Joy Life: ทำงานวันเสาร์อาทิตย์ส่งผลอะไร เหตุใดวันทำงานจึงถูกกำหนดให้มีแค่ 5 วัน?

29 เม.ย. 2566 - 05:32

  • รู้หรือไม่ว่าหากย้อนกลับไปนับร้อยๆ ปีก่อน มนุษย์อย่างเราๆ ทำงานกันอย่างไม่มีวันหยุด จนเหล่าแรงงานในสมัยนั้นต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ จนในปัจจุบันคำว่า “เกลียดวันจันทร์ รู้สึกฟันในวันศุกร์” ก็กลายมาเป็นคำขวัญประจำใจคนทำงานแทบจะทั้งโลกในที่สุด

Weekend-Work-SPACEBAR-Thumbnail
ซึ่งจะรู้จักจุดกำเนิดของวันทำงาน ก็ต้องเล่าย้อนความกันไปถึงต้นตอของการนับวันในสัปดาห์เลยทีเดียว เพราะอย่างที่เกริ่นไปว่าแต่ดั้งเดิมมนุษย์นั้นทำงานกันอย่างไม่มีหยุดหย่อน ไม่ได้มีใครกำหนดว่าวันใดควรเป็นวันหยุดชัดเจน จนอารยธรรมต่างๆ เริ่มก่อตัวกันขึ้นมา และเริ่มกำหนดการนับวันเป็นของตัวเอง ซึ่งที่แพร่หลายสุดๆ จนนำมาใช้ถึงในปัจจุบันก็คือการนับวันแบบอารยธรรมบาบิโลน ที่มีการนับวันแบบ 7 วันตามชื่อดวงดาว ที่แต่ก่อนชาวบาบิโลนเชื่อว่าระบบสุริยะจักรวาลของเรามีดาวอยู่แค่ 7 ดวงเท่านั้น  
 
โดยวันหยุดที่เก่าแก่สุดๆ ที่มีการบันทึกไว้ก็คือในยุคอารยธรรมโรมัน ที่ทุกๆ 8 วันจะเข้าสู่วัน นันทินี (nundinae) หรือวันตลาดที่ เด็กๆ ไม่ต้องไปร่ำเรียน บรรดาแรงงานจะหยุดงาน ก่อนจะนำผลผลิตต่างๆ มาขายกันในตลาด หรือบางส่วนก็หยุดงานเพื่อมาประกอบพิธีทางศาสนากันในวันนี้ ซึ่งมันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งโลกต่างก็เริ่มมีวันหยุดงาน ซึ่งโดยมากจะอิงจากความเชื่อหรือศาสนากำหนด 
 
เวลาผ่านมานับพันปี แนวคิดเกี่ยวกับ ‘วันหยุดสุดสัปดาห์’ แบบปัจจุบันก็ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเขตอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของสหราชอาณาจักรในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งเดิมทีเป็นข้อตกลงโดยสมัครใจระหว่างเจ้าของโรงงานและคนงาน โดยอนุญาตให้วันเสาร์ตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมงเป็นวันหยุด เพื่อให้พนักงานจะพร้อมทำงานอย่างมีสติ และสดชื่น (สร่างเมา) ในเช้าวันจันทร์ 
 
จากแรงกดดันในสังคมแรงงานทั่วโลกที่ถูกส่งต่อมาจากเหตุการปฏิวัติเดือนตุลาคมของชาวโซเวียตท้องถิ่นที่มีต่อรัฐบาลชั่วคราวรัสเซียในขณะนั้น นำมาสู่การเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของชนชั้นแรงงานที่มีต่อผู้มีอำนาจ ในปี 1926 เฮนรี ฟอร์ด เจ้าของบริษัทรถยนตร์ในสหรัฐอเมริกา จึงตัดสินใจลดแรงกดดันเหล่านั้นจากคนงาน ด้วยการลดวันทำงานลงจาก 6 วัน เหลือ 5 วันแบบในปัจจุบัน เพื่อให้เหล่าคนงานมีวันพักมากขึ้น อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญในสมัยนั้นก็ต่างมองว่าการลดเวลาทำงานนั้นจะไปส่งผลดีได้อย่างไร กับการที่ต้องจ่ายเงินและสวัสดิการเท่าเดิม แต่ได้งานน้อยลง แต่ผลลัพท์กลับออกมาตรงกันข้าม เมื่อพนักงานที่หยืดยุ่นมากขึ้นกลับทำงานด้วยความสุขมากขึ้น ส่งผลให้การทำงาน 5 วันแบบมีความสุข ผลผลิตเติบโตมากกว่าการทำงาน 6 วันแบบเก่า เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้บริษัทฟอร์ดเติบโตขึ้นมาก จนส่งผลมาเป็นแบบอย่างของการหยุดงานเสาร์อาทิตย์ หรือการกำหนดชั่วโมงการทำงานไม่ให้เกิน 40 ชั่วโมงของโลกในยุคปัจจุบันนั่นเอง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/63yMRTnHHg8hUcd1PTudrN/dcd04ad05fc3c0516670589e95d2dd80/Weekend-Work-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: ภาพ เฮนรี ฟอร์ด

