ปัญหาขยะเป็นปัญหาของเมืองใหญ่ทุกเมืองในโลก ทว่าแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน จึงมีวิธีจัดการขยะแตกต่างกัน
มองประเทศไทยในอดีต การจัดการขยะในสยามในช่วงแรกใช้วิธีง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน เพราะยังไม่มีพลาสติก ไม่มีขยะอิเล็กทรอกนิกส์

วิธีกำจัดขยะ เริ่มจากขนขยะด้วยเกวียนหรือเรือออกไปทิ้งที่ปากแม่น้ำ ไม่ก็เผาหรือถมบริเวณที่ลุ่มนอกพระนคร
อีกวิธีที่ใช้จัดการขยะคือ ตั้งกติกาข้อบังคับผ่านเขียนกฎหมายมาดูแลขยะ โดยประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับขยะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยกำหนดให้กรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล เป็นคนดูแล
การตรากฎหมายขึ้นมาในยุคนั้นแสดงว่า ปัญหาขยะล้นเมืองมีมาเป็นร้อยปีแล้ว
เวลาผ่านไป ขยะเริ่มมากขึ้น ในช่วงปี พ.ศ.2482-2484 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ เริ่มขยาย ขยะจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงา จนต้องมีการเพิ่มพื้นที่รองรับขยะ เช่น ทุ่งสามเสนใน บริเวณดินแดง ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นย่านกลางเมือง ก่อนจะไม่พอรองรับและต้องขยายออกไปที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร

ประวัติศาสตร์การกำจัดขยะในโลกนี้เหมือนกันทั้งโลก เริ่มต้นจากการผลิตจำนวนมากของระบบอุตสาหกรรม สังคมเมืองเติบโต คนหลั่งไหลมาหาอาชีพและค่าแรงที่ดีกว่า จนเมืองแออัดไปด้วยผู้คน รวมไปถึงขยะ
พอขยะมากขึ้น วิธีกลบๆ ฝังๆ แบบเดิมๆ เริ่มไม่ทันใช้ จนนำมาสู่วิธีกำจัดที่เร็วกว่า คือการเผา เช่น ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีเตาเผาขยะเกิดขึ้นราวปี พ.ศ.2414-2448 โดยมักตั้งโรงเผาขยะที่พื้นที่นอกเมือง การกำจัดวิธีนี้ง่าย เร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยมลพิษจากการเผาไหม้ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีการแยกขยะเท่าไรนัก
ทว่าวันหนึ่งเมื่อโลกเริ่มร้อน สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบจากขยะ มนุษย์จึงขบคิดหาเทคโนโลยีที่จะกำจัดขยะได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการหมักขยะทำปุ๋ยคือหนึ่งในวิธีนั้น

กรุงเทพมหานครเริ่มตั้งโรงงานปุ๋ยของเทศบาลขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีจากยุโรป เน้นไปที่ขยะเปียกที่เป็นชีวภาพ ส่วนขยะแห้งก็ยังต้องใช้วิธีการเผากันอยู่
จากข้อมูลระบุว่าปี พ.ศ.2498-2499 ขยะในกรุงเทพฯ มีราวปีละ 10,000 ตัน ขณะที่ปริมาณขยะปี พ.ศ.2566 เพิ่มขึ้นมามหาศาลอยู่ที่ 3.2 ล้านตัน
เฉลี่ยวันละ 8,775 ตันต่อวัน ด้วยปริมาณขยะเท่านี้ ไม่ว่าจะกลบ เผา หรือหมัก ก็ไม่ทันกับการทิ้งของผู้คน
คำถามคือ เมื่อวิธีเดิมๆ กำจัดขยะไม่ทัน มนุษย์จึงเริ่มปรับวิธีทำและวิธีคิดใหม่ ด้วยการนำขยะเหล่านั้นมารีไซเคิล (Recycle) กลับมาใช้ใหม่
และล่าสุดคือการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ทั้งแบบโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแบบทั่วไป และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแบบเคลื่อนที่ เพื่อย้ายไปกำจัดขยะตามพื้นที่ต่างๆ

ปัจจุบันภาครัฐได้อนุมัติให้จัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแล้วอย่างน้อยใน 20 จังหวัด มูลค่าลงทุนมากกว่า 13,101 ล้านบาท
ทั้งนี้ การตั้งโรงไฟฟ้าขยะมีข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณา ถ้าตั้งอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน จะเป็นการกำจัดขยะในพื้นที่ และแปรเปลี่ยนขยะนั้นเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ถ้าทำไม่ได้มาตรฐาน โรงไฟฟ้าเหล่านั้นจะเป็นตัวก่อมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในชุมชน
ถามว่า...ทางออกเรื่องขยะที่ยั่งยืนคืออะไร?
เราอาจต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นทางว่าขยะนั้นมาจากไหน ใช่การผลิตและบริโภคที่ล้นเกิน วิถีชีวิตที่ถูกกระตุ้นให้ใช้สิ่งต่างๆ อย่างฟุ่มเฟือยใช่หรือไม่
เราต่างซื้อ ใช้ และทิ้ง เพื่อปรนเปรอตัวเอง ไม่ว่าในระดับองค์กรธุรกิจหรือปัจเจก เราต่างขับเคลื่อนด้วยการคิดถึงตัวเองมากกว่าใคร
ปัญหาขยะอาจลดลงได้ ถ้ากลับมุมคิด ด้วยการคิดถึงคนอื่นให้มากกว่าตัวเอง