เปิดขั้นตอนลดค่าธรรมเนียม ‘บ้านนี้ไม่เทรวม’ ลงทะเบียนที่ไหน เริ่มใช้เมื่อไหร่ แยกอย่างไร มีคำตอบ!

16 ม.ค. 2568 - 09:25

  • หัวใจของการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองไม่ใช่การ “เพิ่มเงิน” เก็บขยะ แต่คือการ “ลดขยะ” จากต้นทาง

  • รวมเรื่องต้องรู้ของโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม : ลดขยะลดค่าธรรมเนียม” แยก 20 ไม่แยก 60 เซฟไว้ได้ใช้แน่นอน

ecoeyes-bkk-waste-pay-reduce-waste-reduce-fees-SPACEBAR-Hero.jpg

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเก็บขยะได้ราว 10,000 ตันต่อวัน เกือบ 50% เป็นเศษอาหาร แต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะ 7,000 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากส่วนนี้แค่ 500 ล้านบาทต่อปี หากเราสามารถลดค่าใช้จ่ายลง จะสามารถนำเงินไปใช้ด้านศึกษา สาธารณสุข ดูแลผู้สูงอายุ

เมื่อหัวใจไม่ใช่การ “เพิ่มเงิน” เก็บขยะ แต่คือการ “ลดขยะ” จากต้นทาง

ecoeyes-bkk-waste-pay-reduce-waste-reduce-fees-SPACEBAR-Photo01.jpg

ล่าสุด กรุงเทพมหานครแถลงความพร้อมการลงทะเบียน “บ้านนี้ไม่เทรวม : ลดขยะลดค่าธรรมเนียม” ผ่านทางแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay ระบบรองรับการจัดเก็บขยะจากประชาชนที่ร่วมคัดแยกขยะ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. .... พร้อมชวนคนกรุงเทพฯ ลงทะเบียนล่วงหน้าได้ทันที 

โดยก่อนหน้านี้สภากรุงเทพมหานคร ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... ไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 และข้อบัญญัตินี้จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน (คาดว่าจะเริ่มใช้จริงช่วงครึ่งปีหลัง) 

ปัญหาขยะล้นเมือง กระทบคุณภาพชีวิตของคนกรุง 

ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นภาระต่องบประมาณที่นำมาจัดการขยะ เพื่อรับมือกับวิกฤตขยะ กรุงเทพมหานครได้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน 2 นโยบายหลัก ได้แก่ การแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นให้ประชาชนและองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันแยกขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิด เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด และการเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะเปียกจากองค์กรต่างๆ เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมัก รวมถึงนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะ

ecoeyes-bkk-waste-pay-reduce-waste-reduce-fees-SPACEBAR-Photo02.jpg

ทำไมต้องแยกขยะ?

ทางแก้ที่ยั่งยืนของปัญหาขยะล้นเมือง คือการย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการเกิดขยะ โดยเฉพาะขยะจากบ้านเรือน ร้านอาหาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า ซึ่งการ “แยกขยะ” เป็นหัวใจในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เพราะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบหรือเผาทิ้ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการจัดการขยะ เพิ่มประสิทธิภาพการรีไซเคิล และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ecoeyes-bkk-waste-pay-reduce-waste-reduce-fees-SPACEBAR-Photo03.jpg

ใครต้องแยกขยะ? 

ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ปรับปรุงใหม่ ค่าธรรมเนียมขยะจะถูกแบ่งตามกลุ่มประเภทต่างๆ ดังนี้  

กลุ่มที่ 1: บ้านพักอาศัยทั่วไป คอนโด ชุมชน  

มีขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือ 4 กิโลกรัม 

  • หากไม่แยกขยะ: ค่าธรรมเนียม 60 บาท/เดือน 
  • หากแยกขยะ: ค่าธรรมเนียม 20 บาท/เดือน 

กลุ่มที่ 2: ร้านอาหาร ร้านค้า ออฟฟิศ  

มีขยะเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร 

  • ค่าธรรมเนียม 120 บาท ต่อ 20 ลิตร  

กลุ่มที่ 3: ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานประกอบการขนาดใหญ่  

มีขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเกิน 200 กิโลกรัม 

  • ค่าธรรมเนียม 8,000 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร
ecoeyes-bkk-waste-pay-reduce-waste-reduce-fees-SPACEBAR-Photo V01.jpg

แยกขยะยังไง ให้ได้ลดค่าธรรมเนียม?

