สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนมาตั้งฉากกับประเทศไทย โดยในวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากดวงอาทิตย์จะอยู่ในตำแหน่งเหนือศีรษะพอดี ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก” หรือ Solar Zenith ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ตรงศีรษะของพื้นที่ จนแสงแดดตกลงมาในแนวดิ่ง ผลลัพธ์คือเงาของวัตถุที่เคยทอดยาวจะหายวับไป เพราะตกอยู่ใต้ตัวเราพอดี จึงเสมือน “ไม่มีเงา” นั่นเอง
ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก เกิดปีละ 2 ครั้ง

เหตุการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณละติจูด 5-20 องศาเหนือ ทำให้ในแต่ละปีดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับพื้นที่ได้ถึง 2 ครั้ง โดยแต่ละจังหวัดของประเทศไทยจะเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศรีษะไม่พร้อมกัน ซึ่งจะเริ่มจากทางภาคใต้ก่อน ในปี 2568 ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ดวงอาทิตย์ตั้งฉากตรงกับวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เวลาประมาณ 12.19 น.
จากนั้นดวงอาทิตย์ก็จะโคจรอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นที่ต่างๆ ของไทย ไล่ลำดับขึ้นเหนือมาเรื่อยๆ และจะสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 22 พฤษภาคม เวลาประมาณ 12.17 น.
สำหรับกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากในวันที่ 27 เมษายน เวลา 12.16 น. ชาวกรุงเทพฯ ลองพิสูจน์ได้

นอกจากนี้ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากครั้งที่ 2 ในประเทศไทยจะเกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2568
วันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากจะร้อนที่สุดไหม? แล้วอันตรายหรือเปล่า?
การที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่ใด ไม่ได้หมายความว่าอุณหภูมิในวันนั้นร้อนที่สุด เพราะการที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลก แม้จะทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เรื่องของฝน อิทธิพลจากลมมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ความชื้น เมฆ รวมถึงปรากฏการณ์เกาะความร้อนที่อาจสะสมในเมือง ดังนั้น วันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากจึงอาจไม่ใช่วันที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเสมอไป
อยากดูดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ต้องทำอย่างไร?
สำหรับสัปดาห์มีการคาดการณ์ว่าอากาศจะร้อนจัด ดังนั้น ใครที่อยากจะพิสูจน์ปรากฏการณ์นี้ก็ต้องดูแลสุขภาพให้ดี และไม่แนะนำให้อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดฮีทสโตรก หรืออาการเพลียแดดได้ง่ายมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และคนที่มีโรคประจำตัว

เตรียมตัวอย่างไรให้อยู่รอดกลางแสงแดด
- หลีกเลี่ยงการอยู่นอกอาคารในช่วงที่แดดร้อนจัด เวลา 11.00-15.00 น. รวมทั้งสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน หรือมากกว่านั้นหากต้องออกนอกบ้าน
- พกหมวก แว่นกันแดด และครีมกันแดด เพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวีที่แรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง