ถ้าวิมานหนาม หมายถึงสถานที่สักแห่งที่ปลูกทุเรียนแล้วได้กินได้ขายอย่างมีความสุข หรือหนามทุเรียนเคยทำให้เจ้าของสวนมีความสุขสบายมีเงินทองใช้ล่ะก็
ในกรุงเทพฯ ก็เคยมีทุเรียน และวิมานหนามเหมือนกัน
ว่ากันว่าแหล่งปลูกทุเรียนที่บางกอกมีรสชาติดีไม่แพ้ทุเรียนนนทบุรี บริเวณที่เคยมีสวนทุเรียนหนาแน่นก็คือฝั่งธนบุรี บริเวณบางพลัด-บางอ้อ ที่ยังพอมีพื้นที่สวนท้องร่องแอบซ่อนอยู่
แม้จะหลงเหลือ แต่ก็รอวันล่มสลาย วันที่ตีนแห่งความเจริญก้าวเข้าไปหา

สวนผลไม้บางพลัด-บางอ้อนั้น กินพื้นที่ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาลึกเข้าไปเป็นสวน ตั้งแต่แถววังบางพลูคือบริเวณใกล้กับสะพานซังฮี้ แถวนี้เคยเป็นสวนผลไม้แน่นขนัดทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ส้มโอ และกล้วยหอม
สุดยอดวิมานหนามของบางพลัดก็คือทุเรียนพันธุ์ก้านยาว “ก้านยาวบางพลัด” คนที่เกิดทันสวนทุเรียนคลองบางพลัด ต่างบอกว่า “รสชาติดีกว่าทุเรียนทางเมืองนนท์”

ในอดีตพื้นที่บางพลัด-บางอ้อประกอบด้วยคลองน้อยใหญ่เชื่อมต่อออกมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และยังลัดเลาะไปออกถึงคลองต่างๆ ไม่ว่าคลองบางเชือกหนัง คลองบางกอกน้อย คลองบางพรหม ตลิ่งชัน บางระมาด หรือจะเชื่อมไปยังบางกรวยย่านนนทบุรี ซึ่งปัจจุบันยังพอมีสวนอยู่บ้าง แต่ก็เหลือน้อยมากแล้ว


เดี๋ยวนี้จะไปหาดูคลองเหมือนในอดีตคงไม่มีแล้ว เพราะคลองถูกถมเพื่อเปลี่ยนเป็นที่ดินสร้างบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ ฯลฯ ที่ปลูกแน่นกันขนัดแทนพื้นที่สวนและไร่ จนกลายเป็นป่าคอนกรีต
ทุกวันนี้กลิ่นอายในอดีตยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง แถววัดเปาโรหิต ชุมชนบางพลัดใกล้สถานีรถไฟฟ้าสิรินธร มีพิพิธภัณฑ์ชาวบ้านที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในย่านนี้ นอกจากทำสวนแล้ว ยังทำปูนที่ใช้สำหรับกินหมาก ดินสอพองที่ใช้ทาตัวและเล่นสงกรานต์ด้วย


ณ พ.ศ.2567 ย่านบางพลัด-บางอ้อกำลังจะเปลี่ยนตัวเองเป็นย่านสร้างสรรค์ แต่ยังคงอัตลักษณ์ การเป็นพื้นที่เกษตร ในหลืบซอยเล็กๆ ยังพอมีสวนซ่อนอยู่ หากแต่ไม่มีผลไม้หรือวิมานหนามหลงเหลืออยู่แล้ว มีเพียงสวนท้องร่องบางพลัดที่ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ยังพอมีให้ชม
มาให้กำลังใจชาวบ้านย่านเก่า ด้วยการแวะไปเที่ยวและชื่นชมประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจกันครับ