JOY LIFE: ถ้าใจเราสะอาด ไม่ต้องอาบน้ำก็ได้! สำรวจตัวเองแค่ ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘กลัว’ การอาบน้ำ

15 มิถุนายน 2566 - 09:00

JOY-LIFE-Fear-of-bathing-Ablutophobia-SPACEBAR-Thumbnail
  • ในโลกใบนี้ มีความกลัวแบบแปลกประหลาดมากมาย แต่หารู้ไม่ว่า โรคกลัวการอาบน้ำ ก็มีในโลกใบนี้ด้วยนะ

  • Ablutophobia โรคกลัวการอาบน้ำ

สำหรับประเทศไทย การอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และก่อนเข้านอนนั้น เป็นเรื่องปกติมากๆ และบางคนก็อาบน้ำมากกว่านั้น เพราะด้วยความที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนเกือบจะตลอดทั้งปี แต่ก็มีช่วงที่อากาศหนาวเย็นจนหลายๆ คนก็ไม่อยากจะเอาร่างกายไปปะทะกับน้ำ จนเกิดวลีฮิตที่ว่า “ถ้าใจเราสะอาด ไม่ต้องอาบน้ำก็ได้!” เพราะมันหนาวยังไงล่ะ 

ซึ่งตามที่กล่าวมาข้างต้นเนี่ย ด้วยความที่อากาศหนาวเย็น จนไม่อยากอาบน้ำ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเข้าใจได้ ว่าการไม่อยากอาบน้ำในตอนนั้นมันหนาว แต่ถ้าเกิดว่า คุณหรือใครรอบตัว มีอาการที่ไม่ชอบอาบน้ำ เลือกได้จะไม่อาบน้ำเลย แม้ว่าอากาศจะร้อนระอุมากๆ ลองสังเกตตัวเองหรือพวกเขาเหล่านั้น เพราะอาจจะเป็น ‘อะบลูโทโฟเบีย’ ก็ได้ 

อะบลูโทโฟเบีย (Ablutophobia) เป็นการรวมคำมาจากคำว่า ablutio ในภาษาละติน แปลว่า ล้าง และคำว่า Phobia จากภาษากรีกโบราณ ที่แปลว่า กลัว นั่นเอง  

สำหรับอาการอะบลูโทโฟเบีย มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงและเด็กมากกว่าผู้ชาย ซึ่งจะเหมือนกับโรคกลัวที่เฉพาะเจาะจงอื่นๆ ส่วนใหญ่ อาการอาจเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับการอาบน้ำ ทำความสะอาด รวมทั้งล้างจาน และซักผ้า 

นอกจากนี้ยังอาจเกิดขึ้นเมื่อมีการนึกถึงมันด้วย รวมถึงมีความกลัวหรือความวิตกกังวลที่รุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้สถานการณ์ดังกล่าว มีความรู้สึกว่าเกิดอาการกลัวโดยไม่มีเหตุผลแต่ไม่สามารถหยุดมันได้ มีการหลีกเลี่ยงการอาบน้ำ ทำความสะอาด ล้างจาน และซักผ้า เพื่อเลี่ยงความกลัวและความวิตกกังวล และเมื่อเกิดอาการดังกล่าว สภาพร่างกายจะมีอาการเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก และในเด็ก จะมีการเกาะติด งอแง ร้องไห้ หรืออารมณ์ฉุนเฉียวด้วย 

สาเหตุของอาการยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจจะเกิดจากหนึ่งในสามประเภทต่อไปนี้ คือ... 
  • ประสบการณ์เชิงลบ: มีประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการอาบน้ำ ทำความสะอาด ล้างจาน และซักผ้า 
  • พันธุกรรม: มีแนวโน้มที่จะเป็นโรค อะบลูโทโฟเบีย หากพ่อแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ 
  • การเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสมอง: ซึ่งรวมถึงการบาดเจ็บ อายุที่มากขึ้น และอื่นๆ 
ในส่วนของการรักษาอาการอะบลูโทโฟเบีย ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับการบำบัดอย่างถูกวิธี ฝึกการผ่อนคลายและใช้การพูดคุยกับตัวเองที่เพิ่งเรียนรู้เพื่อบรรเทาความกลัว ในขณะที่ค่อยๆ เผชิญหน้ากับเป้าหมาย แต่ถ้าหากว่ามีการวิตกกังวลมาก แพทย์อาจสั่งจ่ายยาหรือแนะนำการสะกดจิตเพื่อช่วยควบคุมความกลัวได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์