หลังเปิดฉากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 29 (COP29) ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ไป 1 สัปดาห์เต็ม เราอาจเห็นข่าวความเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณใหม่เพื่อให้นานาประเทศเห็นความสำคัญของการรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
จริงอยู่ว่ามันก็น่าสนใจ ทว่าเรื่องเหล่านั้นอาจหนักสมองไปสักนิด ในขณะที่เรื่องป่วนๆ บนเวทีระดับโลกก็เป็นอีกมุมที่น่าสนใจ และมีเรื่องให้คิดตาม (มากกว่า) เราจึงคัดเนื้อหาเน้นๆ มาพรีเซ้นต์จบใน 5 นาที

COP29 : เวทีแห่งความผิดหวังตั้งแต่ตั้งไข่
เริ่มต้นการประชุม COP29 เราตั้งความหวังว่าจะเจอความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะการหารือเรื่องการเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ผลกลับเหมือนกับการรอรถเมล์ที่ไม่มา!
ท่ามกลางความตึงเครียด ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน ประเทศเจ้าภาพที่จัดการประชุมในปีนี้ ตั้งท่าวิจารณ์ประเทศตะวันตกอย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนพิธีเปิด โดยกล่าวว่าสหรัฐและสหภาพยุโรปเป็น “ผู้เสแสร้งด้านสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งไม่เพียงสร้างบรรยากาศอึมครึมสำหรับการประชุมเจรจา แต่ยังทำให้ตัวแทนจากบางประเทศโบกมือลาการร่วมประชุม

COP29 = The Finance COP
COP29 นับเป็นวาระการประชุมเกี่ยวกับเงิน เงิน เงิน จำนวนมหาศาล จนได้รับการขนานนามว่า “COP ด้านการเงิน” เพราะเป็นการรวมตัวของตัวแทนประเทศทั่วโลก เพื่อกำหนดเป้าหมายการเงิน (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ด้านสภาพอากาศระดับโลกใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เพื่อช่วยเหลือประเทศกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลกจะต้องเต็มใจควักเงินช่วยเหลือ
โดยมีการตั้งเป้าหมายให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนเงินปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องการเงินประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม หรือภัยแล้ง ซึ่งนับเป็นการเรียกคืนความยุติธรรมด้านสภาพอากาศด้วยการเปย์อย่างหนักหน่วงเพราะห่วงโลก จนหลายคนกุมขมับว่า...แล้วใครจะยอมจ่าย?
COP29 หลายผู้นำคว่ำบาตร ขาด ลา ไม่เข้า
เริ่มที่ จัสติน คัตเชนโก รัฐมนตรีต่างประเทศของปาปัวนิวกินี ที่ออกมาคว่ำบาตร COP29 ตั้งแต่ก่อนเปิดงาน โดยเรียกการประชุมนี้ว่า “การประชุมที่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์”
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ และรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ไม่ได้เข้าร่วมประชุม COP29 เนื่องจากอยู่ในช่วงอำลาตำแหน่ง แต่ส่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานมาเป็นตัวแทน ยังมี เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป, สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน, ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่ไม่เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน
ส่วนผู้นำคนอื่นๆ ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงาน กษัตริย์ชาลส์แห่งสหราชอาณาจักร ให้เหตุผลเรื่องการฟื้นตัวจากโรคมะเร็ง ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน กำลังให้ความสำคัญกับสงครามในยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีของบราซิล ก็จะไม่เข้าร่วมการประชุมเนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ ในขณะที่อาร์เจนตินา ถอนตัวจากการประชุม หลังจากการโทรสนทนาระหว่างประธานาธิบดีของอาร์เจนตินาและทรัมป์จบลง อาร์เจนตินาก็เลือกที่จะไม่เข้าร่วมโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลชัดเจน
สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าแม้การประชุม COP29 จะมีการรวมตัวของประเทศจำนวนมาก แต่การขาดการสนับสนุนจากผู้นำระดับสูง ซึ่งทำให้ความหวังในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกดูเหมือนจะเลือนรางจางไป
ใครไม่มา แต่ตอลีบันอยากมา
อย่างที่บอกไปว่ามีผู้นำระดับโลกหลายคนไม่มาร่วมการประชุม COP29 แต่ที่น่าสนใจคือการที่กลุ่มตอลีบันจากอัฟกานิสถานได้รับโอกาสเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประชุม แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การที่กลุ่มตอลีบันได้รับการยอมรับในฐานะผู้มีอำนาจในประเทศ นับเป็นความพยายามของรัฐบาลตอลีบันในการแสดงบทบาทบนเวทีโลก โดยเฉพาะในประเด็นสภาพภูมิอากาศที่อัฟกานิสถานต้องเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม และโลกไม่สามารถนิ่งเฉยได้ในขณะที่ประชาชนอัฟกานิสถานต้องทนทุกข์จากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น

