให้ทำให้เขาเกิดมา การบังคับให้ลูกทำอะไรในสิ่งที่เขาไม่ได้อยากทำ ผลร้ายก็จะเกิดขึ้นกับพ่อแม่เอง เพราะการกระทำของลูก ก็เกิดจากการลอกเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ทั้งนั้น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์