Space Hype : จุดเริ่มต้นของวัยรุ่นรักรองเท้า สู่ผู้จัดงานมีตติ้งคนรักรองเท้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย ‘นัท’ สิรภัทร เตชะสกุลนภาพร

3 ก.พ. 2566 - 09:30

  • Sneaker Party Thailand งานรวมพลคนรักสนีกเกอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นโดย ‘นัท’ สิรภัทร เตชะสกุลนภาพร คนที่รักรองเท้ามาตั้งแต่วัยมัธยม จนลุกขึ้นมาเป็นผู้ขับเคลื่อนวงการรองเท้าสนีกเกอร์ และสตรีทแฟชั่นในบ้านเรา

Nut-Sneaker-Party-Interview-SPACEBAR-Thumbnail
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ในปี 2016 มีงานๆ หนึ่งที่คนรักรองเท้าสนีกเกอร์ตอนนั้นน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีกับงาน Sneaker Party Thailand งานที่เป็นเหมือนกับคอมมูนิตี้ที่รวมคนรักรองเท้ามาไว้ในงานเดียวกัน แถมยังมีผู้เข้าร่วมงานในปีแรกมากถึงหลัก 4,000 คน 

ในเวลานั้นผู้ที่ริเริ่มหรือเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมาคือ เด็กวัยรุ่นผู้ยังอยู่ในรั้วมหาลัยอย่าง ‘นัท สิรภัทร เตชะสกุลนภาพร เด็กหนุ่มที่หลงรักในรองเท้าสนีกเกอร์มาตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น ที่อยากจะรวมคนที่หลงใหลในสิ่งเดียวกับเขาให้ได้มาพบปะ พูดคุยกันแบบจริงจัง จนกล้าทำในสิ่งที่หลายคนอาจจะมองว่า “เกินตัววัยรุ่น” คนนี้ไปมากๆ เพราะจากแค่คนบ้ารองเท้าธรรมดาๆ ที่เป็นทั้งคนซื้อและคนขาย กลายมาเป็นหนึ่งในคนที่ขับเคลื่อนวงการสนีกเกอร์ไทยในปัจจุบัน 

เวลาผ่านไป 7 ปี เขาเติบโตขึ้นมากจากประสบการณ์ที่ตัวเองคลุกคลีอยู่ในโลกรองเท้าใบนี้ สู่การพัฒนางานปาร์ตี้ของตัวเองที่ใครๆ ก็อยากมาร่วมงาน ทั้งคนทั่วไปจนไปถึงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่อยากมาร่วมงานกับเขา จากวันนั้นถึงวันนี้ จุดเริ่มต้นของ

นัท’ สิรภัทร เตชะสกุลนภาพร คืออะไร ติดตามไปพร้อมกันได้เลยครับ 

 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/m1ZS12TKjr2mxfBWZIcDJ/9b21e42c457f563c5c9962d5f1277c14/Nut-Sneaker-Party-Interview-SPACEBAR-Photo01

แนะนำตัวกันก่อน 

นัท: นัท’ สิรภัทร เตชะสกุลนภาพร เรียนจบมาประมาณสัก 4-5 ปีแล้ว ตอนนี้อายุ 28 ปีครับ 
 

จุดเริ่มต้นของการชอบสตรีทแฟชั่น 

นัท: เริ่มตอนอายุประมาณ 13-14 ผมซื้อตามเพื่อน เพราะเราอยู่ในโรงเรียนเอกชนที่แบบเพื่อนๆ มีเงิน เราก็เห็นเพื่อนใส่รองเท้าที่แบบเฮ้ย Nike SB อะไรแบบนี้ครับ ช่วงนั้นนเราเพิ่งจะอยู่ ม.2 หรือ ม.3 เราเห็นเพื่อนมี แล้วเราอยากได้ ก็เลยไปหาซื้อ เราก็เลยไปคุยกับที่บ้านจนได้มาคู่หนึ่ง แต่ก็เป็นรุ่นปกติ ไม่ได้ดีมากมาย เสร็จปุ๊บก็ไปซื้ออีกคู่นึงมา ราคาประมาณซัก 5,000 - 6,000 บาท ซึ่งตอนนั้นแพงมากนะครับ แต่สรุปแล้วเราได้ของปลอมมา มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเริ่มดูรองเท้าเป็นว่าอันไหนแท้ อันไหนปลอม  

มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมเราไม่รู้เลยว่ารองเท้ามีแท้ มีปลอม ด้วยความที่ตอนนั้นเด็กมาก เพราะผมไม่เคยคนชอบแต่งตัว สำหรับแฟชั่นผมเลยสนใจรองเท้าเป็นอย่างแรก พอเราศึกษามันมากๆ เราก็เริ่มติดกับมัน พอช่วง ม.3 ผมก็เริ่มรับสั่งของ โดยที่เราสั่งไม่เป็นด้วย ผมไปรับออเดอร์จากที่หนึ่ง แล้วไปสั่งอีกที่หนึ่งมาขายเพื่อนในโรงเรียน ทำมาเพื่อหาเงินซื้อรองเท้า 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4jiEvyuG2AHa7oRCCyNvdA/3f2a1b353d1faf2cd670f5c74c4d671a/Nut-Sneaker-Party-Interview-SPACEBAR-Photo02

ตอนเด็กศึกษาข้อมูลจากไหน 

นัท: เว็บบอร์ดครับ สมัยนั้นมีเว็บบอร์ดอ ผมเข้าไปในช่วง Soul4Street น่าจะเป็นช่วงที่เพิ่งย้ายมาจาก Sneaker Society เพราะผมจำได้ว่าเว็บนี้ล่มมาแล้วไม่รู้กี่รอบ เปลี่ยนเว็บมาหลายรอบมาก เราก็ศึกษาจากในนั้น ส่วนซื้อขายก็จะไปอยู่ในเว็บ Overclockzone ซึ่งสมัยก่อนผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเว็บนี้ขายของไอที ผมคิดว่ามันเป็นเว็บขายเสื้อผ้ารองเท้าด้วยซ้ำ คือเราเราอยู่กับมันมากๆ พอโตขึ้นมาหน่อยเราก็เจอรองเท้ามากขึ้น เพราะผมเริ่มจาก Nike SB แล้วก็มารู้จัก Jordan เพราะว่าอยากได้รองเท้าบาสสักคู่ ตอนนั้น ม.ต้น เล่นบาสกับเพื่อน แล้วก็เหมือนเดินห้างเจอนี่แหละ ผมไปกับพ่อแม่ก็ขอซื้อ Jordan 1 สีขาว/แดงเมทัลลิค ซึ่งแม่ผมใช้ส่วนลดทุกอย่างจนเหลือคู่ละไม่กี่พัน บวกกับด้วยความที่สมัยก่อน รองเท้าพวกนี้มันหาง่ายกว่านี้ แต่ตอนนั้นไม่มีคนสนใจ เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่าเริ่มรู้จักรุ่นอื่นมากขึ้น  

พอเข้าช่วงเรียน ปวช. เป็นเตรียมวิศวะ ผมก็เริ่มรู้จัก Vans พอช่วงปีสองก็รู้จัก Converse USA ก็เลยผันตัวเองมาขาย Converse USA เพราะผมมีญาติอยู่ญี่ปุ่น ผมเลยกดของจากญี่ปุ่นมาส่งไทยได้เลย เว็บที่ต้องมีสมาชิกเฉพาะคนในญี่ปุ่น ผมก็กดได้ แล้วขายดีมากแบบสั่งมา 6-7 คู่ ใช้เวลาขายไม่ถึงอาทิตย์ก็หมด พอเริ่มเข้าสังคม Converse USA ก็เริ่มรู้จักกับพ่อค้าในจตุจักร ซึ่งพอดีรุ่นพี่ผมเป็นพ่อค้าในสวนจตุจักรอยู่แล้ว ก็เลยเริ่มสั่งของเข้ามา อย่าง Converse US เมื่อก่อนถูกมาก ผมสั่งมาจากญี่ปุ่นมันจะมีแบบ Jack Purcell 70’ ผมสั่งมาไม่ถึงหมื่น ขายได้สองหมื่น มันทำเงินง่ายและไวมาก จนตอนที่คนไทยเข้าไปซื้อเองได้เยอะขึ้น ราคาก็เลยพังทั้งตลาด  

