มันจะไปเจือจางน้ำย่อย! กินข้าวคำ น้ำคำ ไม่ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?

22 มี.ค. 2566 - 10:20

  • หากใครเคยโดนผู้ใหญ่ในบ้านดุเวลากินข้าวแล้วชอบกินน้ำไปด้วย ว่ากินข้าวคำน้ำคำมันจะไปเจือจางน้ำย่อยจนไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วรู้สึกสงสัยว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบในเรื่องนมาฝาก

drinking-with-meals-SPACEBAR-Thumbnail

“อย่ากินข้าวคำน้ำคำ มันจะไปเจือจางน้ำย่อย เดี๋ยวก็อาหารไม่ย่อยกันพอดี”  

ประโยคสุดฮิตบนโต๊ะอาหารที่มักจะดังขึ้นเวลาเราเผลอซดน้ำตามบ่อยๆ เวลากินข้าวร่วมวงกับ ป๊า ม๊า หรือผู้ใหญ่ในบ้านที่เคร่งครัดเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ ซึ่งบางทีเราก็อาจจะแค่เออๆ ออๆ ตามท่านๆ ไป เก็บความกระหายไว้ แต่ถ้าเกิดมื้อไหนที่อาหารมันเผ็ดจนเราทนไม่ไหวจริงๆ ต้องซดน้ำตามล่ะ จะทำยังไงดี ? จะแกล้งขอเข้าห้องน้ำแล้วแอบไปกินน้ำในห้องน้ำ? หรือกินๆ น้ำเข้าไปเลยแล้วยอมโดนด่าเอา ?  

คำตอบก็คือ เพียงแค่คุณเปิดบทความนี้ให้ท่านอ่านก็เพียงพอแล้ว เพราะความเชื่อที่กล่าวไปข้างต้นนั้น “ล้วนไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น” 

เพราะระบบการย่อยอาหาร ไม่ได้มีเพียงแค่น้ำย่อยในกระเพาะเท่านั้น แต่มันเริ่มตั้งแต่การเคี้ยวอาหารด้วยฟัน และในน้ำลายที่นอกจากความเปียกที่มีส่วนช่วยทำให้อาหารนุ่มเป็นก้อนกลืนได้ง่าย ในตัวน้ำลายเองก็มีเอนไซม์หลายชนิดที่ช่วยย่อยอาหารไปในตัว อาทิ เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ที่สามารถย่อยแป้งให้กลายเป็นน้ำตาลมอลโทส (Maltose) เป็นต้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6ocEyotfLyUZwnZahjdel3/7212ff263ccf786e5a6f0c7f90e4ca87/drinking-with-meals-SPACEBAR-Photo01
ต่อมาเมื่อเรากลืนอาหารลงกระเพาะ ก็จะมีทั้งกรด และน้ำย่อย ทั้งการบีบตัวของกระเพาะเอง เพื่อทำให้อาหารแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กลงเพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ง่ายขึ้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมง แต่น้ำที่เราดื่มลงไปนั้นใช้เวลาแค่ 10-15 นาทีก็ถูกดูดซึมให้ร่างกายไปใช้ประโยชน์เรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าถ้าน้ำส่งผลต่อระบบการย่อยจริงๆ เราก็คงไม่สามารถดื่มน้ำได้เลยจนกว่ากระเพาะอาหารจะย่อยเสร็จ ไม่ใช่แค่เพียงดื่มน้ำระหว่างทานข้าวเท่านั้น 
 
ซึ่งในความเป็นจริงการที่น้ำลงไปสู่กระเพาะอาหาร ตัวกระเพาะอาหารสามารถปรับตัว เพิ่มหรือลดสารคัดหลั่งภายในกระเพาะ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างสมดุลอยู่แล้ว และในทางกลับกัน ของเหลวที่เข้าสู่ร่างกายระหว่างมื้ออาหาร อาทิ การซดน้ำซุป น้ำแกง หรือ การดื่มน้ำ นอกจากจะไม่ได้ส่งผลเสียใดๆ แล้ว ยังมีส่วนช่วยอาหารชิ้นใหญ่เคลื่อนผ่านหลอดอาหารไปยังกระเพาะอาหารได้ดีเสียด้วยซ้ำ แม้กระทั่งคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อน การดื่มน้ำระหว่างทานอาหารก็ไมได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด 
 
มีเพียงข้อควรระวังเล็กน้อยสำหรับคนที่อาจจะเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด แต่ดื่มน้ำตามเข้าไปเพื่อกลืนอาหารให้ง่ายขึ้น อาหารชิ้นใหญ่เหล่านั้นก็จะทำให้กระเพาะทำงานหนักและเกิดอาหารท้องอืดขึ้นมาได้ ซึ่งต้นเหตุก็อยู่ที่การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดตั้งแต่แรกนั่นเอง   
 
สรุปแล้วก็คือ การดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อการย่อยอาหารเลย หากเราไม่ได้ดื่มน้ำเกินปริมาณปกติมากไป หรือดื่มน้ำระหว่างการเคี้ยวอาหารจนเศษอาหารชิ้นใหญ่หลุดลงคอลงกระเพาะไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะน้ำถูกดูดซึมได้เร็วเกินกว่าที่จะส่งผลใดๆ ต่อน้ำย่อยหรือกรดในกระเพาะ ซึ่งต่อให้ส่งผล กระเพาะอาหารเองก็เป็นอวัยวะที่มีความอัจฉริยะเป็นอย่างมาก มันสามารถปรับระดับความเข้มข้น ความเป็นกรดของสารคัดหลั่งในกระเพาะอัตโนมัติเพื่อให้ร่างกายย่อยอาหารได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดอยู่แล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์