แข่งกันขยัน คลั่งความโปรดักทีฟ แนวคิดที่ทำให้เราลำบากใจเมื่ออยากลาหยุด

7 ก.พ. 2566 - 04:06

  • เคยไหม งานท่วมหัว ทำไปบ่นไป รู้สึกเหนื่อยจนอยากลาพักร้อนให้สมองโล่งบ้าง … แต่ก็ไม่กล้าลา

  • เกิดอะไรขึ้น ทำไมคนถึงไม่ยอมลาพักทั้งๆ ที่มีสิทธิลาอย่างชอบธรรม มาดูกันดีกว่าว่าเราจะรู้สึกโอเคกับการพักผ่อนได้อย่างไรบ้าง

Tips-avoid-productivity-trap-SPACEBAR-Thumbnail
เคยไหม งานท่วมหัว ทำไปบ่นไป รู้สึกเหนื่อยจนอยากลาพักร้อนให้สมองโล่งบ้าง 
… แต่ก็ไม่กล้าลา 
 
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่มนุษย์เงินเดือนมักพบเจอ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ชีวิตผูกติดกับค่านิยมทำงานหนักเพื่อไต่เต้าไปสู่ชีวิตในฝันหรือที่เรียกกันว่า American Dream ซึ่งความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากความอุตสาหะ ยอมเสี่ยง และทำงานหนัก 
 
ปกติแล้วในการทำงานจะมีวันหยุดที่เรามีสิทธิได้รับเงินตามปกติ โดยข้อบังคับก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละที่ ซึ่งในประเทศที่สวัสดิการดีอย่างประเทศแถบยุโรปก็มักจะมีวันหยุดมากกว่าประเทศอื่น และในบรรดาประเทศทั้งหลาย ดูเหมือนว่าพนักงานในสหรัฐอเมริกาจะดูมีปัญหากับการลางานมากที่สุด แม้ว่าลาแล้วจะไม่โดนหักเงินก็ตาม 
 
จากการสำรวจในปี 2019 พบว่าพนักงาน 1 ใน 3 ยอมให้หักเงินเดือนเพื่อแลกกับวันหยุดที่ไม่จำกัด แต่กระนั้นผลสำรวจก็ชี้ให้เห็นว่าคนที่สามารถลาหยุดได้ไม่จำกัดโดยไม่โดนหักเงิน มีแนวโน้มที่จะลาน้อยกว่าคนที่มีวันหยุดตามปกติเสียอีก!? 
 
ขนาดได้พักด้วย ได้เงินด้วย คนยังไม่ยอมพักกันเลย––มันเกิดอะไรขึ้น?
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/78sRGYh5SH2pO2L07LPLxi/3a6c894f581c24aaae5d534a01e8875d/Tips-avoid-productivity-trap-SPACEBAR-Photo01
ปรากฏการณ์แข่งกันขยันจนไม่กล้าหยุดนี้เห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีประเทศอื่นที่ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ซึ่งสาเหตุอาจมาจาก 
 

1.รู้สึกผิดหรือเครียดที่ไม่ได้ทำงาน 

เป็นพนักงานก็ต้องทำงานสิ! เหมือนว่าสมองเราจะมีคำสั่งนี้อยู่เสมอเมื่ออยู่ในโลกของการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อคนรอบข้างดูมุ่งมั่น ทำงานอย่างบากบั่นกันตลอดเวลา เมื่อคิดอยากพักเราจึงรู้สึกผิดต่อตัวเอง รู้สึกขาดความรับผิดชอบ หรือเครียดว่างานจะไม่เดิน 
 

2.กลัวถูกมองว่าขี้เกียจ 

เมื่อลาหยุดโดยไม่มีเหตุ “จำเป็น” คนรอบข้างอาจอนุมานเอาว่าเราขี้เกียจ ความกลัวนี้มักเกิดขึ้นเพราะความกดดันจากสังคมรอบข้างที่ไม่ให้ความสำคัญกับการพักผ่อน หรือกระทั่งเจ้านายที่อาจตำหนิ/ทำให้ลูกน้องรู้สึกแย่เมื่อลางาน สภาพแวดล้อมในการทำงานแบบนี้เองที่เป็นพิษต่อการพักผ่อนทั้งที่มันควรจะเป็นเรื่องปกติ 
 

3.พลาดโอกาสในการทำงาน 

การหยุดพักอาจดีต่อร่างกายและหัวใจ แต่ในแง่การงานล่ะ หลายคนกังวลว่าในช่วงที่หยุดจะพลาดโอกาสบางอย่างที่เพื่อนร่วมงานคนอื่นอาจได้รับไปแทน ซึ่งในบางจังหวะชีวิตโอกาสเพียงเล็กน้อยก็อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  
 

4.หากขาดเราไปแล้วงานยังเดินต่อได้ก็หวั่นจะถูกไล่ออก 

หลายคนกลัวว่าการหยุดงานจะทำให้ตำแหน่งของเราถูกมองว่าไม่จำเป็น หรือให้คนอื่นมาทำแทนได้ แม้แต่ในภาวะปกติที่ไม่มีโรคระบาด เมื่อมีค่าใช้จ่ายอะไรที่ตัดออกได้ทางบริษัทก็มักจะทำ นี่เป็นอีกหนึ่งความกดดันที่หลายคนต้องพบเจอ 
 

