ทั้งที่ถูกสร้างมาเพื่อความสนุก แต่ทำไมการเล่นเกมมักทำให้เรา ‘หัวร้อน’

2 พ.ค. 2566 - 04:25

  • ภาพอาการหัวร้อนของเกมเมอร์ เกิดขึ้นจนชินตา ทั้งการด่าทอหรือทำลายข้าวของ

  • ความผิดหวังและความกดดันที่ท่วมท้น ทำให้เกมที่ควรจะสนุกตึงเครียดขึ้น

Why-gamers-get-hotheaded-by-videogames-SPACEBAR-Thumbnail
อาการ ‘หัวร้อน’ เมื่อเล่นเกมไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ความเดือดดาล การตะโกนด่า ขว้างปาคอนโทรลเลอร์ ทุบคีย์บอร์ด คือภาพที่เกมเมอร์มักจะเห็นกันอยู่อย่างชินตา (หรือเกิดขึ้นกับตัวเองบ่อยครั้งด้วยซ้ำ) โดยเฉพาะกับวิดีโอเกมในรูปแบบออนไลน์ที่เล่นกับคนอื่นๆ และมีการแข่งขันกันระหว่างผู้เล่น 
 
แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงทำให้สงสัยว่า ทั้งๆ ที่วิดีโอเกมถูกสร้างมาเพื่อสนองอรรถรสและความบันเทิง แต่ทำไมถึงมีแต่คนหัวร้อนได้ล่ะ?  
 
ในขณะที่บางคนสามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างดี เล่นแพ้หรือผิดพลาดก็แค่เพียงเริ่มต้นใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นหลายคนที่ไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ และแสดงออกมาทางคำพูดและการกระทำ ซึ่งเหตุผลของอาการหัวร้อนอาจจะมาจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้ 

การเล่นไม่เป็นไปตามที่หวัง 

ในระหว่างเล่นเกมเราอาจจะคิดวางแผนในการเล่นอยู่ในหัวเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามหรือเพื่อผ่านภารกิจต่างๆ แต่เมื่อลงมือทำตามแผนแล้ว กลับล้มไม่เป็นท่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนและลงแบบไม่ใช่สิ่งที่คิดไว้ 

เล่นได้ไม่ดีเท่าเมื่อก่อน 

สำหรับเกมแนวยิง หรือ FPS (First person shooting)  ที่ต้องแข่งขันระหว่างผู้เล่นคนอื่นๆ อาศัยสายตาที่เฉียบคม และการตอบสนองที่ไวมากๆ เรียกได้ว่าใครไวกว่ามักจะได้เปรียบ จึงทำให้มีศัพท์เกมกำเนิดขึ้นมาหนึ่งคำ เรียกว่า ‘รีเฟล็กซ์วัยรุ่น’ กล่าวคือ มันเป็นความจริงที่ว่า สำหรับเกม FPS นั้นผู้เล่นช่วงอายุวัยรุ่นมักจะเล่นได้ดีกว่า เพราะการตอบสนองของกล้ามเนื้อยังไวอยู่ ซึ่งเมื่อผู้เล่นอายุมากขึ้นส่งผลให้การตอบสนองไม่ดีเท่าครั้งยังเยาว์ ทำให้เรายอมรับการเล่นของตัวเองที่ห่วยลงไม่ได้ จึงทำให้เกิดอาการหัวร้อนขึ้นได้ 

ความอับอายจากความกดดัน 

สำหรับวิดีโอเกมที่มีรูปแบบของการเล่นเป็นทีม และในจังหวะหนึ่งที่เราอาจจะกลายเป็นตัวความหวังของรอบการแข่งขันนั้นๆ เป็นตัวชี้ขาดว่าจะแพ้หรือชนะ และผลปรากฏว่าเราไม่สามารถคว้าชัยชนะให้ทีมได้ ถึงแม้เพื่อนๆ ในทีมจะไม่กล่าวโทษเราโดยตรง แต่แน่นอน เราจะสามารถรับรู้ถึงความผิดหวังเล็กๆ ผ่านน้ำเสียงได้ ยิ่งส่งผลให้การเล่นเกมของเราตึงเครียดมากขึ้น 

เจอผู้เล่นที่ Toxic 

แน่นอน คนเล่นเกมออนไลน์มีอยู่กี่แสนกี่ล้านคน มากหน้าหลายตาปะปนกัน และบ่อยครั้งที่เรามักจะเจอผู้เล่นที่มักจะ Toxic ใส่เรา ไม่ว่าจะด้วยการดูถูกถากถาง การด่าผ่านการพิมพ์หรือพูดผ่านไมค์ ยิ่งเมื่อผู้เล่น Toxic ฝ่ายตรงข้ามเล่นชนะเราแล้วเยาะเย้ยเราขึ้นมา แน่นอนว่าร้อยทั้งร้อยหน้าผากเดือดปุดๆ แน่ 

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ 

ปัจจัยอื่นหลักๆ ที่อาจจะทำให้เกมเมอร์หัวร้อนได้ง่ายๆ เลยก็คงเป็นเรื่องของอินเตอร์เน็ต หากเมื่อไหร่ที่อินเตอร์เน็ตที่เราใช้เกิดความไม่เสถียรขึ้นมาระหว่างเล่นเกม โดยในขณะนั้นอาจจะเป็นจังหวะสำคัญมาก ที่เรากำลังพิชิตฝ่ายตรงข้ามได้ เกิดอาการสะดุด เกมหลุด แน่นอนว่าอาการน็อตหลุด หัวร้อน จะต้องตามมาแน่ 
 
เหตุผลอื่นๆ ที่มักจะส่งผลให้ชาวเกมหัวร้อนระหว่างเล่นเกมทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ 
  • ความเก็บกดจากสิ่งอื่น ที่โดนกระเทาะด้วยการเล่นเกม 
  • มีปัญหากับการแสดงอารมณ์ และการสื่อสาร 
  • ความผิดหวังจากปัญหาในชีวิต 
  • ขัดแย้งกับผู้เล่นคนอื่นๆ ในเกม 
เอาเป็นว่า การเล่นเกมก็มีทั้งแพ้และชนะ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ควรมองเกมให้เป็นเกม ใช้เกมเพื่อการเข้าสังคมสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง หากรู้ตัวว่าเริ่มจะมีอาการไม่พอใจระหว่างที่เล่นเกม ก็ควรหยุดพักหากิจการอย่างอื่นทำไปก่อน อย่าลากยาวจนอารมณ์พัง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์