กรุงเทพมหานครได้จัดระบบรองรับขยะที่ประชาชนคัดแยก ประกอบด้วย 

1 ขยะเปียก ขยะเศษอาหาร 

ให้เทน้ำทิ้ง กรองเฉพาะเศษอาหาร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก หรือเป็นอาหารสัตว์ หรือใส่ถุงสีเขียว มัดปากถุงให้แน่นทิ้งในถังสีเขียวหรือจุดทิ้งที่เขตกำหนด เพื่อรอสำนักงานเขตเข้าไปจัดเก็บตามรอบเวลา  

2 ขยะทั่วไป 

เช่น ซองขนม เศษผ้า แก้วกาแฟ ถุงแกง กล่องโฟม ถุงพลาสติก ฯลฯ ให้รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็น มัดปากถุง ทิ้งลงถังขยะทั่วไป สีน้ำเงิน ในชุมชน/หมู่บ้าน รอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด

3 ขยะรีไซเคิล  

เช่น ขวดพลาสติก ขวดน้ำ ขวดแก้ว ฯลฯ สามารถนำไปขายหรือแยกทิ้งให้กับสำนักงานเขต โดยฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทา งซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะรีไซเคิล หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ จัดตลาดนัดรีไซเคิลในชุมชน นอกจากนี้ ได้ประสานกับแอปพลิเคชันรับซื้อหรือรับบริจาคขยะมารับขยะถึงหน้าบ้าน หรือสามารถขายให้กับร้านหรือรถรับซื้อของเก่า

4 ขยะอันตราย  

เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ กระป๋องแก๊ส กระป๋องสเปรย์ และยาหมดอายุ เป็นต้น รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน หรือเขียนข้อความติดที่ป้าย นำไปทิ้งในจุดทิ้งขยะอันตราย ถังสีส้ม ในชุมชน หมู่บ้าน สำนักงานเขต หรือฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทาง ซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะอันตราย หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์  

ลงทะเบียนยังไง?

การลงทะเบียนแบบเดี่ยว 

สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม ผู้ที่ลงทะเบียนในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย หมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม แฟลต ที่ไม่มีนิติบุคคล โดยเจ้าของบ้านหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ BKK Waste Pay 

กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียม หรือลงทะเบียนที่สำนักงานเขตที่บ้านเรือนตั้งอยู่  

การลงทะเบียนแบบกลุ่ม  

สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะเชิญนิติบุคคลมาประชุมเพื่อแจ้งรายละเอียดและแนวทางการจัดที่พักรวมมูลฝอย

ลงทะเบียนต้องเตรียมอะไรบ้าง?

สิ่งที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ประกอบด้วย รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ชื่อ-สุกล เบอร์โทรศัพท์

เมื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วในแอปฯ จะมีช่องให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการถ่ายรูปขยะที่ทำการคัดแยก แล้วอัปโหลดลงระบบเพื่อให้ตรวจสอบว่ามีการคัดแยกจริง โดยใช้ AI ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรูปภาพว่าเป็นการคัดลอกมาจากผู้อื่นหรือไม่ รวมทั้งจะมีการติดสติกเกอร์แสดงหน้าอาคารที่เข้าร่วมโครงการ บ้านเรือนที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงใส่ขยะเศษอาหารสำหรับ 1 ปีแรก ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะทุก ๆ 3 เดือน  

ลงทะเบียนได้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

กรุงเทพมหานครเริ่มให้ลงทะเบียนล่วงหน้าได้แล้ววันนี้ เพื่อสำนักงานเขตจะนำไประบุพิกัดบ้านที่มีการคัดแยกขยะ และระบบจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้

ecoeyes-bkk-waste-pay-reduce-waste-reduce-fees-SPACEBAR-Photo04.jpg

ช่วงนี้ก็ทยอยดาวน์โหลดแอปฯ ลงทะเบียน แล้วซ้อมแยกขยะ จัดการเรื่องถังขยะหรือที่จัดเก็บขยะแต่ละประเภทให้พร้อม ฝึกทำให้เป็นนิสัย แล้วอัปเดตข่าวสาร สาระน่ารู้เรื่องความยั่งยืนได้ทุกวัน กับ ECO EYES ได้ที่ SPACEBAR

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์