5.พนักงานที่ดีคือพนักงานที่ทุ่มเท 

เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่อยากได้คำชมมากกว่าคำตำหนิ มันทำให้เรารู้สึกดีและมีค่า การทุ่มเทกับงานที่ทำจึงคล้ายสัญชาตญาณที่หลายคนมีโดยไม่รู้ตัว และบางครั้งเราก็ก้าวข้ามเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุ่มเทกับการฝืนตัวเองโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3KaZ2v1OcqOSSZ6sBML1rK/4f86d66e403060ecef218d77cb137406/Tips-avoid-productivity-trap-SPACEBAR-Photo02
เมื่อเราตกหลุมความคิดเหล่านี้จนทำให้ไม่สามารถแยกการงานกับการพักผ่อนออกจากกันได้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดีทั้งกับสุขภาพกายและสุขภาพใจ มาดูกันดีกว่าว่าเราจะรู้สึกโอเคกับการพักผ่อนได้อย่างไรบ้าง 
 

จำไว้ว่าการพักผ่อนเป็นสิ่ง ‘จำเป็น’ 

หลายคนไม่กล้าลาเพื่อพักผ่อนเพราะรู้สึกว่าการลาแต่ละครั้งต้องมีเหตุผลจำเป็นเร่งด่วน แต่ความจริงแล้วการพักผ่อนเป็นครั้งคราวก็จำเป็นเช่นกัน อย่าลืมว่านอกจากวันลากิจแล้วยังมีลาพักร้อน พอได้พักผ่อนอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเหมือนได้ชาร์จพลัง เมื่อสมองปลอดโปร่งการทำงานก็ราบรื่น 
 

แก้อาการรู้สึกผิดที่ลาหยุด…ด้วยการลาหยุด 

“วิธีที่ดีที่สุดในการก้าวข้ามความรู้สึกผิดและความเครียดเกี่ยวกับการลาหยุด…คือการลาหยุด!” เอมิลี ซิโมเนียน นักบำบัดคู่สมรสและครอบครัวกล่าว นี่เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่จะช่วยใช้เรารู้สึกสบายใจกับสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจ คือการค่อยๆ เอาตัวเองไปอยู่กับสิ่งนั้นจนรู้สึกผิดกับมันน้อยลง อนุญาตให้ตัวเองนอนเล่นบ้าง อ่านหนังสือจรรโลงใจที่ไม่เกี่ยวกับงาน หรือทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ 
 

ฝึกคิดบวกกับตัวเอง 

เตือนตัวเองบ่อยๆ ว่าการพักผ่อนไม่ใช่เรื่องผิด และแท้จริงแล้วมันส่งผลดีกับการทำงานในระยะยาว การพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้เราอยู่กับงานนั้นได้นานขึ้น เพราะฉะนั้นแทนที่จะรู้สึกผิด เราควรเรียนรู้ที่จะรู้สึกดีกับการพักผ่อนมากกว่า 
 
ย้อนกลับมามองมนุษย์เงินเดือนในประเทศไทย จะเห็นว่าแม้เราจะไม่ได้มีค่านิยม “Thai Dream” เราต่างก็มุ่งมั่นทำงานเพื่อสานฝันบางอย่างเช่นกัน และหลายคนก็ประสบปัญหาที่ไม่ยอมให้ตัวเองพักผ่อนแบบนี้ 
 
แต่อย่าลืมฟังเสียงร่างกายและจิตใจ หากไม่อนุญาตให้ตัวเองได้พัก ปล่อยให้ความเครียดและความกดดันจากการทำงานสะสมจนรับไม่ไหว บางทีการลาหยุดอาจกลายเป็นการลาออกก็ได้ 
 
หวังว่าทุกคนจะมีความสุขกับการทำงาน ค้นพบสมดุล และรู้สึกดีเมื่อได้พัก (ผู้เขียนก็จะพยายามเช่นกัน) 
 

SPACE for Facts: 

  • วันหยุดของแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไป แต่ตามกฎหมายแรงงานได้กำหนดวันหยุดขั้นต่ำไว้ดังนี้ 
  • ลาพักร้อน: ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานมาเกิน 1 ปี สามารถยกหรือเลื่อนไปสะสมในปีอื่นได้  
  • ลาป่วย: ลาได้ตามจริง โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน หากลาติดต่อกัน 3 วันขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์  
  • ลากิจ: ลาโดยมีเหตุธุระจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี โดยมีสิทธิรับค่าจ้างตามปกติไม่เกิน 3 วันต่อปี  
  • ลาคลอด/ลาตรวจครรภ์: ลาได้ 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน  
  • ลาทำหมัน: สามารถหยุดได้ตามแพทย์สั่ง และยังได้รับค่าจ้าง  
  • ลารับราชการทหาร: ลาได้ตามจำนวนวันที่ทางการทหารเรียก โดยมีสิทธิรับค่าจ้างตามปกติไม่เกิน 60 วันต่อปี  
  • ลาฝึกอบรม: ลาได้โดยไม่ได้รับค่าจ้าง (แล้วแต่กรณี) 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์