เกิดเป็นแมวก็เครียดได้! สัตวแพทย์ชี้แมวเองก็วิตกกังวลและซึมเศร้าได้เหมือนกันกับคน

12 มีนาคม 2566 - 07:45

cat-stress-anxiety-SPACEBAR-Thumbnail
  • เกิดเป็นแมวบ้านนั้นแสนสบาย กินนอนวิ่งเล่นมีทาส (มนุษย์) คอยดูแลเอาใจใส่ จนใครจะไปคิดว่าแมวเองก็ต้องการจิตแพทย์เพราะวิตกกังวลและซึมเศร้าได้เหมือนกันกับคนเช่นกัน

อาการเครียด วิตกกังวลหรือซึมเศร้าในแมวจะทำให้แมวมีอาการกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุขเหมือนคนที่กระวนกระวายตลอดเวลาไปจนเซื่องซึมไม่ขยับไปไหน หรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น เริ่มส่งเสียงร้องไม่หยุด ทำลายข้าวของ ติดมนุษย์จนไปไหนไม่ได้ เริ่มกัดฟัน จากแมวสดใสกลายเป็นแมวหงุดหงด เงียบจากเดิม หรือจากที่แมวเคยคอนแทคกับมนุษย์ก็แยกไปอยู่ตัวเดียว กระวนกระวาย มีปัญหาเรื่องขับถ่ายไม่เป็นที่หรืออาเจียนได้  

แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้แมวเครียดจนเกิดอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้บ้าง?

จากการพูดคุยกับสัตว์แพทย์คุณ น.สพ. ศรัณย์ บัวสกุล ได้ให้ข้อสังเกตพฤติกรรมแมวที่เปลี่ยนไปจากสถานการณ์ต่างๆ ไว้ว่า จริงๆ แล้วสัตว์ทุกชนิดเครียดได้หมดขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของวิวัฒนาการ อย่างแมวเองที่เหมือนจะรักอิสระ แต่จริงๆ แล้วแมวมีกิจวัตรประจำวันที่ชัดเจน หากมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากกิจวัตรประจำวันเดิมก็จะเครียดได้หมด ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ถูกเลี้ยงมายังไง ความใกล้ชิดของเจ้าของกับแมว และความสัมพันธ์ของแมวและสังคมในบ้านเป็นยังไง แมวบางตัวแค่เจ้าของย้ายโซฟาก็เครียด หรือคนแปลกหน้าเดินเข้ามาในบ้านก็เครียดได้  

อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมาแมวหลายตัวมีปัญหาเรื่องเครียด เพราะเจ้าของต้อง work from home จากเดิมที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน แมวจะมีไพรเวทไทม์ (ช่วงเวลาส่วนตัวของแมว) พอเจ้าของอยู่บ้านมากขึ้น กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแมวก็เครียด จากที่แมวเคยพักผ่อนสบายหรือมีที่สงบๆ กลายเป็นว่าต้องเจอเจ้าของตลอดเวลา เพราะแมวจำเวลาได้ว่าเจ้าของอยู่ไหน ใครจะมาบ้านบ้างตอนไหน 

หรือแมวบางตัวอยู่บ้านด้วยกันไม่ถูกกัน วันหนึ่งตัวที่ทะเลาะตายไป เครียด บางอย่างมันหายไป กิจวัตรประจำวันอย่างการทะเลาะกันหายไปก็เครียดแบบนี้ก็มีเหมือนกัน 

กับเรื่องของทุกอย่างในบ้านก็สำคัญ เพราะสำหรับแมวแล้วของมีตำแหน่งของมัน ตำแหน่งไหนหายไปหรือเพิ่มมาก็จะรวนแล้วต้องมาจัดระบบให้แมวกันใหม่ อาณาเขตของแมวอาจจะไม่ได้ชัดเจนเหมือนหมา แมวแค่ต้องการพื้นที่ที่จะอยู่ได้อย่างสงบ ไม่ได้จับจองพื้นที่แต่แมวแค่จำได้ว่าเป็นตรงนี้นะที่ของเขา 

แล้ววิธีการปรับพฤติกรรมแมวเมื่อเครียด วิตกกังวลหรือซึมเศร้าไปแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง? 

อันดับแรกต้องรู้สาเหตุที่ทำให้แมวเครียดก่อน เช่น แมวเครียดจากการย้ายของ ก็ต้องย้ายของกลับที่เดิม หรือทำให้แมวชินกับของที่ย้ายหรือของใหม่ ปรับสิ่งแวดล้อมหรือใช้ผลิตภันฑ์ เช่น แคทนิปสเปรย์ ฟีโรโมนสเปรย์  

สุดท้ายถ้าแมวยังไม่หาย ก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงอาจมีการให้ยาเพื่อคลายวิตกกังวล คลายเครียด ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสัตว์หลายที่ที่เปิดหน่วยปรับพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงเป็นเหมือนหน่วยจิตแพทย์สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ 

แต่สำคัญที่สุดคือเจ้าของจะต้องมีเวลาและหมั่นสังเกตแมวตัวเอง เพิ่มความสนใจให้แมวรู้สึกว่าตัวเองยังสำคัญอยู่ เพราะแมวเองก็ต้องการความเอาใจใส่เช่นเดียวกันกับคน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์