JOY LIFE: เตรียมรับมืออาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

15 ส.ค. 2566 - 02:53

  • เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ไม่ทันไรวันหยุดยาววันแม่แห่งชาติอันน่าอภิรมย์ก็หมดลงเสียแล้ว แค่คิดว่าวันนี้จะต้องกลับไปเผชิญกับโลกความจริงอันโหดร้าย ก็พาลให้จิตใจมัวหมองเสียเหลือเกิน

  • ซึ่งเมื่อพอกลับมาทำงานจริงๆ ก็รู้สึกหมดไฟ ไร้สมาธิ แม้จะได้พักได้เที่ยวมาแบบเต็มอิ่ม ทำให้หลายท่านพาลคิดท้อแท้ไปว่าทำไมตัวเองถึงได้เป็นคนขี้เกียจขนาดนี้ หรือบางทีเราอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตซ่อนอยู่?

  • แต่ใครที่กำลังรู้สึกแบบดังกล่าวอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะแท้จริงแล้ว อาการซึมหลังหยุดยาวนี้ สามารถพบได้ทั่วไป และถ้าหากอยากรู้ว่ามันเกิดจากอะไร ติดตามได้ที่นี่

Post-Holiday-Blues-SPACEBAR-Thumbnail
โดยอาการซึมกระทือหลังวันหยุดยาว มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Post-Holiday Blues” หรือ “Post-Vacation Syndrome”เป็นความรู้สึกโศกเศร้าชั่วคราวที่เกิดขึ้นเมื่อคุณต้องกลับมาเริ่มงานวันแรกหลังได้พักยาวๆ โดยจะมีกลุ่มอาการตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนดังนี้ บางคนก็รู้สึกเหนื่อยล้า หมดไฟ เมื่อมองงานปึกใหญ่ที่มาตั้งตรงหน้าก็โศกเศร้าเหงาเป็นหมาหงอย รู้สึกเฉื่อยชาไม่อยากทำอะไร แทบอยากจะขอให้โดเรม่อนมีจริง เพื่อย้อนเวลากลับไป 2 วันก่อนที่กำลังสนุกสนานอยู่ให้รู้แล้วรู้รอด  
 
อาการเหล่านี้มันก็ช่างขัดสามัญสำนึกของคนเรา ที่มักจะคิดว่าการได้พักผ่อนหย่อนใจต้องทำให้เราหายเหนื่อยกลับมาพร้อมสู้งาน พาลให้หลายๆ คนอาจจะตั้งคำถามถึงสภาพจิตใจ ไปจนถึงดูถูกตัวเองว่าทำไมเราถึงได้เป็นคนขี้เกียจไร้จุดหมายไปเสียอีก ซึ่งแท้จริงแล้ว อาการนี้แทบจะพบได้ทั่วไปในผู้คนทั่วทั้งโลก โดยองค์กรพันธมิตรผู้ป่วยโรคทางจิตแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (US National Alliance on Mental Illness) หรือ NAMI ได้ประเมินว่าจากผู้คนทั่วโลกมีถึง 64 เปอร์เซ็นต์ ที่ประสบกับสภาวะนี้ 
 
และสาเหตุที่เกิดภาวะนี้ขึ้นก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งระดับฮอร์โมน หรือ อะดรีนาลีนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันใด จากเหตุการณ์สำคัญ หรือวันหยุดยาว ที่กิจวัตรของเราเปลี่ยนไป อาจจะตื่นเต้น มีความสุขมากขึ้นแบบพรวดพราด และถูกเปลี่ยนกลับมาอย่างกระทันหัน ก็ล้วนส่งผลต่อสภาพจิตใจเราทั้งสิ้น 
 
หรือทั้งปัจจัยภายนอกที่อาจจะเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเราในช่วงวันหยุดยาว ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญในสมการนี้เช่นกัน  
 
1.การดื่มแอลกอฮอล์ ที่ในวันหยุดยาวร่างกายเราอาจจะได้รับแอลกอฮอล์มากเป็นพิเศษ และอย่างที่รู้กันดีว่าการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาอาจจะมีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจในหลายรูปแบบ อาการซึมๆ เศร้าๆ ก็เป็นหนึ่งในนั้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7Eaz2MuGZpp4Ol5MZVSPzr/083f869042b5d7347e399d5d7bbd4adf/Post-Holiday-Blues-SPACEBAR-Photo01
2.การพักผ่อน แม้วันหยุดยาวจะมีไว้พักผ่อน แต่สำหรับบางคนการไปเที่ยวที่ต่างๆ หลายๆ ที่ หรือถูกผู้คนดึงดูดให้ทำกิจกรรมต่างๆ นาๆ ในช่วงหยุดยาว บางครั้งก็อาจจะเกิดอาการพักผ่อนไม่เพียงพอขึ้นได้ ซึ่งมันส่งผลอย่างยิ่งต่อความเหนื่อยล้าเมื่อกลับมาทำงาน 
 
3.การกิน บ่อยครั้งที่กิจกรรมในวันหยุดมักมุ่งเน้นไปที่อาหารการกิน ซึ่งการทานอาหารที่เยอะเกินปกติมากๆ โดยเฉพาะหากเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็ล้วนมีผลต่อระดับฮอร์โมน และสุขภาพของคุณทั้งสิ้น 
 
4.ภาวะทางการเงิน การใช้จ่ายมากเกินไปในวันหยุด จนส่งผลต่อปัญหาการเงิน ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในจิตใจลึกๆ ที่พัฒนามาเป็นอาการเครียด หรือ หดหู่ได้เช่นกัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1Y305RnRDXuGF5zTf8ZWno/c3a2dcbd40179a04b003d3030dff749b/Post-Holiday-Blues-SPACEBAR-Photo02
พึงระลึกไว้เสมอว่าภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดนี้เป็นอาการเพียงชั่วคราวและหายได้เองตามธรรมชาติ เพียงคุณเปิดใจยอมรับพูดคุยกับครอบครัวเพื่อนฝูง หรือ เพื่อนร่วมงาน แลกเปลี่ยนภาวะที่เผชิญอยู่ ก็จะพบว่าอาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณคนเดียว การมีเพื่อนร่วมทางจับมือไปด้วยกันก็จะทำให้สภาพจิตใจคุณกลับเข้ารูปเข้ารอยเร็วขึ้น ที่เหลือคุณก็อาจจะใช้กิจวัตรประจำวันให้ดีขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มมึนเมาและสารเสพติดไปก่อนในช่วงนี้ เชื่อว่าไม่นานภาวะนี้ก็จะหายไป 
 
แต่ถ้าหากภาวะหดหู่ที่เกิดขึ้น กินเวลายาวนานกว่าปกติ และเริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ทำให้คุณไม่อยากลุกจากเตียงออกไปทำงาน ความเศร้าที่เกิดขึ้นคงอยู่ตลอดวันแม้เลิกงานแล้วก็ตาม หรืองานอดิเรกที่เคยทำไม่สนุกและน่าดึงดูดใจอีกต่อไป ความรู้สึกขี้เกียจเลยเถิดไปจนมีความคิดลบๆ กับตัวเอง ภาวะเศร้าที่คุณกำลังเผชิญอยู่อาจจะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า Post-Holiday Blues เราขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งให้คุณรีบปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจทันที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์