JOY LIFE: ปวดประจำเดือน อาการที่ห้ามมองข้าม เพราะมันมีรุนแรงเทียบเท่าหัวใจวาย

26 เม.ย. 2566 - 04:04

  • ศาสตราจารย์ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์แห่ง University College London ได้ออกมาพูดแล้วว่า อาการปวดประจำเดือนของผู้หญิง มีความเจ็บปวดเทียบเท่ากับอาการหัวใจวาย

JOY-LIFE-periods-as-painful-as-heart-attacks-SPACEBAR-Thumbnail
เมื่อพูดถึงอาการปวดประจำเดือนของเพศหญิง หลายๆ คนมักจะพูดว่า “กินยาแก้ปวดไป เดี๋ยวก็หาย” แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่นั้น เพราะว่า ยาแก้ปวดจำพวกพาราเซตามอล แทบจะไม่ได้บรรเทาอาการปวดได้อย่างแท้จริงเลยสักครั้ง  

ส่วนยาแก้ปวดประจำเดือนที่หลายๆ คนคุ้นเคยอย่างดี ที่มีชื่อทางการค้าว่า ‘พอนสแตน’ (Ponstan) และยี่ห้ออื่นๆ เช่น ‘โกเฟน’ (Gofen) ซึ่งตัวยาทั้ง 2 นี้ มีคุณสมบัติเป็นยาต้านการอักเสบ และบรรเทาปวดระดับน้อยไปจนถึงระดับปานกลาง เช่น ปวดฟันหลังผ่าตัด ปวดประจำเดือน ปวดกระดูก นอกจากนั้นยังใช้ลดอาการไข้ได้ด้วย 

แต่ว่าเจ้ายาที่กล่าวมา มันแก้ปวดได้จริง แต่ไม่ควรกินเยอะเกินไป ไม่ควรเกิน 500 มิลลิกรัมต่อครั้ง และไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน อาการปวดทั่วไปไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 7 วัน ซึ่งในด้านของผลข้างเคียงการรับยานี้อย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดแตก โลหิตจาง ภาวะซีด ระคายเคืองในช่องท้อง ท้องผูก บางคนก็ท้องเสีย เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ผิวหนังบวม หอบหืด ปวดศีรษะ ง่วงนอน หงุดหงิด หรืออันตรายถึงขนาดเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ 

แต่ถ้าถามว่า “ไม่กินยาได้หรือไม่ มันก็แค่อาการปวดท้อง ปล่อยไว้สักแป๊บเดี๋ยวก็หาย” ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่ปวดท้องจนเป็นลมมาแล้วนั้นบอกเลยว่า การไม่กินยาเพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือนนั้น ไม่สามารถทำได้จริงๆ  

จอห์น กุยเลโบด์ (John Guillebaud) ศาสตราจารย์ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์แห่ง University College London ได้บอกว่า อาการปวดประจำเดือนหรือการมีประจำเดือนที่เจ็บปวดได้รับการอธิบายโดยผู้ป่วยว่า “รู้สึกเหมือนว่าจะเกือบเป็นโรคหัวใจวาย” 

ความทรมานที่เกิดขึ้นกับหญิงสาวที่มีประจำเดือน มีหลากหลายสาเหตุมากมาย และหนึ่งในสาเหตุนั้น มาจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เพราะมันทำให้เซลล์ที่คล้ายกับที่พบในเยื่อบุมดลูกเติบโตที่อื่นในร่างกายด้วย และอาจทำให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น ปวดประจำเดือน อ่อนเพลีย ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ และแม้แต่ภาวะมีบุตรยาก 

ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งต้องใช้เวลา 7 ปีครึ่งในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื่องจากการขาดการวิจัยและความตระหนักที่น่าเป็นห่วง และทางเลือกในการรักษายังมีจำกัด ในทำนองเดียวกันสาเหตุของประจำเดือนยังไม่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ 

ดร. เจน กันเตอร์ (Dr. Jane Gunter) นรีแพทย์ ยังได้ระบุในเว็บบล็อกส่วนตัวว่า อาการหัวใจวาย สำหรับผู้หญิงนั้น ไม่ได้เจ็บปวดเสมอไป เพราะหากคุณกำลังรอให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากอาการหัวใจวาย กว่าจะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์หัวใจวายหรือไม่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะอาการหัวใจวายมักไม่ชัดเจนหรือมีอาการปวดเล็กน้อยเท่านั้น นั่นคือสาเหตุที่คนจำนวนมากมองข้ามมันไป และหลายคนยังคิดว่ามันเป็นแค่อาการท้องอืดท้องเฟ้อด้วยซ้ำ  

ซึ่งนอกจากนี้กว่า 40% ของผู้หญิง แทบจะไม่มีอาการปวดหัวใจด้วยซ้ำ ทั้งที่กำลังเป็นโรคหัวใจ มันจึงอันตรายมากสำหรับผู้หญิง หากคิดว่าอาการหัวใจวายควรจะเจ็บปวดใกล้เคียงหรือมากกว่าการปวดประจำเดือน และจากงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบว่า สัดส่วนของผู้หญิงที่ไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บหน้าอก หรือรู้สึกสบายดีในช่วงเกิดอาการหัวใจวายนั้น  มีมากกว่าผู้ชาย และไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเลย แต่มันแสดงออกน้อยมาก จนไม่สามารถรับรู้ได้ เพราะความเจ็บปวดอวัยวะภายในเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์