แล้วก็เคยสั่ง Jordan จากญี่ปุ่น แล้วโดนของปลอมด้วย เป็นครั้งแรกเลยที่ซื้อของจากญี่ปุ่นแล้วเจอของปลอม เพราะเราเข้าใจมาตลอดว่าญี่ปุ่นเนี่ยชัวร์ ไม่น่ามีปลอม พอค้นไปค้นมาก็เจอว่าคนขายคือคนจีนที่อยู่ที่นั่น หลังจากนั้นผมก็เลยดูรุ่นนี้เป็น คือผมดูรองเท้าเป็นจากการที่เจอของปลอม ผมว่าจะมานั่งศึกษาจากคนอื่นมันยาก โดนด้วยตัวเองเนี่ยแหละจำที่สุดแล้ว 
 

จากความชอบ ต่อยอดมาเป็นการจัดงาน Sneaker Party Thailand ได้ยังไง 

นัท: ตอนนั้นผมรู้สึกเริ่มชอบรองเท้า ก็เลยมาเปิดกลุ่ม Adidas Thailand แล้วก็มีน้องๆ ที่รู้จักกันที่เป็นแอดมินกลุ่มต่างๆ มาคุยกันว่าเราอยากจัดมีตติ้งคนที่ชอบรองเท้ามาเจอกัน พอเราเช็คเรทในทุกๆ กลุ่ม มีคนอยากมาประมาณ 500 คน ร้านที่ไหนจะรับคน 500 คน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีพี่ที่เป็นคนสำคัญเลย เขาทำงานอยู่เซ็นทรัลโทรมาบอกว่ามีโลเคชั่นที่เซ็นทรัล สนใจไหม? ผมก็นัดคุยเลย เพราะเราอยากจัดมาก เรารู้สึกว่าตอนนั้นรองเท้ามีกลุ่มคนเล่นเก่าๆ อยู่ แต่กลุ่มคนใหม่ๆ เขายังไม่มีคอมมูนิตี้ เราเลยรู้สึกว่าอยากทำมาก พอไปคุยรายละเอียดแปปเดียวก็รับปากเลย ทั้งที่ยังจัดงานไม่เป็น  

ครั้งแรกจัดที่ เซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อปี 2016 ตอนนั้นผมเพิ่งจะขึ้นมหาลัยปี 1 หรือ ปี 2 เอง พอรับปากแล้วไปบอกพ่อ พ่อก็งงๆ ว่าอยู่ดีๆ ลูกไปจัดงานมีตติ้งรองเท้าแล้ว โดยที่เราไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าอีเวนต์จะหาเงินจากไหน เอาไปจ่ายอะไร ต้องมีอะไรบ้าง ผมต้องขอบคุณพี่คนนั้นเลยที่ปลุกปั้นกันมา เหมือนเขาคบเด็กสร้างบ้านเลย เพราะเราไม่รู้อะไรเลย เขาต้องมาสอนทุกอย่างแบบจับมือทำเลย ซึ่งสุดท้ายงานมันผ่านไปด้วยดีมากๆ ผมต้องขอบคุณ Kanye West แล้วกัน (หัวเราะ) ถ้าไม่ได้ NMD กับ Yeezy งานอาจจะไม่เวิร์ค เพราะคนเข้างานปีแรกที่จัดวันเดียว 4,000 กว่าคน พอครั้งที่สองผมลดขนาดงานลงเลยนะ เพราะรู้ช่องโหว่แล้วว่าพื้นที่มันใหญ่มาก พอลดแล้วก็โอเคขึ้น 
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5Bhc8nmOqkqPl8t8yKOELT/7f7bc3972cea06d069b99a5f28924150/Nut-Sneaker-Party-Interview-SPACEBAR-Photo03

