JOY LIFE: วัยรุ่นจำนวนมากกำลังเผชิญกับ โรคกลัวน้ำหนักขึ้น เพราะความคลั่งบิวตี้สแตนดาร์ด

30 สิงหาคม 2566 - 09:32

JOY-LIFE-Obesophobia-SPACEBAR-Thumbnail
  • บิวตี้สแตนดาร์ดในปัจจุบันจะมองว่า คนที่ผอมมากๆ ตัวสูง รอบเอวเล็ก จะเป็นคนที่สวยมากๆ

  • วัยรุ่นจำนวนมากที่กำลังวิ่งตามค่านิยมดังกล่าว แต่กลับไม่รู้ว่า ตัวเองกำลังเป็นโรค Obesophobia โดยไม่รู้ตัว

  • โรค Obesophobia เป็นโรคกลัวน้ำหนักเพิ่มแบบสุดโต่ง จนถึงขั้นที่มีความเครียดและกังวล หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาเพียงแค่ 1 กรัม

ด้วยค่านิยมความงามในปัจจุบัน ความที่แฟชั่นจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังตีวงล้อมรอบเราชาวไทยขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะความงดงามของเหล่าไอดอลจากแดนกิมจิ ที่หลายๆ คนกำลังติดตาม และฝันอยากจะเป็นไปตามภาพลักษณ์ที่งดงามของกลุ่มคนเหล่านั้น แน่นอนว่าค่านิยมความงามเหล่านี้ กำลังทำให้ใครหลายๆ คนกำลังเผชิญโรค Obesophobia แบบไม่รู้ตัว 

ต้องเกริ่นก่อนว่า ทำไมถึงมีการกล่าวถึงประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และประเทศเกาหลีใต้ นั่นเป็นเพราะว่า เสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าที่เป็นฟาสต์แฟชั่นส่วนมาก มาจากประเทศเหล่านี้ และด้วยความที่ประชากรของพวกเขานั้น มีค่านิยมความงามอยู่แล้วนั่นคือ ตัวเล็ก แบบผอมบาง และตัวสูงราวนางแบบ นั่นทำให้เสื้อผ้าที่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยส่วนมาก จึงมีแต่ไซส์เล็กๆ เหล่านั้น และแน่นอนว่า ไซส์สาวอวบ เป็นอะไรที่หายากมากๆ 

และนั่นคือหนึ่งสาเหตุที่ ทำไมเหล่าวัยรุ่นไทยถึงพยายามที่จะลดน้ำหนักกันอย่างบ้าระห่ำ เป็นเพราะว่าเสื้อผ้าที่ไซส์ใหญ่หาซื้อยาก และเสื้อผ้าของพี่สาวชาวจีน รวมไปถึงพี่สาวเกาหลีนั้น มันน่ารักมากๆ จนไม่สามารถอดใจที่จะไม่ซื้อได้ และอีกสิ่งหนึ่งก็คือ เสื้อผ้าเหล่านี้ มีราคาที่ถูกมาก จึงควรค่าแก่การสวมใส่ แต่ใครจะรู้เล่า ยิ่งนานวันไป ไซส์เสื้อผ้าจากพี่สาวชาวจีนและพี่สาวเกาหลีมันก็ยิ่งเล็กลง เล็กลงเรื่อยๆ จนทำให้น้องสาวชาวไทยอย่างพวกเรา ต้องคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก 

และอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนประสบพบเจอในวันรวมญาติของครอบครัวนั่นคือ คำพูดของคุณป้าโสภี คุณน้าโสภา ที่ชอบถามอะไรที่หาคำตอบย๊ากยากว่า “ไปทำอะไรมา อ้วนขึ้นหรือเปล่า” (จริงๆ ก็อยากจะตะโกนกลับไปว่ากินไงคะ แต่ก็กลัวแม่ดุเอา) ซึ่งนั่นเป็นการลดทอนความมั่นใจโดยที่ผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงจิตใจคนโดนถามสักเท่าไหร่ (เน้นสะใจ ชอบหักหน้าแหละดูทรง) แต่ทำอย่างไรได้ เพราะจิตใจของผู้ถูกถามมันพังไปแล้ว และนั่นทำให้เหล่าวัยรุ่น เริ่มลดน้ำหนักกันแบบจริงๆ จังๆ 