ซึ่งนั่นก็เป็นข้อพิสูจน์ชั้นดีว่าการทำงานแบบมีวันหยุดที่เหมาะสมนั้นให้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่าการทำงานแบบเน้นปริมาณเข้าว่ามากเพียงไหน วันนี้เราจึงขอยกข้อเสียของการทำงานในวันเสาร์อาทิตย์ หรือการทำงาน 7 วันแบบไม่มีวันหยุดมาฝากกันอีกซักหน่อย

  • เหนื่อยล้าจากการทำงานในปริมาณที่มากขึ้น อาจจะกำปั้นทุบดินไปนิด แต่ก็ชัดเจนตรงตัวว่าการทำงานมากขึ้นย่อมเหนื่อยล้ามากขึ้น ซึ่งบางครั้งมันก็อาจจะเหนื่อยเกินกำลังกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำงานออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้  
  • และนอกจากปริมาณที่มากขึ้นแล้วนั้น การทำงานเสาร์อาทิตย์อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้ากว่าการทำงานปกติแม้จะทำงานเท่าเดิมได้ด้วย จากการที่ได้เห็นคนอื่นพักผ่อน หรือได้รับรู้ว่าในระหว่างที่คุณทำงานคุณพลาดอีเวนต์สนุกสนานไปกี่เหตุการณ์ จะมีความรู้สึกใดแย่ไปกับการรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่ต้องมาเหน็ดเหนื่อยกับงานในวันพักผ่อนนี้ 
  • หากคุณเป็นคนที่ประสบความสำเร็จจากการทำงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน วันหยุดสุดสัปดาห์ของการทำงานก็ยิ่งจะเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ เพื่อนร่วมงานน้อยลง เอเนอร์จี้และพลังบวกที่เคยได้รับก็ถดถอยลงไป การกินข้าวกล่องร้านสะดวกซื้อแกล้มงานกองโตตอนเที่ยง คงไม่ทำให้คุณมีแรงสู้งานช่วงบ่ายได้เท่ากับการไปซัดส้มตำเจ้าเด็ดสุดแซ่บแถวที่ทำงานกับเพื่อนๆ ร่วมแผนก 
  • การทำงานวันหยุดเพิ่มเติมทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างหรือในครอบครัวของคุณแย่ลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากเหตุผลข้อบนข้างต้น ที่ทำให้เวลาส่วนตัวของคุณลดน้อยลง เรียกได้ว่าเวลากระทั่งจะพักผ่อนยังไม่มี จะเอาเวลาใดไปดินเนอร์หรูๆ กับแฟนแบบมีความสุข 
  • ซึ่งเหตุผลทั้งหมดล้วนก่อให้เกิด ภาวะหมดไฟจากการทำงานจากการที่ขาดภาวะการสมดุลจากการใช้ชีวิตและการทำงานนั่นเอง  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/58RPA7JN5uktiwKG41luay/145ec5441d276ae6e9fc575a77d9f730/Weekend-Work-SPACEBAR-Photo01
และนอกจากแนวคิดการไม่ควรทำงานหนักเกิน 5 วันแล้วนั้น หลังจากทั่วทั้งโลกเผชิญกับภาวะโรคระบาดโควิด ส่งผลให้ระบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไป เราก็ได้ค้นพบว่าการทำงานเพียงแค่ 4 วัน ในบางองค์กรกลับส่งผลดีกว่า 5 วันเข้าไปอีก ซึ่งประโยชน์ก็คล้ายๆ กับการลดวันทำงานในสมัยโบราณ ก็คือช่วยให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น ลดภาวะเบิร์นเอ้าท์หรือหมดไฟได้ดี แต่ก็ยังคงอาจจะไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทันที เพราะในบางสายงาน การทำงานเพียงแค่ 4 วันก็ยังอาจจะไม่เพียงพอต่อรูปแบบงานนั้นๆ อาทิ งานฉุกเฉิน หรือขนส่ง เป็นต้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์