ในช่วงงานปีแรกมีแค่รองเท้าอย่างเดียวไหม หรือเป็นแบบทุกวันนี้แล้ว 

นัท: เมื่อก่อนไม่มีแบบนี้ครับ มีแค่รองเท้าอย่างเดียวเป็นหลัก มีแค่เวิร์คช้อปเล็กๆ ที่ได้ พี่สอง Paradox มาคัสต้อมรองเท้าแล้วประมูลกัน และก็มีแข่ง Rap Battle ซึ่งผมรู้สึกผิดมาก เพราะผมไม่มีความรู้เลย ผลออกมาผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนชนะคือใคร ผมให้ทีมดูหมด ซึ่งจะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะเราให้เขาดูแล เราไม่รู้ว่าการวัดคืออะไร แต่คนที่ไม่ชนะวันนั้นมี YOUNGOHM, DAIMOND MQT ที่ดังกันหมดแล้ว แต่คนชนะคือใครก็ไม่รู้ ผมเลยรู้สึกผิดเหมือนกันที่เราทำอะไรโดยที่เรายังรู้มันไม่มากพอ แต่หลังจากนั้นก็เรียนรู้แล้วเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  

ครั้งที่สองมีคอนเสิร์ตจาก URBOYTJ ด้วย แต่ครั้งที่สามผมขาดทุนกระจุยกระจายเหมือนกัน เพราะผมจัดงานสามปีแรก ผมได้สปอนเซอร์ต่อปีทั้งหมดไม่เคยเกิน 100,000 บาท ผมยังคิดมาตลอดว่าจัดมาได้ยังไง (หัวเราะ) แต่ปีแรกกับปีที่สองมันยังไม่ขาดทุน แต่ครั้งที่สามเราอยากให้ภาพของงานมันออกมาดี จนเราตกแต่งเยอะเกินแล้วมันเกินตัว ห่วงภาพจนเข้าเนื้อตัวเอง บวกกับเทรนด์รองเท้าตอนนั้นมันเริ่มหาย คนเข้างานน้อยลง ยอดขายบัตรต่ำ ก็เลยเละเทะเลย 
 

ทำไมเทรนด์รองเท้าช่วงนั้นคืออะไร ที่ทำให้คนเงียบลง 

นัท: มันคือช่วงที่ NMD เริ่มเงียบ Jordan เริ่มซา อย่าง Jordan เนี่ยผมรู้สึกว่ามันเปรี้ยงปร้าง แต่ก็ไม่เคยไปสุดได้สักที 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4D0q5Z6hZEJweDBRlsI4z6/c9459e6b2aea7632e2c67b5ac7fdb14d/Nut-Sneaker-Party-Interview-SPACEBAR-Photo04

จากวันที่ล้มวันนั้น จนถึงงานครั้งนี้ ความแตกต่างที่ทำให้แบรนด์ใหญ่วิ่งมาหาเรา เพราะอะไร 

นัท: ต้องบอกว่ามีทั้งที่เข้ามาหา และเราเข้าไปคุยต่อรอง แต่สุดท้ายการที่เขาตอบตกลง มันทำให้เราภูมิใจมากนะว่าวันนี้เขาเชื่อมั่นเรา เพราะผมบอกกับแบรนด์ตลอดว่าถ้าเขามา ยังไงก็ขาดทุน ไม่มีแน่ๆ ยอดขายเยอะๆ เพราะงานผมไม่ได้ Hard Sale มาก แต่สิ่งที่แบรนด์จะได้คือภาพที่ออกไปมากกว่า เพราะผมมีกิจกรรมต่างๆ ที่พร้อมจะซัพพอร์ตแบรนด์ เขาก็เลยอยากช่วยเรา เพราะเราช่วยเหลือแบรนด์มาตลอดเหมือนกัน 
 

