เพราะ ‘หลงรูป’ จึงทุกข์ใจ รู้จัก “อสุภกรรมฐาน” สร้างสุขได้ แค่พิจารณาความจริงผ่านซากศพ

28 พ.ย. 2567 - 00:43

  • อสุภกรรมฐาน คือ การยึดเอาซากศพเป็นอารมณ์ เพื่อพิจารณาให้เห็นความไม่งามของชีวิต

  • คนยุคนี้ถูกรายล้อมด้วยความลวงของความงามจน ‘หลงรูป’

  • ยิ่งหลงรูป ลืมความจริง ยิ่งทุกข์ง่าย

spacebar สเปซบาร์, อสุภะ, อสุภกรรมฐาน, กรรมฐาน, หลงรูป, ราคะจริต, ความสุข

ใครๆ ก็ชอบของสวยๆ งามๆ เช่นเดียวกับคนหล่อๆ สวยๆ เพราะเห็นแล้วรู้สึกชุบชูใจ แต่ถ้าถึงขั้นหลงใหลจน ‘หลงรูป’ ยึดติดล่ะก็ รู้ไหม...คุณกำลังผูกมิตรกับความทุกข์โดยไม่รู้ตัว

เพราะในโลกนี้ ไม่มีสิ่งสวยงามใดจะอยู่คงทน คนที่รักย่อมแก่ชรา ของสวยย่อมเสื่อมสลาย ดอกไม้บานย่อมร่วงโรย

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแสนธรรมดาสามัญ ไม่ต้องบอกก็รู้ได้คิดได้ แต่ไม่รู้ว่า...ถ้าเกิดขึ้นจริง จะมีคนทำใจได้จริงๆ สักกี่คน

spacebar สเปซบาร์, อสุภะ, อสุภกรรมฐาน, กรรมฐาน, หลงรูป, ราคะจริต, ความสุข

เช่น ของที่รักที่หวงต้องเป็นรอยตำหนิ บุบพัง เสียหาย ใบหน้าเริ่มมีรอยยับย่นและตีนกาตามวันวัย แม้จะดูเข้าใจได้ แต่ยากจะยอมรับ 

พอยอมรับความจริงได้ยาก ความทุกข์ก็เดินมาเคาะประตู โทษตัวเองได้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนก็เพราะโลกทุกวันนี้พยายามปิดบังความจริงและชวนเราให้หลีกหนีจากมัน ด้วยการขายความลวงอันเลิศลอยผ่านดาราสวยๆ หล่อๆ การฉีดนั่นนี่เผื่อชะลอวัย ฯลฯ ราวกับโลกนี้เป็นทุ่งลาเวนเดอร์ ทั้งที่จริงๆ เหรียญมีสองด้าน โลกมีกลางวันกลางคืน

spacebar สเปซบาร์, อสุภะ, อสุภกรรมฐาน, กรรมฐาน, หลงรูป, ราคะจริต, ความสุข

เพื่อไถ่ถอนเงื่อนปมที่นำไปสู่การหลงรูป ทางพุทธศาสนามีสิ่งที่เรียกว่า “อสุภกรรมฐาน” บางคนอาจเคยได้ยินทำนองว่า พระเอา “ศพ” มาเก็บไว้เพื่อฝึกจิตและพิจารณาความจริง

คำถามคือ “อสุภกรรมฐาน” นั้นคืออะไรกันแน่?

คำนี้มาจากคำว่า อสุภ + กรรมฐาน ซึ่ง อสุภ (อ่านว่า อะ-สุ-ภะ) แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม ส่วน กรรมฐาน แปลว่า ตั้งอารมณ์ไว้ให้เป็นการเป็นงาน

พอสองคำนี้มารวมกันแปลว่า การตั้งจิตใจไว้กับเรื่องไม่สวยไม่งาม หรือกรรมฐานที่ยึดเอาซากศพเป็นอารมณ์เพื่อพิจารณาให้เห็นความไม่งามความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต

spacebar สเปซบาร์, อสุภะ, อสุภกรรมฐาน, กรรมฐาน, หลงรูป, ราคะจริต, ความสุข
Photo: ผนังระหว่างหน้าต่างภายในพระอุโบสถ วัดโสมนัสวิหาร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์