สหรัฐย้ำไม่มีการถอยหลัง แม้ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง
วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เจนนิเฟอร์ เอ็ม แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐ กล่าวปราศรัยในระหว่างการประชุม COP29 โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทำเนียบขาว
โดยแกรนโฮล์มกล่าวถึงความก้าวหน้าสำคัญในการเปลี่ยนแปลงจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด พร้อมย้ำว่า “ไม่มีการถอยหลัง” และยังให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างประเทศและนวัตกรรมในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งก่อนหน้านี้ จอห์น โพเดสตา ผู้แทนด้านสภาพอากาศของสหรัฐ ได้ขอให้รัฐบาลต่างๆ เชื่อมั่นในเศรษฐกิจพลังงานสะอาดของสหรัฐ โดยกล่าวว่าชัยชนะของทรัมป์ในสมัยที่ 2 น่าผิดหวังอย่างมาก และแม้ว่ารัฐบาลกลางของสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์อาจละเลยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ก็แค่ชะลอให้ทุกอย่างช้าลง แต่การทำงานเพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสหรัฐจะดำเนินต่อไป
เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวว่อนบากู ปล่อย CO₂ อื้อ!!
COP29 ที่บากู อาเซอร์ไบจาน ถูกจับตาและวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการไม่รักษ์โลก เพราะแม้จะเป็นการประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน แต่การเดินทางของบรรดาผู้นำกลับใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว โดยมีรายงานว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวถึง 65 ลำที่ลงจอดที่บากู เพิ่มขึ้นจาก 32 ลำในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะ 45 ลำที่มาถึงก่อนวันเริ่มต้นของการประชุม
Alethea Warrington หัวหน้าฝ่ายพลังงานและการบินจากองค์กรการกุศลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Possible กล่าวกับสื่ออังกฤษว่า “สำหรับ CEO ที่อ้างว่าห่วงใยกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมาที่ COP แสดงถึงความไร้จริยธรรมอย่างชัดเจน”

วาทะเดือดกว่าโลกเดือด
“อย่ากล่าวโทษของขวัญจากพระเจ้า!!”
ประธานาธิบดีอิลฮัม อาลีเยฟ ของอาเซอร์ไบจาน กล่าวในที่ประชุม COP29 ว่า “น้ำมัน ก๊าซ ลม ดวงอาทิตย์ ทองคำ เงิน หรือทองแดง ทั้งหมดเป็นทรัพยากรธรรมชาติ และประเทศใดๆ ไม่ควรถูกกล่าวโทษที่มีมัน และไม่ควรถูกกล่าวโทษที่นำมันเข้าสู่ตลาด เพราะตลาดต้องการทรัพยากรเหล่านี้”
“COP ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์อีกแล้ว”
บัน คี มุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ประกาศว่า “การประชุม COP ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์อีกแล้ว และเสนอให้มีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน รวมทั้งบอกว่าการประชุมครั้งต่อไปควรจัดในประเทศที่แสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” ความเห็นนี้มีขึ้นหลังจากอาร์เซอร์ไบจาน เจ้าภาพจัดการประชุม กล่าวในพิธีเปิดว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นของขวัญจากพระเจ้า
“รัฐน้ำมันเผด็จการจัดงานฟอกเขียว (Green Washing)”
เกรตา ธันเบิร์ก นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชาวสวีเดน กล่าวว่า “เป็นอีกครั้งที่การประชุมสภาพภูมิอากาศของ COP จัดในรัฐน้ำมันเผด็จการ” โดยวิจารณ์ว่าอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ใช้โอกาสนี้เพื่อการฟอกเขียว (Green Washing) ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ทำลายความชอบธรรมของการประชุมสภาพภูมิอากาศ
จุดจบของ COP29 ที่บากู อาเซอร์ไบจาน จะเป็นอย่างไร รอ Spacebar VIBE สรุปมาให้อ่านหลังรูดม่านการประชุม รอติดตามกันได้ ส่วนครึ่งแรกนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังเรื่อง Don’t Look Up ของ Adam McKay ที่นำแสดงโดย Leonardo Dicaprio และ Jennifer Lawrence นักดาราศาสตร์และนักศึกษาดาราศาสตร์ปริญญาเอกซึ่งค้นพบดาวหางกำลังจะพุ่งชนโลกในอีก 6 เดือนข้างหน้าจากการคำนวณแบบแม่นแป๊ะๆ ทว่ากลับถูกมองเป็นเรื่องลวงโลก และทุกอย่างหยุดชะงักเพราะเรื่องของเงิน ผลประโยชน์ ผู้นำที่เบาปัญญา และบลาบลา สุดท้ายโลกจะหายนะแค่ไหนไปติดตามกันต่อได้ เตือนไว้ก่อนว่าถ้าดูแบบเอามัน(ส์) เรื่องนี้มีสีสันและอารมณ์ขันพอตัว แต่ถ้าดูแล้วคิดตาม อาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนชวนประสาทแด(ร)กได้เหมือนกัน เพราะหนังเรื่องนี้ “สร้างจากเหตุการณ์จริงที่ยังไม่เกิดขึ้น”