ในมุมมองคนจัดงาน มองราคารองเท้าปัจจุบันยังไงบ้าง 

นัท: ผมมองว่ามันเป็นกันทุกประเทศ จะมองว่าบ้านเราปั่นราคาก็ไม่ใช่ เพราะที่ประเทศอื่นก็เป็นแบบนี้ อย่างต่างประเทศเขาก็มองว่าการรีเซลล์เป็นรายได้ จะมองว่าขายกินเล่นกันนิดหน่อยก็ไม่ใช่ เพราะเขารวยกันเละเทะเลย จนกลายเป็นอาชีพ เป็นอีกตลาดไปแล้ว ต่อให้เราไม่พอใจ แต่ถ้าเราอยากได้ เราก็ต้องเข้าไปอยู่ในเกมนั้นอยู่ดี ผมเคยพูดตลอดว่าให้ซื้อเท่าที่ไหว ซื้อแล้วไม่ลำบาก เพราะตอนมัธยมผมเคยอยากได้รองเท้ามากจนต้องประหยัดมากๆ ตอนเช้ากินข้าวที่บ้าน กลางวันกินแค่น้ำโออิชิกล่องละ 10 บาท แล้วกลับไปกินข้าวเย็นที่บ้าน จนได้ซื้อ พอมองย้อนตอนนั้นก็รู้สึกว่าไม่น่าลำบากเลย (หัวเราะ)  

แต่ถ้าดูจริงๆ ตอนนั้นนก็ไม่เห็นทางอื่นที่จะหาเงินมาซื้อได้แล้ว ส่วนอีกอย่างที่ผมมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนคือ เมื่อก่อนรองเท้าคือของสำหรับนักสะสม แต่ปัจจุบันมันเหมือนเครื่องแสดงฐานะอย่างหนึ่ง เลยทำให้ราคามันขึ้น แล้วคนยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อมัน เพราะบางทีมันคือกระแสครับ เราไม่ได้มองว่ามันสวย แต่กระแสมันบิลด์ให้เราอยากได้ อย่างผมเคยซื้อ Yeezy Pirate Black มาในราคา 40,000 กว่าบาท ตอนแรกชอบนะ แต่ผ่านไปสักพักผมรู้สึกว่าไม่ได้ชอบขนาดนั้น ก็จะเริ่มรู้สึกเสียดาย เพราะราคามันมากเกินไปหน่อย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1EKOH9K0tPdrXU2XDDbpWw/2502ec073f6c2e1113a193fc3e560ec9/Nut-Sneaker-Party-Interview-SPACEBAR-Photo05

เคยเบื่อจนอยากเลิกเล่นรองเท้า? 

นัท: ผมเคยขายรองเท้าแบบโละทิ้งไปรอบหนึ่ง เคยอยากเริ่มทำเพจ เพราะเบื่อรองเท้า ผมไถหน้าฟีดเจอแต่รองเท้า เพราะผมไม่ได้ติดตามอย่างอื่นเลยนอกจากแฟชั่น พอเจอเยอะมันก็เบื่อมากจนมันเลี่ยน ก็เลยลองถอยออกมาสักนิด แล้วรู้สึกว่ามันดีขึ้น เพราะอย่างรองเท้าที่บ้านผมมีประมาณ 250 คู่ ก้าวเข้าบ้านเจอหนึ่งกอง ขึ้นห้องนอนเจออีกแถว เห็นละมันเบื่อเลย หันไปทางไหนก็เจอ (หัวเราะ) 
 

จากประสบการณ์ทั้งหมดที่มี เลยทำให้เราเข้าใจคนในงานว่าเขาอยากเจออะไรในงาน 

นัท: เหตุผลนั้นก็ส่วนหนึ่งครับ อีกส่วนหนึ่งคือแพสชั่นตัวเอง ถ้าคนสังเกตจะเห็นว่างานมันเปลี่ยนไปตามตัวผมนิดนึง ตอนนี้ผมอินเรื่องศิลปะ งานก็จะมีเรื่องศิลปะมากขึ้น ด้วยความที่ผมอินกับมัน แล้วก็คิดว่างานเราไม่ควรมีแค่รองเท้า ผมอยากให้มันกลายเป็นงานของ Street Culture ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า ศิลปะ เพราะผมคิดว่าถ้ามันทำได้น่าจะเป็นอะไรที่ดีครับ การที่ได้มาเจอกัน มานั่งคุยอะไรที่เราชอบเหมือนกัน หยิบรองเท้าที่ซื้อในรอบปีมาขิงกัน 
 

