นับถอยหลังสู่วันสมรสเท่าเทียม LGBTQIAN+ ทั่วไทยนับ 1,000 คู่ พร้อมบันทึกสถิติโลก

9 ธ.ค. 2567 - 07:00

  • "สมรสเท่าเทียม" ก้าวสำคัญของความรักไม่มีเงื่อนไขและความเท่าเทียมในสังคมไทย หนึ่งในหัวใจของความยั่งยืน

  • บทสรุปของการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมาย สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสจะเป็นอย่างไร เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้บังคับ

ecoeyes-bangkok-countdown-to-historic-marriage-equality-day-SPACEBAR-Hero.jpg

สมรสเท่าเทียมไทย ก้าวสำคัญของความรักไม่มีเงื่อนไขและความเท่าเทียมในสังคม

หลังจาก กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในประเทศไทย ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นับเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่ยกระดับความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนของ LGBTQIAN+ ประเทศไทย ทั้งยังเป็นการยืนยันความก้าวหน้าทางสิทธิและความเท่าเทียมที่ภาคประชาชนและทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ต้นปีหน้า ในวันที่ 23 มกราคม 2568 จะกลายเป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยและโลก เมื่อคู่รัก LGBTQIAN+ ทั่วประเทศนัดจดทะเบียนสมรสอย่างเท่าเทียมตามกฎหมายไทยเป็นครั้งแรก พร้อมบันทึกสถิติโลกใหม่ใน Guinness World Records ด้วยการจดทะเบียนสมรสของคู่รัก LGBTQIAN+ มากที่สุดในโลกกว่า 1,000 คู่ ในวันเดียวกัน ที่พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” หลังจากไต้หวัน และเนปาล ขณะที่เดนมาร์กเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 1989

ecoeyes-bangkok-countdown-to-historic-marriage-equality-day-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: คู่รัก LGBTQIAN+ ร่วมแสดงเจตนารมย์และยินดีกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ความสำคัญของสมรสเท่าเทียมในบริบทโลกและประเทศไทย

ความเท่าเทียมไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในระดับประเทศ แต่ยังเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องของโลกร้อน ต้นไม้ หรือขยะ แต่ยังมุ่งส่งเสริมความเสมอภาคในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของเพศและอัตลักษณ์ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือนกันยายน 2567 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการยอมรับความหลากหลายทางเพศ โดยไม่เพียงแต่ยกระดับสิทธิของชุมชน LGBTQIAN+ แต่ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวและจดทะเบียนสมรสในประเทศไทย

การที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชน เช่น กรุงเทพมหานคร กระทรวง รวมถึงบริษัทต่างๆ เช่น สยามพิวรรธน์ และ Match Group (MTCH) เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเปิดกว้างให้กับทุกคน

ecoeyes-bangkok-countdown-marriage-equality-day-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: “นฤมิตไพรด์” นับถอยหลังสู่วันสมรสเท่าเทียม ชวนชาว LGBTQIAN+ ร่วมสร้างประวัติศาสตร์จดทะเบียนสมรสพร้อมกันทั่วไทยกว่า 1,000 คู่ ต้นปี 68 บันทึกสถิติโลกกินเนสส์

ไทยพร้อมทุบสถิติโลก รับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

วันที่ 23 มกราคม 2568 “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” จะมีผลใช้บังคับ ในวันสำคัญนี้คู่รัก LGBTQIAN+ กว่า 1,000 คู่ (ยอดที่คาดการณ์) จะได้จดทะเบียนสมรสพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเจ้าของสถิติโลกใหม่ในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมมากที่สุดในโลก แซงหน้าสถิติเดิมของเมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ที่ทำไว้ 160 คู่ ในปี 2014 (2557) การสร้างสถิติครั้งนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการก้าวหน้าในด้านสิทธิของชุมชน LGBTQIAN+ แต่ยังเป็นการยืนยันถึงความรักที่ไม่มีเงื่อนไขทางเพศและเพศสภาพ ซึ่งจะช่วยทำลายข้อจำกัดทางสังคมที่เคยขวางกั้นการแสดงออกของความรักในรูปแบบต่างๆ

ecoeyes-bangkok-countdown-to-historic-marriage-equality-day-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: คู่รัก LGBTQ ในตำนานจากซีรีส์วาย พอร์ช - อภิวัฒน์ และ อาม - สัพพัญญู เตรียมตัวสำหรับการจดทะเบียนสมรสในงานใหญ่ครั้งนี้

คู่รักคนดังไทยเตรียมจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 

คู่รักจากวงการบันเทิงหลายคู่ไม่พลาดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งนี้ อาทิ คู่รักดังอย่าง ยู่ยี่ - เอิ้น, ปีใหม่ - ป๋าต๊อบ และคู่รัก LGBTQ ในตำนานจากซีรีส์วาย พอร์ช - อภิวัฒน์ และ อาม - สัพพัญญู รวมถึงคู่รักอีกหลายคู่ที่ได้เตรียมตัวสำหรับการจดทะเบียนสมรสในงานใหญ่ครั้งนี้  

การยอมรับที่สร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง 

การที่ประเทศไทยยอมรับสมรสเท่าเทียมส่งผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ ได้มากกว่า 4 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่ม GDP ของประเทศขึ้น 0.3% การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เพียงแต่ช่วยยกระดับสิทธิของชุมชน LGBTQIAN+ แต่ยังทำให้ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความหลากหลายและความเท่าเทียมในระดับโลก

ecoeyes-bangkok-countdown-to-historic-marriage-equality-day-SPACEBAR-Photo04.jpg

บทสรุปของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนี้ คือ “การแก้กฎหมาย” 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 โดยมีผลใช้บังคับ 22 มกราคม 2568
 

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าจะเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ จากกฎหมายสมรสปัจจุบันที่การหมั้น ใช้คำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” แก้ไขเป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น” หรือ “เพศ” ที่ใช้คำว่า “ชาย-หญิง” แก้ไขเป็น “บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย”

สถานะหลังจดทะเบียนสมรส จาก “สามีภริยา/คู่สมรส” แก้เป็น “คู่สมรส/คู่สมรส” รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
 

สิทธิและหน้าที่เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้บังคับ 

  • การหมั้น (มาตรา 1435)- การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ 
  • การสมรส (มาตรา 1448) - การสมรสจะกระทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์  แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้  
  • การจดทะเบียนสมรส (มาตรา 1458) - การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย  
  • การหย่า (มาตรา 1515) – เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว  
  • การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน และการจัดการหนี้สินร่วมกัน 
  • สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส 
  • การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล 
  • การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ (มาตรา 1463) ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  
  • การอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส (มาตรา 1598/38) – ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดู ไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ  
  • การรับบุตรบุญธรรมร่วมกันในฐานะคู่สมรส ใช้สิทธิตามกฎหมายแพ่งฯ ในมาตราว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรม
ecoeyes-bangkok-countdown-to-historic-marriage-equality-day-SPACEBAR-Photo05.jpg

ความเสมอภาคทางเพศและความเท่าเทียม เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย ไม่ได้เป็นเพียงการยอมรับสิทธิในการแต่งงานของคู่รัก LGBTQIAN+ เท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันการขับเคลื่อนสังคมที่ยึดหลักความเสมอภาค (Equality) และสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง ซึ่งมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ   

  • ประการแรก ความเสมอภาคทางเพศ (Goal 5: Gender Equality)

กฎหมายสมรสเท่าเทียมยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการรักและสร้างครอบครัวตามที่ตนเลือก ไม่ว่าจะเป็นคู่รักเพศเดียวกัน หรือคู่รักต่างเพศ โดยไม่แบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติจากเพศหรือเพศสภาพ การยอมรับสิทธิในการสมรสของ LGBTQIAN+ เป็นการยืนยันว่าความรักไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดด้วยเพศ และไม่ควรมีการแบ่งแยกตามความแตกต่างทางเพศอีกต่อไป  

การที่ไทยออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2567 ถือเป็นการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายที่ 5 ของสหประชาชาติ ที่ต้องการลดความไม่เท่าเทียมทางเพศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านสิทธิทางกฎหมายและความสามารถในการก่อตั้งครอบครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  

  • ประการที่  2 การลดความไม่เท่าเทียม (Goal 10: Reduced Inequality)

หนึ่งในปัญหาหลักของชุมชน LGBTQIAN+ คือการถูกเลือกปฏิบัติและการจำกัดสิทธิ ซึ่งรวมถึงการไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย เนื่องจากข้อจำกัดที่มาจากอคติทางสังคมและกฎหมายเดิมๆ การให้สิทธิในการสมรสแก่คู่รัก LGBTQIAN+ ภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียม จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมที่เคยเกิดขึ้นในสังคม  

การลดความไม่เท่าเทียมนี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวกับสิทธิในการสมรสเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สิทธิในการดูแลสุขภาพ สิทธิในการได้รับมรดก สิทธิในการดูแลบุตร และสิทธิอื่นๆ ที่ทำให้คู่รัก LGBTQIAN+ สามารถมีชีวิตครอบครัวที่มีความมั่นคงและได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างเท่าเทียม การสร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่า "ความรักไม่มีเงื่อนไข" และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสร้างครอบครัวของตัวเองตามแบบที่พวกเขาต้องการ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์