หลายคนคงคุ้นเคยกับกิจกรรม 60+Earth Hour ที่มีขึ้นในทุกปี (ในวันเสาร์สุดท้ายของเดือนมีนาคม) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน โดยผู้คนจากทั่วโลกจะร่วมกันปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน รณรงค์และเชิญชวนผู้ประกอบการ ร้านค้า ประชาชน ลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา รวมถึงการถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่างๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ในคืนวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 20.30-21.30 น.

จุดเริ่มต้นของ Earth Hour
โครงการ Earth Hour เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2007 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีประชาชนกว่า 2.2 ล้านคนร่วมกันปิดไฟเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่กิจกรรมนี้จะขยายไปยังหลายประเทศทั่วโลกในปีต่อๆ มา สำหรับกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2008
โดยปีนี้ 5 แลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า สะพานพระราม 8 และ ภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) ได้ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์
สถิติ 60+ Earth Hour 2025 กรุงเทพฯ
ผลการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการไฟฟ้านครหลวง พบว่า ใน 1 ชั่วโมง สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 134 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันเสาร์ก่อนหน้า (15 มีนาคม 2568 ในช่วงเวลาเดียวกัน)
- สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ 621,746 บาท
- ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 58.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
- เทียบได้กับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 5,860 ต้น ใน 1 ปี (ไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อปี)
- เทียบกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จำนวน 485 เที่ยวบิน
- เทียบกับการใช้รถยนต์ดีเซลเป็นระยะทาง 351,600 กิโลเมตร
- เทียบกับการปิดไฟครัวเรือน 263,700 ครัวเรือน
สถิติย้อนหลัง 3 ปี 60+ Earth Hour กรุงเทพฯ
ผลจากการจัดกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour) ย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด เฉพาะกรุงเทพฯ จังหวัดเดียวสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ รวม 138.65 เมกะวัตต์ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 36.2 ตัน
- ปี 2567 ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 24.65 เมกะวัตต์ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 11 ตัน
- ปี 2566 ลดปริมาณไฟฟ้าได้ 36 เมกะวัตต์ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 5.2 ตัน
- ปี 2565 ลดปริมาณไฟฟ้าได้ 78 เมกะวัตต์ และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 20 ตัน

ปิดไฟแค่ปีละ 1 ชั่วโมง โลกคงร้อนขึ้นกว่าเดิม
แม้ตัวเลขอาจดูตัวมากพอตัว แต่ถ้าคิดว่าการปิดไฟเพียงแค่ 1 ชั่วโมงต่อปีจะช่วยลดโลกร้อนได้จริงๆ แล้ว อาจต้องคิดใหม่ เพราะมันน้อยไป (ความจริงคือน้อยมากๆๆๆๆ) เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก และโลกยังคงปล่อย CO2 จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะจากการเผาไหม้ฟอสซิล เช่น การใช้ถ่านหินและน้ำมัน
แล้วเราควรปิดไฟนานเท่าไหร่ถึงจะช่วยโลกได้จริง?
ถ้ามี Earth Hour เดือนละครั้ง...พอไหม?
ถ้าเราเพิ่มจำนวนรอบการทำ Earth Hour เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกันทุกเดือน (อ้างอิงผลเทียบเท่ากับ Earth Hour ของกรุงเทพฯ ปีล่าสุด) กรุงเทพฯ จะสามารถ
- ลดค่าไฟฟ้าลงได้ราว 7,461,000 บาทต่อปี
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 703.2 ตันฯ ต่อปี
- เทียบกับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 70,320 ต้นต่อปี
- เทียบกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 5,820 เที่ยวบินต่อปี
- เทียบกับการใช้รถยนต์ดีเซล 4,219,200 กิโลเมตรต่อปี
- เทียบกับการปิดไฟใน 3,164,400 ครัวเรือนต่อปี
แล้วถ้าทำทุกวัน วันละ 8 ชั่วโมงล่ะ?
เราลองคิดแบบสนุกๆ ว่าถ้าเราปิดไฟแบบที่ทำตอน Earth Hour แต่เพิ่มเป็นทำทุกวัน วันละ 8 ชั่วโมง (Hardcore มาก) เราจะสามารถ
- ลดค่าไฟฟ้าลงได้ 1,814,023,320 บาทต่อปี
- ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 171,012 ตันฯ ต่อปี
- เทียบกับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 17,106,400 ต้นต่อปี
- เทียบกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 1,416,200 เที่ยวบินต่อปี
- เทียบกับการใช้รถยนต์ดีเซล 1,027,672,000 กิโลเมตรต่อปี
- เทียบกับการปิดไฟใน 770,004,000 ครัวเรือนต่อปี
หมายความว่าการทำแบบนี้ทุกวันสามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในด้านการประหยัดค่าใช้จ่าย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก (แต่ทำยากแหละ)

60+ Earth Hour “ปิดไฟให้โลกพัก” กุศโลบายสุดแยบคาย
เรารู้แหละว่า 60+ Earth Hour ต่อปีมันไม่ได้ผล (คนต้นคิดก็รู้) แต่ทั้งหมดทั้งมวลเค้าแค่อยากสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนทั่วโลก ทำให้เรามาคิดทบทวนถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงานเพื่อโลกที่เราอยู่ใบนี้ กระตุ้นให้มีการดำเนินการจริงจัง แม้ว่าผลกระทบจากการปิดไฟเพียง 1 ชั่วโมงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกร้อนได้ทันที แต่ก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยและดำเนินการอย่างจริงจังในการลดการใช้พลังงานและมุ่งสู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืนมากขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะรณรงค์ให้ปิดไฟนานแค่ไหน ก็ไม่สำคัญเท่ากับเราเปลี่ยนมุมมองให้สร้างสรรค์และตั้งใจทำให้มันยั่งยืน ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ถอดปลั๊กเมื่อเลิกใช้งาน เลือกหลอดไฟ LED หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน และหันมาใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิลที่เป็นสาเหตุหลักของการปล่อย CO2 ซึ่งจะส่งผลดีต่อโลกในระยะยาวมากกว่าการปิดไฟเพียงชั่วคราวเพียง 1 ชั่วโมง(ต่อปี)
มาสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน พลังของความยั่งยืนอยู่ในมือของเรา และโลกอาจจะ “ร้อนขึ้น” หรือ “เย็นลง“ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะทำอะไรในวันนี้