JOY LIFE: เช็กสัญญาณเตือน เครียดสะสม อาการที่หลายคนคิดว่าไม่เป็นไร

13 กุมภาพันธ์ 2566 - 03:16

JOY-LIFE-cumulative-stress-SPACEBAR-Hero
  • เช็กสัญญาณร่างกาย กับอาการเครียดสะสม เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะอาจจะสายเกินไป

ไม่ใช่แค่วัยทำงานเท่านั้นแล้วในตอนนี้ ที่จะเกิดภาวะเครียดสะสม แต่น้องๆ วัยเรียน ที่ตอนนี้การศึกษาประเทศไทยมีการสอบแบบถี่ยิบถี่ย่อย จนทำให้น้องๆ นักเรียนหลายคนมีสภาวะกดดัน กับการอ่านหนังสือเพื่อสอบ สอบ สอบ และสอบ ทำให้พลาดต่อการสังเกตสัญญาณที่ทางร่างกายส่งเสียงเตือน รวมทั้งเหล่าวัยทำงานที่ต้องแบกรับความกดดันจากทั้งงานและเพื่อนร่วมงานด้วย 

ซึ่งผลกระทบสำหรับอาการเครียดสะสม ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา เพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วขึ้น กล้ามเนื้อเกร็งตัว และความดันโลหิตสูงขึ้น แต่หากมีความเครียดสะสม ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงขึ้นจะเริ่มส่งผลเสียต่อร่างกาย และอาจนำไปสู่โรคหัวใจ เช่น หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองได้ 

และจากผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างอายุ 35–70 ปีที่ไม่มีโรคหัวใจ พบว่าความเครียดรุนแรงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และการเสียชีวิต 
เพื่อไม่ให้ช้าเกินกว่าจะแก้ไข นี่คือสัญญาณของความเครียดสะสม ที่กำลังจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงขึ้นจะเริ่มส่งผลเสียต่อร่างกาย และอาจนำไปสู่โรคหัวใจได้ โดยอาการหลักๆ นั้น ประกอบด้วย
  • ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน 
  • กล้ามเนื้อตึง ปวดตามร่างกาย เช่น ไหล่ หลัง 
  • หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก 
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย หมดแรง 
  • นอนไม่หลับ 
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ 
  • ความต้องการทางเพศลดลง 
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้เจ็บป่วยบ่อย เช่น เป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ 
  • รู้สึกเหมือนไม่สามารถควบคุมสมาธิได้ ว้าวุ่นใจ ไม่มีสมาธิ หลงลืมและหงุดหงิดง่าย  
  • รู้สึกเศร้า หมดหวัง มองโลกในแง่ร้าย และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า  
  • กระวนกระวาย เดินไปมา และกัดเล็บ  
  • มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด และเล่นการพนัน 

หากมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ควรจัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสมก่อนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการบริหารเวลา จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ ปรับความคิดให้เป็นเชิงบวกมากขึ้น หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด และลองหางานอดิเรกเสริมเพื่อช่วยให้สมองได้มีการผ่อนคลาย รวมทั้งการพักผ่อนที่เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและจิตใจ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์