หมากฝรั่งไม่ใช่แค่ขยะ! แต่มันคือปัญหามลพิษพลาสติกที่มาจากปากเรานี่แหละ

20 มี.ค. 2568 - 09:23

  • คนกว่า 75% ไม่รู้ว่ามีพลาสติกอยู่ใน “หมากฝรั่ง”

  • หมากฝรั่งที่เคี้ยวเสร็จจะแข็ง แตกร้าว และสลายตัวเป็น “ไมโครพลาสติก” ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนเหล่านี้อาจใช้เวลานับสิบปี

Ecoeyes-chewing-gum-is-not-just trash-it-is-plastic-pollution-problem-SPACEBAR-Hero.jpg

อะไรเอ่ย? เล็กน้อยแบบเคี้ยวในปากได้ แต่บานปลายเป็นปัญหามลพิษสร้างวิกฤตให้โลก

คำตอบคือ “หมากฝรั่ง”

ใครจะไปคิดว่าพลาสติกหลายพันตันที่หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อมทุกปี…มาจากปากของพวกเราเหล่านักเคี้ยว เพราะส่วนใหญ่ “หมากฝรั่ง” ที่ขายกันเกลื่อนตามร้านสะดวกซื้อทำมาจาก “ยางสังเคราะห์” ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนพลาสติกที่ใช้ทำยางรถยนต์ ใช่แล้ว! อ่านไม่ผิดหรอก...พวกเราเคี้ยวพลาสติก!!

และคนกว่า 75% ไม่รู้ว่ามีพลาสติกอยู่ใน “หมากฝรั่ง”

Ecoeyes-chewing-gum-is-not-just trash-it-is-plastic-pollution-problem-SPACEBAR-Photo01.jpg

ใครกำลังคิดว่าแนวคิดนี้ค่อนข้างน่าวิตกกังวล บอกเลยว่าคุณไม่ได้เป็นคนเดียว เพราะมีการทำวิจัยและพูดถึงปัญหามลพิษจากพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้นี้มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว ทว่า บริษัทผู้ผลิตของเหนียวเคี้ยวเพลินไม่เคยโฆษณาเลยด้วยซ้ำว่า “หมากฝรั่งทำมาจากอะไร?”  แถมพวกเขายังหลีกเลี่ยงรายละเอียดด้วยการระบุเพียงว่ามี “Gum Base” เป็นส่วนผสม

แม้ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนสำหรับ “Gum Base” แต่ที่แน่ๆ คือมันมาจากกระบวนการสังเคราะห์และถูกจัดให้อยู่ในประเภทของ Food Grade

Wrigley Oral Health หนึ่งในโครงการของแบรนด์หมากฝรั่งชื่อดัง ระบุว่า “Gum Base” คือสิ่งที่ยึดส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อให้มีเนื้อสัมผัสที่เนียนนุ่ม และช่วยให้หมากฝรั่งมีรสชาติมากขึ้น มีเนื้อสัมผัสที่ดีขึ้น พร้อมกับความเหนียวน้อยลง ซึ่งฟังดูแทบจะไม่เป็นอันตราย แต่จากการวิเคราะห์ทางเคมีเผยให้เห็นว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

โดยงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Analytica Chimica Acta เผยให้เห็นว่าหมากฝรั่งมีสไตรีนบิวทาไดอีน (styrene-butadiene) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ทนทานและใช้ผลิตยางรถยนต์, โพลีเอทิลีน (polyethylene) พลาสติกที่ใช้ผลิตถุงและขวด รวมถึงโพลีไวนิลอะซิเตท (polyvinyl acetate) ที่ใช้ทำกาวไม้ พ่วงด้วยสารให้ความหวานและการเติมแต่งกลิ่น-สีเพื่ออรรถรสในการเคี้ยว

ทั้งนี้ มีการประเมินตัวเลขการผลิตหมากฝรั่งต่อปีทั่วโลกมากถึง 1.74 ล้านล้านชิ้น และส่วนใหญ่หมากฝรั่งแต่ละชิ้นมีน้ำหนักเฉลี่ย 1.4 กรัม ดังนั้นจึงหมายความว่าทั่วโลกผลิตหมากฝรั่งมากถึง 2.436 ล้านตันต่อปี โดย 30% ของน้ำหนักนั้นเป็น Gum Base หรือพลาสติกที่เคี้ยวได้ และเรามักทิ้งก้อนหมากฝรั่งเมื่อหมดรสหวานลงในถังขยะทั่วไป หรือบ้างก็พ่นตามริมทาง ทิ้งลงพื้น (หรือแปะตามโต๊ะ เก้าอี้ ผนัง ใครเคยทำยอมรับมา)

Ecoeyes-chewing-gum-is-not-just trash-it-is-plastic-pollution-problem-SPACEBAR-Photo02.jpg

แน่นอนว่ามันก็ทำหน้าที่รอการสลายตัวเหมือนกับพลาสติกชนิดอื่นๆ เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่มันจะแข็ง แตกร้าว และสลายตัวเป็น “ไมโครพลาสติก” ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจใช้เวลานานนับสิบปี ดังนั้นจึงต้องมีการทำความสะอาดเศษหมากฝรั่งที่ถูกทิ้ง เฉพาะแค่ในสหราชอาณาจักร มีการประเมินว่าต้องใช้เงินราว 300 ล้านบาทเพื่อจัดการกับหมากฝรั่งโดยเฉพาะ

“แม้จะมีการบริจาคเงินจากผู้ผลิตหมากฝรั่งในแต่ละปีเพื่อทำความสะอาด ก็เหมือนกับการที่ผู้ผลิตพลาสติกจ่ายเงินให้คนเก็บขยะที่มาจากบริษัทของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือในหลายสถานที่สาธารณะได้ติดตั้งถังเก็บหมากฝรั่งเพื่อเก็บและรีไซเคิลหมากฝรั่งที่ใช้แล้ว แต่ผู้คนทั่วไปก็ยังทิ้งหมากฝรั่งเรี่ยราด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีวิธีการที่ดีกว่านี้” David Jones จากภาควิชาสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ผู้เขียนรายงาน กล่าว

แก้ปัญหาหมากฝรั่งเหมือนพลาสติกใช้ครั้งเดียว

ปัญหานี้ต้องมองจากหลายๆ มุม ทั้งการศึกษา สร้างการรับรู้ ค้นหานวัตกรรม ลดการผลิต อย่าปล่อยให้เราแค่ซื้อมาแกะเข้าปาก เคี้ยวๆ แล้วทิ้งลงถังก็จบไป เพราะเราควรทำให้ผู้ผลิตรับผิดชอบ และอาจต้องมีการเก็บภาษีจากหมากฝรั่งสังเคราะห์เพื่อใช้จ่ายในการทำความสะอาด และกระตุ้นให้พวกเขาลงทุนใน หมากฝรั่งจากพืช หมากฝรั่งไร้พลาสติก เพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น

ถึงเวลาที่เราจะหยุดมองมันเป็นแค่ “ขยะ” แล้วมองมันเป็น “มลพิษพลาสติก” ได้แล้ว

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์