รู้จักอาการ ‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น’ ถึงฉันจะเหนื่อยแต่ฉันจะไม่ยอมนอน!

16 มีนาคม 2566 - 09:33

JOY-LIFE-Revenge-Bedtime-Procrastination-SPACEBAR-Thumbnail
  • ทำความรู้จักและวิธีแก้ไขอาการ ‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น (Revenge Bedtime Procrastination)’

เวลาล่วงเลยผ่านไป จนดึกดื่น ทั้งที่วันนี้เราก็เหนื่อยมากแล้ว แต่ทำไมเราถึงไม่ยอมนอนสักที ยังมีอะไรที่อยากทำอีกเยอะแยะเลย เรื่องนอนไว้ก่อนละกัน พอมองเวลาอีกที ตายละหว่า จะเช้าอยู่แล้ว ‘ขอโทษนะร่างกาย ฉันไม่ยอมให้นายได้พักผ่อนเลย’ และนี่คืออาการที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘Revenge Bedtime Procrastination’ หรือ ‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น’ ที่ไม่ใช่อาการของคนนอนไม่หลับ แต่คืออาการของคนไม่ยอมนอน!

‘แก้แค้นตัวเองในตอนกลางคืน’ เพื่อชดเชย ‘เวลาที่เสียไปในตอนกลางวัน’ 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวันเวลาในสมัยนี้เป็นสิ่งที่มีจำนวนจำกัด และกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ก็มีทั้งเรื่องที่อยากทำและเรื่องที่ไม่อยากทำ จึงไม่แปลกเลยที่ช่วงเวลากลางคืนจะเป็นช่องว่างของเวลาที่ยังพอหลงเหลือให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมหนักๆ อาจเป็นเพียงการเล่นโทรศัพท์มือถือ ดูหนัง เล่นเกม เพื่อหาความพึงพอใจใ่ห้ตัวเอง ชดเชยให้กับเวลาที่เสียไปในแต่ละวัน พอรู้ตัวอีกทีเวลาก็ล่วงเลยผ่านไปจนดึกดื่นมากเสียแล้ว ซึ่งคนส่วนมากที่กำลังประสบปัญหานี้มี ‘ทัศนคติเชิงลบต่อเวลา’ และมองว่า ‘เวลาเป็นอนาคตที่ไม่ดี’ จึงนำมาสู่ความวิตกกังวล และความเครียดได้ 

“ที่ไม่ยอมปล่อยให้ร่างกายของตัวเองได้พักผ่อน ก็เพราะฉันยังไม่พอใจกับเวลาที่เสียไปในวันนี้นะสิ!”

ผลเสียจาก ‘การไม่ยอมนอน’ แม้ร่างกายจะ ‘ต้องการนอน’

  • คุณภาพการนอนแย่ลง ระยะเวลาการนอนสั้นลง และนอนหลับไม่สนิท
  • ความเหนื่อยล้าประจำวันที่เพิ่มขึ้น ร่างกายมีแนวโน้มที่จะเหนื่อยง่าย และเหนื่อยกว่าปกติเวลาทำกิจกรรมต่างๆ
  • ความสามารถในการตัดสินใจลดน้อยลง สามารถก่อให้เกิดอาการคิดช้า สมาธิสั้น ความจำไม่ดี
  • ความสามารถในการควบคุมอารมณ์น้อยลง สามารถก่อให้เกิดอาการวิตกกังวล เครียด หงุดหงิดง่าย ฟุ้งซ่านกว่าปกติ
  • ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน
*ต้องระวังกันเป็นพิเศษกับแสงสีฟ้า (Blue Light) หรือแสงของหน้าจอสมาร์ตโฟน, คอมพิวเตอร์ เพราะเจ้าแสงสีฟ้านี้มีส่วนยับมีส่วนยับยั้งในการผลิตฮอร์โมน ‘เมลาโทนิน (Melatonin)’ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับและการตื่นของเรา

วิธีการปรับพฤติกรรมตัวเองจากพฤติกรรม ‘การไม่ยอมหลับยอมนอน’

แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันไม่ได้ อาจจะค่อยๆ เริ่มปรับกันไปยังไม่ต้องถึงขั้นหักโหม แต่ถ้าหากทำสิ่งเหล่านี้ได้ จะส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจของคุณอย่างมากเลยนะ
  1. ‘รักษาเวลาการเข้านอน และการตื่นนอนให้สม่ำเสมอ’ รวมถึงวันที่ไม่ได้ไปทำงาน 
  2. ‘หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์หรือคาเฟอีน’ ในช่วงบ่ายหรือเย็น 
  3. ‘หยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน’ เป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง 
  4. ‘หาวิธีผ่อนคลายตัวเองก่อนนอน’ เช่น การอ่านหนังสือ การนั่งสมาธิ หรือยืดเส้นยืดสายเบาๆ  
  5. ‘อาบน้ำอุ่นก่อนนอน’ เพื่อช่วยลดความเครียด และสร้างความสบายตัวให้กับร่างกาย 
  6. ‘จัดการความคิดความรู้สึกโดยการเขียนไดอารี’ หรือประสบการณ์ที่ได้พบเจอในแต่ละวัน 
  7. ‘จัดเวลาสำหรับการทำสิ่งที่อยากทำในแต่ละวัน’ และ ‘กำหนดขอบเขตของการทำงาน’ 
  8. ‘สร้างสภาพแวดล้อมในห้องนอนที่เหมาะสม’ เช่น การทำห้องให้มืดและสงบ มีเครื่องนอนที่นุ่มสบาย 
  9. ‘หมั่นรับประทานอาหารประเภทถั่ว เมล็ดพืช’ ซึ่งเป็นแหล่งของกรดอะมิโนทริปโตเฟน ช่วยในการผลิตเมลาโทนิน
หากพบว่าคุณมีปัญหาด้านการนอนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนและปรับพฤติกรรมการนอนของคุณ แต่อย่างไรก็ตามยานอนหลับไม่ใช่ทางออกสำหรับสุขภาพที่ดีนัก และอาจก่อให้เกิดผลเสียได้อย่างมากเช่นกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1yM4S30UZQ9hV5e2X9lfno/a269cb1752f705c1b99567b397f24b8c/_______________________________

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์