ความพิเศษของงานปีนี้มีอะไรบ้าง 

นัท: แบรนด์บางแบรนด์จะมีปล่อยของ Exclusive ในงาน แต่ผมยังบอกไม่ได้ เพราะเขาก็ห้ามผมบอก (หัวเราะ) ซึ่งเขาจะมาปล่อยในงานเราก่อนที่แรก แล้วค่อยปล่อยจริงตอนสิ้นเดือน และก็มีของที่ระลึกที่ทำมาเพื่องานนี้ด้วย อีกอย่างรอบนี้ผมจัดงานให้เหมาะกับคนไทยด้วยคืองานเปิดบ่ายสอง (หัวเราะ) เพราะในเมื่อเปิดเช้าคนยังไม่อยากตื่นขนาดนั้น ผมก็จัดให้บ่ายสองเลย (หัวเราะ) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5tJtfc3HZmxi4XWe9Tstp3/8d357f4356fa8bd8b88e430c53b32538/Nut-Sneaker-Party-Interview-SPACEBAR-Photo06

ประสบการณ์จากการไปงานรองเท้าของต่างประเทศ 

นัท: ผมไปงานรองเท้าต่างประเทศเยอะ ผมจะบอกว่าตัวงานมีแค่ 20 – 30 % เท่านั้นของคนจัดงาน นอกนั้นคือแบรนด์หมดเลยครับ เราเหมือนเป็นแค่คนกลางที่ดึงทุกคนมาเจอกัน อย่างตอนผมไปงานที่มาเลเซีย เขามีปล่อย New Balance “Thisisneverthat” แล้วก็มีของที่ระลึกแบรนด์ในประเทศเขาคอลแลบฯ กับแบรนด์อื่นแบบอลังการเลย มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าอยากไป  
พอตัดไปที่อีกงาน Sneaker Con ที่ลอนดอน ตอนผมไปแล้วรู้สึกว่าเหงามาก เพราะมีแต่ร้านรีเซลล์แทบจะ 100% มันเลยเหมือนไม่ได้มีสังคมเท่าไหร่ นอกจากจะไปซื้อรองเท้า คือผมอยากปรับงานตัวเองให้เป็นเหมือนงาน ComplexCon ที่อเมริกา ที่เขารวม Culture หลายๆ อย่างไว้ด้วยกัน 
 

นอกจากของท็อปๆ ในงาน มีของมือสองบ้างไหม 

นัท: มีของมือสองครับ แล้วก็มีของ Sale ด้วย เราดึงร้าน Underground Sale มาในงานนี้ด้วย เพราะเรารู้สึกว่าบางทีเขาอาจจะไม่ได้อยากของแพงหรือลิมิเต็ดมากมาย แต่เขาอาจจะอยากได้ของที่ราคาถูกและประหยัดกลับไปที่บ้าน เราอยากให้ตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่มที่มางานครับ 
 

นิยามตอนนี้ของงาน Sneaker Party Thailand 

นัท: ผมยังมองว่ามันคือมีตติ้งเหมือนครั้งแรกที่เราทำ คนชอบอะไรเหมือนๆ กันมาได้หมด จะชอบศิลปะเราก็มีให้ดู ชอบฟังเพลงเราก็มีคอนเสิร์ตให้ฟัง ชอบมาเดินดูแฟชั่นเราก็มีหมดร้านรองเท้ากับเสื้อผ้า ของกินต่างๆ ก็มีให้ครบ 
 

อนาคตของงาน Sneaker Party Thailand 

นัท: ถ้ารอบถัดไปผมยังพูดยากว่ามันจะดีกว่ารอบนี้ยังไงบ้าง แต่ผมมั่นนใจว่ามันจะดีขึ้นแน่นอน เพราะด้วยการที่เราทำงานรอบนี้ขึ้นมา ผมรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น พอเห็นข้อผิดพลาดเราพร้อมแก้และปรับปรุงเลย ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ไม่ดีปุ๊บ เราไม่ทำแบบนั้นต่อเลย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/19yEXDrTvnL4kYLkchEOjo/fd932883bad72a4c1aa31a3a1ae9f1bb/Nut-Sneaker-Party-Interview-SPACEBAR-Photo07