เพราะการเริ่มต้นลดน้ำหนัก เป็นชนวนที่ทำให้ใครหลายคนกำลังจะกลายเป็นโรค Obesophobia โดยไม่รู้ตัว อย่างที่ทราบกันดี การเริ่มต้นลดน้ำหนัก ในช่วงแรกน้ำหนักจะหายไปไวมากๆ และหลังจากนั้นการลดน้ำหนักจะเริ่มยากขึ้น เพราะน้ำหนักที่อยู่ตัว ทำให้ต้องมีการออกกำลังกายที่หนักมาขึ้น และเริ่มมีการอดอาหารเข้ามาร่วมด้วย รวมไปถึงการที่ได้กินอาหารที่อร่อยถูกปาก แต่หลังจากนั้นก็จะล้วงคออ้วกทันที เพราะไม่อยากให้อาหารที่กินเข้าไป ไปทำปฏิกิริยากับน้ำหนักของร่างกาย ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นอาการของผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรค Obesophobia  

โรค Obesophobia เป็นโรคกลัวชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผลกับสภาพจิตเป็นหลัก เป็นโรคกลัวที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งจะแตกต่างจากคนปกติที่กลัวอ้วนทั่วไปตรงที่ การกระทำที่สุดโต่งในการพยายามควบคุมน้ำหนัก เช่น รับประทานอาหารน้อยเกินไป อดอาหาร ออกกำลังกายมากเกินไป หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองมากเกินไป ใช้เวลาและเงินเป็นจำนวนมากในการพยายามให้ตัวเองรู้สึกว่าผอมลง รวมถึงการผ่าตัดด้วย 

ซึ่งอาการของผู้ที่เป็นโรค Obesophobia แล้วรู้ตัวว่า น้ำหนักที่กำลังควบคุมนั้นมันเพิ่มขึ้นมา เพียงแค่ 1 กรัม ก็จะมีอาการวิตกกังวล ตื่นตระหนก หนาวสั่น หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออกตามกรอบหน้าและฝ่ามือมากเกินไป ใจสั่น คลื่นไส้ หายใจถี่ ท้องเสียหรืออาหารไม่ย่อยด้วย  

เมื่อรับรู้แล้วว่าตนเองกำลังต่อสู้อยู่กับโรค Obesophobia ที่ทำให้ตัวเองไม่มีความสุขในชีวิตเอาซะเลย ก็ควรที่จะเริ่มเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง โดยสามารถรักษาได้ 3 แนวทางจากเหล่าจิตแพทย์ และนักบำบัด นั่นคือ  
  • การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (CBT): CBT เป็นการบำบัดทางจิตที่สามารถช่วยให้เข้าใจและควบคุมความคิดและอารมณ์ได้ การบำบัดด้วยการพูดคุยนี้สามารถช่วยให้เข้าใจความคิดเชิงลบที่เกิดขึ้นเมื่อคิดถึงการเพิ่มน้ำหนัก เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาอาจเปลี่ยนอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การออกกำลังกาย และน้ำหนักได้ 
  • การบำบัดโดยการสัมผัส: การบำบัดโดยการสัมผัส บางครั้งเรียกว่า desensitization ช่วยให้ผู้คนเผชิญหน้ากับความกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นักบำบัดอาจค่อยๆ ทำให้เข้าใจถึงแนวคิดในการรับประทานอาหารที่ดีหรือการเพิ่มน้ำหนักที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม การบำบัดโดยการสัมผัสเริ่มต้นด้วยสิ่งที่น่ากลัวน้อยกว่า เช่น การดูภาพคนที่ไม่ผอมจนเกินไป ในที่สุดก็อาจถูกขอให้คิดถึงการเพิ่มน้ำหนักหนึ่งกรัมหรือรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูงขึ้น 
  • การสะกดจิตบำบัด: การสะกดจิตสามารถทำให้อยู่ในสภาวะมึนงง แต่มีสมาธิ คนที่อยู่ภายใต้การสะกดจิตจะเปิดรับข้อเสนอแนะและการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น นักสะกดจิตอาจสามารถช่วยผู้ถูกสะกดจิตให้กลัวน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้น้อยลงได้ 
การพูดคุยกับแพทย์เพื่อหาทางออก นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายด้วย เมื่อรู้ตัวแล้วว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับความลำบากของโรคแห่งความกลัว การพบแพทย์คือสิ่งที่ดีที่สุด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/qbMoy58Fr4zjAkyYFbapy/5e74e7465b7039c056a20d57ea30424e/Obesophobia-__________________

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์