JOY LIFE: ใน 1 วัน คุณปล่อยให้สิ่งต่างๆ ในโทรศัพท์ ดูดเวลาชีวิตของคุณอยู่หรือเปล่า

6 กันยายน 2566 - 07:30

smartphone-steal-life-SPACEBAR-Thumbnail
  • ทุกวันนี้มนุษย์หันหน้าให้กับโทรศัพท์และโลกโซเชียลมากกว่าหันหน้าคุยกัน แล้วใน 1 วัน คุณเงยหน้ามาใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริงกี่ชั่วโมงกัน

โลกที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาของบางสิ่งที่ไวจนเราเกือบจะตามไม่ทัน เช่น อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ที่พัฒนาจนเกือบจะใช้ไม่เป็น หรือโลกออนไลน์ ที่ทุกวันนี้เกือบจะทำให้ทุกคนเข้าสู่สังคมก้มหน้าแบบเต็มตัว 

จากการวิเคราะห์ของ We Are Social ระบุว่า ช่วงต้นปี 2022 คนไทยเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือแล้ว 136.5% ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก กล่าวคือ ในตอนนี้คนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะมีโทรศัพท์คนละ 1 เครื่องแล้วเรียบร้อย ซึ่งคนไทยใช้เวลาบนมือถือกว่า 92.5% กับแอป และมีแค่ 7.5% เท่านั้นที่ใช้ไปกับการท่องเว็บ จากจำนวนเวลาที่ใช้มือถือทั้งหมด 4 ชั่วโมง 48 นาที เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 6.7% เลยทีเดียว 

แต่ถ้าลองย้อนกลับไป ฉันที่ตอนนี้ในวัย 27 ปี มองไปในช่วงที่ยังอยู่ชั้นประถม ตอนที่ฉันมีอายุ 7-9 ขวบเป็นช่วงที่กลับมาจากโรงเรียนแล้วทำการบ้าน จากนั้นก็ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ในละแวกบ้าน แล้วกลับเข้าบ้านมากินข้าวเย็น แล้วเตรียมตัวเข้านอน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ต้องรีบตื่นเช้ามานั่งดูการ์ตูนช่อง 9 และละครที่เรียกกันว่า จักรๆ วงศ์ๆ ช่อง 7 มันคือเวลาที่มือของฉันจับแต่ของเล่นเด็ก จับตุ๊กตาบาร์บี้แต่งตัว การเล่นพ่อแม่ลูก หรือกระโดดหนังยาง การวิ่งเล่นกลางสายฝนจนโดนคุณแม่ดุ  

ความสนุกในวัยเด็กสำหรับเด็กอายุ 7-9 ขวบเมื่อ 20 ปีก่อนก็มีแค่นี้ แต่ตอนนี้ เราสามารถพบเจอเด็กวัย 7-9 ขวบได้ตามโลกออนไลน์ กับอัดคลิปวิดีโอลงแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันออนไลน์ เด็ก 7-9 ขวบหรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ทุกวันนี้บางคนมีโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองแล้ว บางส่วนมีกลุ่มแชทในแอปฯ เขียว เพื่อคุยแชทกับเพื่อนๆ แล้ว เด็กสมัยนี้ไม่น่าจะรู้จักการ์ตูนแล้ว 

หากย้อนกลับไปช่วง 10 ปีก่อน ช่วงที่ฉันมีอายุ 17 ปี เป็นช่วงเวลาของการเรียนหนังสืออย่างเข้มข้น เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย การทุ่มเทอ่านหนังสืออย่างหนัก รวมทั้งเรียนพิเศษจนแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน ในตอนนั้นความล้ำสมัยมีเพียงโทรศัพท์ Blackberry โทรศัพท์ที่มีปุ่มกดเยอะๆ ความสนุกของการใช้ Blackberry คือ การบอร์ดพิน หลายๆ คนอาจจะจำได้ดี กับคำว่า “ซอรี่บอร์ด” ซึ่งเป็นการส่งต่อพินบีบี ที่เป็นคล้ายกับ ID ของแอปฯ ไปให้คนอื่นๆ เพื่อเป็นการกระจายและหาเพื่อนคุย  

ในสมัยนั้นการพกโทรศัพท์ไปโรงเรียน ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎระเบียบของโรงเรียนอยู่ แน่นอนว่าหากครูพบเจอ อาจจะโดนยึดและต้องให้ผู้ปกครองมาติดต่อรับเครื่องโทรศัพท์ที่ห้องปกครอง ส่วนเด็กที่บ้านไกล สามารถเอาโทรศัพท์มาฝากครูประจำชั้นในตอนเช้าและมาขอรับคืนในตอนเย็นได้ เพื่อป้องกันการหยิบขึ้นมาเล่นระหว่างเรียน  
เพราะในสมัยเมื่อ 10 ปีก่อนยังเป็นการเรียนรู้ในตำราเท่านั้น ยังไม่มีการค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ต แต่ถึงจะมีก็ไม่ได้เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากนั้น หลายๆ สถานศึกษาจึงมองว่า การพกโทรศัพท์ระหว่างโรงเรียนไม่ใช่สิ่งจำเป็นอะไร แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่ใช่ ข้อสอบเกร็งต่างๆ หาได้ตามโลกออนไลน์ ความรู้ต่างๆ รายงานการวิจัย สามารถหาได้ตามโลกออนไลน์ทั้งหมด  

แต่ทุกวันนี้ โทรศัพท์ไม่ได้มีไว้ใช้แค่การหาข้อมูล การค้นคว้าหาเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว โลกออนไลน์มีความกว้างมากขึ้น ผู้คนติดโทรศัพท์มากขึ้น แอปฯ น้ำเงิน แอปฯ นกฟ้า เป็นแอปพลิเคชันที่ยังคงยอดฮิตอยู่ มีทุกเรื่องราวที่น่าสนใจในแอปฯ นั้นๆ จนตอนนี้โลกเริ่มเข้าสู่สังคมก้มหน้า  

ลองมองรอบตัวแล้วทุกคนจับโทรศัพท์ ในรถไฟฟ้า 1 ขบวน มีคน 200 คน จะมีคนก้มมองโทรศัพท์มือถือตัวเองไปแล้ว 190 คน ทุกคนเห็นเป็นเรื่องปกติแล้ว ตาเราแทบจะไม่ได้มองสิ่งรอบข้างแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ที่ถ่ายทอดผ่านสายตาเราทางหน้าจอโทรศัพท์  

แล้วรู้หรือไม่ ว่าตอนนี้มีโรคที่ชื่อว่า Text Neck Syndrome ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการก้มหน้าเพื่อมองจอโทรศัพท์มือถือ หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นเวลานานเกินไป โดยมีอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่าและไหล่ รวมไปถึงความเสื่อมของกระดูกข้อต่อ หรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอ  

แล้วคุณลองคำนวณดูสิว่า ใน 24 ชั่วโมง เราเงยหน้าออกมาจากโทรศัพท์กันกี่ชั่วโมง แล้วถ้าภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าเราไม่จับโทรศัพท์เลย เราจะทำได้หรือไม่  

บางทีถ้าหากเราหันไปให้ความสนใจกลุ่มคนรอบข้างบ้าง อาจจะช่วยลดการเกิดอาการ Text Neck Syndrome ได้ และการสร้างความสุขในครอบครัว และการสร้างความสุขให้กับคนรอบข้าง ไม่จำเป็นต้องทำผ่านการพูดคุยผ่านแชท หรือวิดีโอคอล แต่เพียงเงยหน้าจากโทรศัพท์ มาคุยกันบ้างก็คงดีไม่น้อย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์