รักลูกเท่ากันไม่มีจริง พ่อแม่อาจรักลูกคนโตมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยเด็กด้วย

20 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:20

do-parents-have-a-favorite-child-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าลึกๆ แล้ว พ่อแม่ล้วนมีลูกคนโปรดในใจ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสภาพสังคม การถูกโยนความรับผิดชอบ และลักษณะนิสัย

เข้าสู่ยุคใหม่ อัตราการมีลูกของประชากรไทยเริ่มลดน้อยลงเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ ก่อนหน้า กลายเป็นว่าจำนวนลูกมากที่สุดโดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 2-3 คนต่อหนึ่งครัวเรือน แน่นอนว่าการเลี้ยงดูให้พวกเขาเติบใหญ่ได้ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ ส่งเสีย้เข้าสถานที่ศึกษาที่มีคุณภาพ รายล้อมไปด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ท้ายที่สุดเกือบทุกครอบครัวต้องเจอคำแนะนำเรื่องการรักลูกให้เท่ากัน ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่าเพื่อไม่ให้เกิดการอิจฉาริษยากันในหมู่พี่น้อง

ย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว การรักลูกเท่ากันนั้นไม่เคยมีอยู่จริง เพราะแต่ละคู่สามีภรรยาเฉลี่ยมีลูกกัน 6-7 คน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลในการช่วยทำมาหากิน หรือไม่มีคำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดก็ตาม ถัดมาถึงยุคปัจจุบัน การมีลูกสองคนอาจรักด้วยความรักปริมาณเท่ากันได้มากกว่า แต่เปล่าเลย เพราะมีงานวิจัยชี้ชัดแล้วว่า ต่อให้มีลูกแค่สองคน พ่อแม่ก็มักจะมีลูกคนโปรดคนใดคนหนึ่งอยู่เสมอ 

งานวิจัยนี้นำโดย แคทเธอรีน คอนเจอร์ (Katherine Conger) โดยเธอและทีมวิจัยพยายามรวบรวมครอบครัวทั้งหมด 384 ครัวเรือน แต่ละครัวเรือนมีลูกสองคนอายุห่างกันเฉลี่ย 4 ปี ซึ่งในงานวิจัยของ Family Psychology เมื่อปี 2005 เผยว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของแม่ และ 70 เปอร์เซ็นต์ของพ่อ มีการปฏิบัติที่มีแนวโน้มไปที่ลูกคนเดียวมากกว่าพร้อมกันทั้งสองคน 

คอนเจอร์เผยว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขามีลูกคนที่สอง ลูกคนแรกจะถูกแปรสถานะเป็นลูกคนโตทันที ซึ่งลูกคนโตหรือลูกคนแรก จะมีความรู้สึกอคติและสัมผัสได้ถึงการเลี้ยงดูที่ไม่เท่ากันของพ่อแม่มากกว่าลูกคนที่สอง  

แต่ผลงานวิจัยให้คำตอบอีกอย่าง กลายเป็นว่าลูกคนแรกมักเป็นลูกคนโปรดมากกว่าลูกคนที่สอง ส่วนลูกคนที่สองมักสัมผัสถึงความไม่เท่าเทียม หรือมีความรู้สึกอคติต่อภาพรวมทั้งหมด เรื่องที่สามารถเห็นได้ในสังคมไทยเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว หลายๆ ครอบครัวมักใช้จ่ายและลงทุนให้กับลูกคนโตทั้งการศึกษาและเครื่องแต่งกายมากกว่า ส่วนลูกคนต่อไปมักได้รับของต่อจากพี่คนโต แต่ขณะเดียวกันบางครอบครัวก็มีความรู้สึกตามใจลูกคนที่สอง หรือคนสุดท้องมากกว่า เพราะมอบแรงกดดันให้กับลูกคนโตไปแล้วตามคติของการให้ลูกคนโตสามารถรับผิดชอบครอบครัวต่อจากพ่อแม่ได้ รวมถึงสามารถดูแลน้องต่อไปได้ 

เพราะฉะนั้น แม้จะมีใครถาม “คุณรักลูกคนไหนมากกว่ากัน” คุณอาจตอบว่า “ฉันรักลูกเท่ากัน” แต่โดยสำนึกรู้คิดแล้ว เรามีพฤติกรรมที่ต่างจากที่เราพูดออกไป กล่าวคือลึกๆ แล้วคุณมีลูกคนโปรดในใจ ซึ่ง เอลเลน วีเบอร์ ลิบบี้ (Ellen Weber Libby, PhD) นักจิตวิทยาเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้บน Psychology Today ว่าเรื่องที่กล่าวไปอาจไม่จริงทั้งหมด  

ด็อกเตอร์ลิบบี้อธิบายว่าการที่พ่อแม่จะรักใครหรือปฏิบัติต่อใครคนหนึ่งมากกว่า เกี่ยวโยงกับลักษณะนิสัยของเด็กที่ถูกใจพ่อแม่คนใดคนหนึ่งมากกว่า เช่น นิสัยที่เงียบขรึมอาจถูกใจคนเป็นพ่อ หรือเมื่อพวกเขาโตขึ้น เขาอาจชอบเล่นฟุตบอล ในขณะที่คนเป็นแม่ก็ชอบเล่นฟุตบอลเหมือนกัน เป็นต้น  

ดังนั้นไม่มีคำตอบตายตัวว่าสาเหตุของการรักลูกไม่เท่ากันคืออะไร เพราะสามารถเป็นไปได้หลายทาง อย่างไรก็ตาม การมีลูกคนโปรดไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะทิ้งหรือละเลยลูกอีกคนที่รู้สึกว่าไม่น่าสนใจ ตราบใดที่ยังเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข พ่อแม่ย่อมมีความห่วงใย เอาใจใส่ในแบบที่โลกของวิวัฒนาการจะมอบให้กับสายพันธุ์มนุษย์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์