สำหรับคนที่อยากรู้ อสุภ ที่ว่าไม่สวย ไม่งาม นั้นมีอะไรบ้าง ขอลงรายละเอียดอีกนิด ตามตำราระบุว่ามีอยู่ 10 อย่าง ได้แก่

1. ซากศพที่พองขึ้นอืด (อุทธุมาตกะ)

2. ซากศพที่เขียวคล้ำ มีสีแดง เขียว ขาว ปะปนกันไปตามสภาพ (วินีลกะ)

3. ซากศพที่มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลเยิ้ม (วิปุพพกะ)

4. ซากศพที่ขาดกลางตัว (วิจฉิททกะ)

5. ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน เว้าแหว่ง (วิกขายิตกะ)

spacebar สเปซบาร์, อสุภะ, อสุภกรรมฐาน, กรรมฐาน, หลงรูป, ราคะจริต, ความสุข
Photo: ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี

6. ซากศพที่มีมือ เท้า ศีรษะขาดหายไป (วิกขิตตกะ)

7. ซากศพที่ถูกบั่นเป็นท่อนๆ นำมาวางใกล้ๆ กัน (หตวิกขิตตกะ)

8. ซากศพที่ถูกประหารมีเลือดไหลนอง โลหิตกะ)

9. ซากศพที่เน่าเฟะคลาคล่ำด้วยตัวหนอน (ปุฬุวกะ)

10. ซากศพที่เหลือแต่โครงกระดูก (อัฏฐิกะ)

ถามว่าพิจารณาให้ได้อะไรขึ้นมา คำตอบคือทำเพื่อให้ปลง และไม่สนใจอะไรที่สวยๆ งามๆ เนื่องจากอสุภกรรมฐานเป็นกรรมฐานที่มุ่งกระทำต่อคนที่มี ‘ราคะจริต’ ชอบของสวยๆ งามๆ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเนี้ยบ เก๋ เท่ รวมถึงเรื่องเชิงกามารมณ์ เพราะแท้จริงแล้ว สภาพของสรรพสิ่งไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นที่ชอบ

spacebar สเปซบาร์, อสุภะ, อสุภกรรมฐาน, กรรมฐาน, หลงรูป, ราคะจริต, ความสุข
Photo: จิตรกรรมฝาผนังระหว่างหน้าต่างพระอุโบสถวัดเทวราชกุญชร. FB Page แง้มประตู ดูจิตรกรรม

การมองสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม (หรือซากศพ) ช่วยให้เราเห็นความจริงของวัตถุที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตที่หลงใหลว่าสวยสดงดงามมากขึ้น

เพราะการมองเห็นและติดใจว่าสวย เป็นการฝืนกฎธรรมชาติ และเป็นที่มาของความทุกข์ที่ไม่จบไม่สิ้น เนื่องจากธรรมชาติมีความสวยและความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา มาคู่กันเป็นแพคเกจ

เมื่อสภาพจริงแท้ของธรรมชาติเป็นเช่นนั้น จะรัก จะชอบ จะชังแบบใดแบบหนึ่ง จะเป็นการฝืนความจริง พอฝืนไม่ยอมรับสภาพที่เป็นจริง ไฟทุกข์ก็เลยลุกไหม้เผาลนใจอยู่ร่ำไป

ไม่รู้ว่าที่คนยุคนี้ทุกข์ใจกันมาก ซึมเศร้ากันก็ไม่น้อย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสิ่งที่เราเสพ ไม่ว่าดู อ่าน ฟังมีแต่ความลวงอันเลื่อนลอยที่กล่นเกลื่อนนิวส์ฟีดของเราเต็มไปหมด

spacebar สเปซบาร์, อสุภะ, อสุภกรรมฐาน, กรรมฐาน, หลงรูป, ราคะจริต, ความสุข

เราจึงเพลิดเพลินกับคนสวยๆ ของงามๆ ไลฟ์สไตล์เก๋ๆ หรูๆ ดูเอ็กซ์คลูซีฟ จนหลงเพลิดไปในสารโฆษณาชวนเชื่อไร้แก่นสารที่มองเราเป็นผู้บริโภคมากกว่าความเป็นมนุษย์

จนเตลิดไปในความลวง ‘หลงรูป’ จน ‘ลืมชีวิต’ ความจริง และความสุข

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์