‘Waste Nothing-มันส์ แล้ว ทิ้ง’ เทศกาลดนตรีที่รักษ์โลกแบบมันส์ๆ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น!

6 ธ.ค. 2567 - 03:09

  • บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 เมื่อความมันส์ของเทศกาลดนตรีและความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมาบรรจบกัน

ecoeyes-big-mountain-14-waste-nothing-eco-friendly-music-festival-SPACEBAR-Hero.jpg

ลมหนาวโชยมาได้เวลาออกไปค้นหาความสุขกับเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14” ที่ครั้งนี้ปลุกสำนึกพร้อมสานต่อแคมเปญรักษ์โลกในชื่อใหม่ “Waste Nothing – มันส์ แล้ว ทิ้ง” ด้วยการชวนแฟนคอนมาปล่อยจอย ร่วมสนุกอย่างรับผิดชอบ ทิ้งให้ถูกที่ แยกให้ถูกถัง เพื่อส่งขยะเหล่านั้นไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบได้จริง ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเป็น Eco-friendly Music Festival หรือเทศกาลดนตรีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ecoeyes-big-mountain-14-waste-nothing-eco-friendly-music-festival-SPACEBAR-Photo01.jpg

Waste Nothing - มันส์ แล้ว ทิ้ง : รักษ์โลกในทุกการกระทำ 

สำหรับเทศกาลดนตรีใหญ่ระดับประเทศ อย่าง เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 7-8 ธันวาคม 2567 ณ ดิโอเชี่ยน เขาใหญ่ นครราชสีมา ไม่ได้เป็นแค่การรวมตัวของแฟนเพลงจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อร่วมสนุกกับคอนเสิร์ตสุดมันส์เท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับเทศกาลดนตรีให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนช่วยกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและทิ้งขยะให้ถูกที่ โดยเฉพาะขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ด้วยการจัดให้มีจุดแยกขยะมากถึง 55 จุดทั่วพื้นที่จัดงาน ซึ่งแต่ละจุดจะมีถังขยะ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ 

  1. ขวดพลาสติก PET– ถังสำหรับขวดพลาสติก PET ที่สามารถรีไซเคิลได้ 
  2. กระป๋องอะลูมิเนียม – สำหรับทิ้งกระป๋องเครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ 
  3. ขยะอาหาร – สำหรับขยะที่เกิดจากการกินอาหารภายในงาน 
  4. ขยะทั่วไป – ขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และต้องกำจัดอย่างถูกวิธี
ecoeyes-big-mountain-14-waste-nothing-eco-friendly-music-festival-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ภาพ : Big Mountain Music Festival

ทำไมการคัดแยกขยะในงานดนตรีถึงสำคัญ? 

การจัดการขยะในงานดนตรีขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะแฟนเพลงจำนวนมากมักทิ้งขยะไปโดยไม่สนใจหรือไม่ทราบวิธีการคัดแยกที่ถูกต้อง แต่การมีระบบการคัดแยกขยะที่ชัดเจนและมีการแนะนำจากทีมงานหรืออาสาสมัคร จะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องถูกทิ้งในหลุมฝังกลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การรีไซเคิลขยะยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน  

ผลสำเร็จจากการคัดแยกขยะในปีที่ผ่านมา 

สำหรับบิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 13 ในปีที่ผ่านมา สามารถคัดแยกขยะได้มากถึง 5,035 กิโลกรัม โดยมีขยะประเภทขวดพลาสติก PET จำนวน 1,795 กิโลกรัม, กระป๋องอะลูมิเนียม 1,075 กิโลกรัม, ขยะเศษอาหาร 705 กิโลกรัม และขยะทั่วไป 1,460 กิโลกรัม ขยะที่แยกได้ทั้งหมดจะถูกนำไปรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม เช่น ขวดพลาสติก PET ที่ถูกรีไซเคิลกลับมาเป็นขวดใหม่ในกระบวนการ Bottle-to-Bottle Recycling 

การสร้างแรงบันดาลใจและความร่วมมือจากเยาวชน 

หนึ่งในจุดเด่นของแคมเปญ Waste Nothing - มันส์ แล้ว ทิ้ง คือการมีส่วนร่วมของเยาวชนและอาสาสมัครกว่า 100 คน ที่ช่วยกันดูแลและเก็บขยะที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล ภายใต้คอนเซปต์ Mobile Bins ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถสะดวกในการทิ้งขยะในจุดที่กำหนด ซึ่งการมีส่วนร่วมของเยาวชนในกิจกรรมนี้ยังช่วยปลูกฝังแนวคิดในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและส่งต่อไปยังชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ecoeyes-big-mountain-14-waste-nothing-eco-friendly-music-festival-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ภาพ : Big Mountain Music Festival

เทศกาลดนตรีที่สนุกและรับผิดชอบ

บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดงานดนตรีที่ไม่เพียงแต่สนุก แต่ยังมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำให้ทุกคนร่วมมือกันรักษ์โลกได้แบบมันส์ๆ และยังเป็นการสร้าง Eco-friendly Music Festival มาตรฐานใหม่ให้กับเทศกาลดนตรีในไทยเพื่อให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์