สำรวจสำเพ็ง: ย่านจีนในความเปลี่ยนแปลง

23 กุมภาพันธ์ 2566 - 10:22

Sampheng-siam-chinese-arcade-SPACEBAR-Thumbnail
  • สำเพ็ง ตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย

  • ในอดีตย่านสำเพ็งเคยเป็นพื้นที่ทำเกษตร และพื้นที่ตลาดเก่าเยาวราชเคยเป็นสวนองุ่นของเจ้าสัวเนียม

  • ซอยเยาวพานิชคือซอยหนึ่งที่ยังพอหลงเหลือร่องรอยของสำเพ็งในอดีตให้เดินเที่ยวชม

สำเพ็ง ตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ที่นี่มีสินค้าทุกอย่าง อยากได้อะไรมาที่สำเพ็ง 
 
ชื่อสำเพ็งมาจากชื่อ ‘วัดสำเพ็ง’ หรือวัดปทุมคงคา วัดโบราณเก่าแก่ตั้งแต่อยุธยา ความเป็นสำเพ็ง ย่านคนจีนเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจะสร้างเมืองใหม่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างพระบรมมหาราชวัง บนที่แหล่งคนจีนในพระยาราชาเศรษฐี จึงให้ย้ายชุมชนชาวจีนไปอยู่ระหว่างวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) กับวัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคา)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5IedpYW0WITaEKK0xNdqan/264794492a556e677ff18fc6a56e6904/Sampheng-siam-chinese-arcade-SPACEBAR-Photo01
Photo: สำเพ็ง พ.ศ.2564
สำเพ็งในเวลานั้น เป็นพื้นที่ทำการเกษตร เพาะปลูก ทำสวน พื้นที่ที่เป็นตลาดเก่าเยาวราช ที่เป็นของพระศรีทรงยศหรือ 'เจ้าสัวเนียม' เคยเป็นสวนองุ่นมาก่อน ส่วนฝั่งธนบุรีตรงวัดประยุรวงศาวาสของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์นั้นเป็นสวนกาแฟ 
 
สมัยนั้นพื้นที่ของเมืองกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี มีความอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้นพอให้ทำสวนทำไร่ได้อย่างเต็มที่ ผิดกับปัจจุบัน 
  
เมื่อชาวจีนย้ายมาอยู่ในบริเวณนี้จึงปักหลักทำมาหากินสร้างบ้านไม้เป็นที่พำนัก ปลูกบ้านติดกันอย่างหนาแน่น จนมีผู้กล่าวว่าบ้านในย่านสำเพ็งนั้นไก่บินไม่ตก เพราะหลังคาชนกันแทบไม่มีช่องว่าง วันดีคืนดีเกิดอัคคีภัยแต่ละครั้งทำความความเสียหาย กลายเป็นไฟไหม้ใหญ่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7bmmedMEuPGlkETkdTVCm8/3601d8623534677afa5a0dc09655e125/Sampheng-siam-chinese-arcade-SPACEBAR-Photo02
Photo: ภาพสำเพ็งในอดีต
สำเพ็ง มีวัดญวณ วัดจีน ศาลเจ้า ตลาด โรงยาฝิ่น โรงหวย บ่อน โรงโสเภณี สำเพ็งมีการพัฒนาอย่างจริงจังในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 
หมอบรัดเลย์เขียนไว้ใน Bangkok Recorder ว่า ข้าพเจ้าเที่ยวดูตามท้องตลาดสำเพ็ง ได้เห็นถนนนั้น ดีสะอาดเรียบร้อยยิ่งกว่าแต่ก่อนนัก จึงได้นึกว่าเกิดเพราะพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากสำเพ็งจะมีถนนดีขึ้นยังมีกล่องตระเวนอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ เพื่อดูแลรักษาในท้องตลาดมิให้เกิดโจรผู้ร้ายย่ำยีบีฑาราษฎรได้ 
 
สภาพสำเพ็งในช่วงรัชกาลที่ 4 อาจจะมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ความเป็นอยู่ยังคงมีความหนาแน่นจนเมื่อมีไฟไหม้ใหญ่ในรัชกาลที่ 5 จึงมีการตัดถนนทรงวาด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5GCVZdyZWyhXt5EAIlYO6d/b27a1913f7eb3f6f4f23cb95f93e13e0/Sampheng-siam-chinese-arcade-SPACEBAR-Photo03
Photo: ภาพสำเพ็งในอดีต
ภาพสำเพ็งในวันนี้มีแต่การเรียงตัวของร้านค้าส่งเสื้อผ้า รองเท้า ข้าวของเครื่องใช้ ซอยแคบคนผ่านเข้าออกตลอดเวลา รถมอเตอร์ไซค์ส่งของ พ่อค้าแม่ค้า แรงงานในสำเพ็งไม่ใช่คนจีน คนไทยเชื้อสายจีนกลายเป็นเจ้าของกิจการ ส่วนแรงงานเป็นคนประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมาร์ สปป.ลาว เขมร  
  
ซอยในย่านสำเพ็งและเยาวราชที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานน่าสนใจซอยหนึ่ง ยังพอมีเค้าเหลือให้เดินชม คือ ซอยเยาวพานิช ซอยที่เคยมีทั้งโรงมหรสพ ศาลเจ้า วัดจีน และร้านขายยาจำนวนมาก 
 
คนสำเพ็งสมัยก่อนพอไม่สบายจะเดินมาร้านยาที่เยาวพานิช ศาลเจ้าในเยาวพานิช มีศาลเจ้าหลักเมืองหรือเซี้ยอึ้งกง ตามความเชื่อว่าเทพเจ้าหลักเมืองมีหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของดวงวิญญาณ หากมีผู้เสียชีวิตจะต้องมาไหว้เพื่อแจ้งบอกกล่าวเทพหลักเมืองให้ทราบ 
 
เยาวพานิชยังเชื่อมถึงซอยวานิช 1 เป็นถิ่นที่อยู่และร้านค้าของชาวจีน ชาวอินเดีย หากเข้าไปเดินในเยาวพานิชยังพอจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่พอจะหลงเหลือ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์