เอ่ยชื่อ “บางโพ” คนจะนึกถึง 2 สิ่ง
หนึ่ง คือถนนสายไม้ หรือชุมชนทำงานไม้ เฟอร์นิเจอร์จากไม้ เป็นย่านการค้า และศูนย์การเรียนรู้ในซอยประชานฤมิตร
กับอีกเรื่องคือเพลง ‘สาวบางโพ’ ของ ตู้-ดิเรก (ปล่อยเพลงครั้งแรก พ.ศ.2525) โดยเฉพาะท่อนฮิตติดหูที่ร้องว่า
“สาวบางโพธิ์ นั้นโก้จริงจริง”
แต่หากย้อนไปก่อนหน้านั้นสัก 80-100 ปี เอ่ยชื่อ “บางโพ” คนจะนึกถึง #คนญวน ขนาดสุนทรภู่ยังเขียนถึงบางโพใน นิราศสุพรรณ ว่า
“...ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง มีข้องขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย พวกหญิงชายพร้อมเพรียงมาเมียงมอง...”
บางโพเดิมเป็นแหล่งรวมคนญวนที่อพยพมาหลักๆ 2 ครั้ง คือ ญวนที่มากับ องเชียงสือ สมัยรัชกาลที่ 1 กับญวนอพยพสมัยรัชกาลที่ 3
‘ญวนองเชียงสือ’ คือคนที่ไม่ทันหนีกลับไปกู้บ้านเมืองกับองเชียงสือ เดิมอยู่ที่สถานทูตโปรตุเกสปัจจุบัน ซึ่งสมัยนั้นคือชุมชนต้นสำโรง ผลของการหนีกลับโดยไม่ลา จึงทำให้ญวนในสังกัดองเชียงสือที่เหลือย้ายมาบางโพ
ส่วนสมัยรัชกาลที่ 3 คือที่มาภายหลังสงครามอานามสยามยุทธ (ความขัดแย้งทางทหารระหว่างอาณาจักรไดนาม ซึ่งปกครองโดยจักรพรรดิเถี่ยว จิ กับอาณาจักรสยามภายใต้การปกครองของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ในช่วงเวลานั้นต่างเรืองอำนาจด้วยกันทั้งคู่) โดนกวาดมาเมืองไทยมาอยู่บางโพ
คนญวนที่มาบางโพมีอาชีพทำประมง (น้ำจืด) จับปลา ทำงานช่างฝีมือ ค้าซุง เลื่อยไม้ โรงสีข้าว โรงเลื่อย สอดคล้องกับธุรกิจค้าซุงของแขกแพ ที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
พาตัวหนังสือเตร็ดเตร่ออกนอกเรื่อง ถึงทีมาตอบคำถาม ชื่อบางโพ เอาคำว่า ‘โพ’ มาจากไหน?
เฉลย เอามาจาก ต้นโพธิ์ นั่นเอง
ทุกวันนี้มีให้เห็นสองจุด คือต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ตรง สน.บางโพ ติดกับวัดบางโพโอมาวาส ต้องสังเกตดีๆ เพราะแทบมองไม่เห็น
อีกต้นอยู่ที่เจดีย์แปดเหลี่ยม วัดอนัมนิกายาราม ในซอยประชาราษฎร์ สาย 1 ซอย 23 รากต้นโพธิ์บอกเราว่า อายุของต้นน่าจะอยู่มาเป็นเวลาหลักร้อยปี เลื้อยแผ่ปกคลุมเจดีย์เก่าแก่ริมน้ำไว้อย่างน่าอัศจรรย์