JOY LIFE: นั่งนานเกินไป นอกจากออฟฟิศซินโดรมแล้ว ยังเสี่ยงเสียชีวิตไม่รู้ตัว

20 เม.ย. 2566 - 07:23

  • กรมอนามัย เตือน นั่งนานเกินไป เสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

  • ผลวิจัยชี้ชัด คนไทยกว่า 76% นั่งนานเกิน 7 ชั่วโมง อันตรายถึงชีวิต

JOY-LIFE-sitting-Behavior-Thais-SPACEBAR-Hero
ทุกคนทราบดี การนั่งทำงานด้วยท่าเดิมเป็นระยะเวลานานๆ จะก่อให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ซึ่งก็คือ โรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศ เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) เนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง จะมีอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณ คอ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ 

แต่ล่าสุด ทางกรมอนามัย ได้เผยผลวิจัยออกมาแล้วว่า คนไทยกว่า 76%  แต่นั่งนานกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งในกรณีนี้ อันตรายมากๆ และเสี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 

โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย (IHPP) ศึกษาวิจัยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย 
ซึ่งผลวิจัยชี้ว่า ในปี 2564 คนไทยที่มีอายุ 18 – 80 ปี จำนวน 78,717 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 76 มีพฤติกรรมเนือยนิ่งโดยการนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ 

ส่วนสาเหตุหนึ่งที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง หรือพฤติที่มีการนั่งอยู่กับที่นานๆ สูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เช่น การเปลี่ยนจากการทำงานภาคเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม เป็นรูปแบบการนั่งในห้องทำงานแทน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำ 

ผลยังชี้อีกว่า คนเมือง มีสัดส่วนกิจกรรมทางกายในนันทนาการ และการเดินทางมากกว่าคนชนบท เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพในการเข้าถึงสถานที่นันทนาการ โครงสร้างพื้นฐานในการเดิน ไม่ว่าจะเป็น ทางเดินเท้า การผังเมือง รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ ในเมืองดีกว่าชนบทอยู่มาก 

และในผลวิจัยยังบอกว่า ผู้หญิงมีอัตราส่วนการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอมากกว่าผู้ชาย แสดงถึงความตื่นตัวต่อการขยับร่างกายในชีวิตประจำวันรวมถึงการออกกำลังกายในเพศหญิงด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์