วงการสนีกเกอร์ของไทยจะโตขึ้นได้มากกว่านี้ไหม 

นัท: ผมมองว่าแฟชั่นในไทยไม่ได้ดร็อป แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือมันจะไปโตในสายไหนต่อไป อย่างเมื่อก่อนเป็นเทรนด์ของ Red Wing, Converse ผมว่ามันแค่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ของมัน แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งคือ หลังจากนี้คนจะใส่รองเท้าผ้าใบเยอะกว่าเมื่อก่อนแน่ เพราะคนไม่เคยรู้ว่าใส่รองเท้าผ้าใบสบายกว่ารองเท้าแตะ ไม่เคยรู้ว่าการซื้อรองเท้าแพงมันดียังไง แล้วพอตอนนี้เทรนด์มันมา คนก็เริ่มหันมาสนใจและใส่กันมากขึ้น 
 

โอกาสในการเป็นเจ้าของรองเท้ารุ่นฮิตๆ มันจะมากขึ้นไหม 

นัท: ผมมองว่ามันจะมีรองเท้าเข้าไทยมากขึ้น ถ้าคนซื้อของในช็อปมากขึ้น เพราะร้านจะออเดอร์ของเพิ่มขึ้นได้ ถ้าเขาเห็นว่าตลาดเราใหญ่ขึ้น เขาก็จะส่งของมา เดี๋ยวนี้เราบ่นว่าทำไมรองเท้าเข้าน้อยมาก แต่ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่เราต้องสั่งจากเมืองนอกอย่างเดียว ผมที่อยู่กับวงการนี้มานานมองว่าปัจจุบันเยอะแล้ว เราจะมองว่ามันเยอะจนกว่าเราจะได้มาเป็นเจ้าของ ณ ตอนนี้ผมมองว่าตลาดบ้านเราก็โตมากๆ แล้ว อย่างร้านเขาก็ช่วยหาวิธีที่แฟร์ขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทุกคน แล้วผมอยากจะบอกว่าบางทีที่เห็นผมได้ของก่อน ถ้ารุ่นไหนมาน้อยผมยังยืมมาถ่ายไม่ได้เลย ที่ได้บางทีผมขอซื้อนะ 
 

มีวิธีไหนไหมที่จะทำให้ผู้บริโภคพอใจไหม 

นัท: ไม่มีครับ แต่ละคนมีความพอใจไม่เหมือนกันครับ วิธีต่างๆ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนเลย อย่างปัญหาทุกวันนี้ที่คนรับจ้างมาต่อแถวซื้อรองเท้า เราจะไปว่าเขาก็ว่าได้ไม่เต็มปาก อย่างที่เรารู้ว่ารายได้ขั้นต่ำบางที 300 บาท แต่มาต่อแถวเขาได้ 1,000 บาท เรารู้อยู่แล้วว่า 300 มันกินไม่พอ ทำไมเขาจะไม่มาหารายได้ตรงนี้ 
 

ฝากถึงเด็กยุคใหม่ที่เริ่มชอบสตรีทแฟชั่นหน่อย 

นัท: ผมรู้สึกว่าถ้าชอบซื้อเลยครับ แต่อย่าซื้อแล้วลำบากตัวเอง อย่าซื้อมาเพื่อข่มคนอื่น ถ้าไหวแล้วไม่เดือดร้อน ซื้อเลยครับ 
 

ฝากงาน Sneaker Party Thailand หน่อย 

นัท: ฝากงานนี้ด้วยครับ เพราะว่าทีมงานผมตั้งใจกันทำมากๆ เตรียมงานมาครึ่งปีได้ วันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ จัดที่ The Street รัชดา เริ่มบ่ายสองนะครับ อย่ามาตอน 10 โมงนะครับ (หัวเราะ) 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์