SDGs เรื่องใหญ่ไม่ไกลตัว กับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

24 ธ.ค. 2567 - 08:03

  • การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน โดยไม่ลดทอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง

  • ในปี 2015 นานาชาติรวม  193 ประเทศ ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน และกำหนด 17 เป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางให้ทุกประเทศดำเนินการร่วมกันภายในปี 2030

  • SDGs ถูกจัดกลุ่มตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ประกอบด้วย People, Prosperity, Planet, Peace และ Partnership

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-17-sustainable-development-goals-SPACEBAR-Hero.jpg

คนไทยอาจคุ้นกับคำว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หรือ Leave No One Behind จากเรื่องราวทางการเมือง การโน้มน้าวใจของเหล่าบอสที่ขายฝันเพื่อกระตุ้นการทำงานเป็นทีม ซึ่งเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ทางจิตวิทยาของความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Sense of Belonging)

ในระดับโลกก็ไม่ต่างกัน เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน “โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” คือจุดหมายปลายทางของโลกที่ถูกบรรจุอยู่ใน Sustainable Development Goals (SDGs)

“การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) คือการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน โดยไม่ลดทอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง”

บทนิยามโดยองค์การสหประชาชาติ (UN)

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-17-sustainable-development-goals-SPACEBAR-Photo_SQ01.jpg
Photo: เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals)

SDGs ไม่ใช่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับแรกของโลก

จริงๆ แล้วโลกของเราไม่ได้สนใจเรื่อง “ความยั่งยืน“ แค่ตอนที่ “โลกเดือด” แต่เราเริ่มใส่ใจเรื่องนี้มากันหลายทศวรรษแล้ว ก่อนจะมี SDGs โลกใบนี้เคยมี MDGs เป็นเป้าหมายการพัฒนาก่อนหน้า โดยมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ซึ่งเป็นวาระที่กำหนดไว้ในช่วงปี 2001-2015 หลักการสำคัญคือ การให้ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งเสริมช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาใน 8 เป้าหมายหลัก

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-17-sustainable-development-goals-SPACEBAR-Photo_SQ02.jpg
Photo: เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

ภาคต่อของการสร้างโลกที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในปี 2015 เมื่อ MDGs สิ้นสุดลง วันที่ 25 กันยายน 2015 จึงมีการกำหนดวาระแห่งสหประชาชาติขึ้นใหม่ มีประเทศสมาชิกสทาชิกจาก  193 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และกำหนด 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นแนวทางให้ทุกประเทศดำเนินการร่วมกัน โดยชุดเป้าหมายนี้มีระยะเวลาการดำเนินการทั้งหมด 15 ปี ซึ่งเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2016 และสิ้นสุดในปี 2030

ecoeyes-how-to-heal-the-planet-17-sustainable-development-goals-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: การประชุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ครั้งที่สอง ในนครนิวยอร์ก (Photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP)

SDGs แบก 17 ความหวังไว้เต็มกระบุง

Sustainable Development Goals หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เปรียบเหมือนตะกร้าใบใหญ่ที่รวมความหวังไว้ 17 เรื่องสุดท้าทาย ประกอบด้วย

  1. ขจัดความยากจน (No Poverty)
  2. ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)
  3. การมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being)
  4. การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)
  5. ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
  6. น้ำสะอาดและการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Clean Water and Sanitation)
  7. การเข้าถึงพลังงานสะอาด (Affordable and Clean Energy)
  8. การงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth)
  9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)
  10. ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality)
  11. เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
  12. การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
  13. การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
  14. การรักษาทรัพยากรทะเลและมหาสมุทร (Life Below Water)
  15. การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก (Life on Land)
  16. สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่แข็งแกร่ง (Peace, Justice and Strong Institutions)
  17. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals)
INFO ecoeyes-info-5-dimensions-SDGs-03.jpg
Photo: 5 มิติเชื่อมโยงการพัฒนาที่ยั่งยืน

5 มิติเชื่อมโยงการพัฒนาที่ยั่งยืน

17 เป้าหมายหลัก แม้จะดูเยอะแต่หากเทียบกับสเกลใหญ่ระดับโลกยังนับว่าน้อยมาก นอกจากนี้เรายังสามารถจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ประกอบด้วย

People : การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและความเป็นอยู่ ประกอบด้วยเป้าหมาย  

(1) ขจัดความยากจน

(2) การขจัดความหิวโหย

(3) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

(4) การศึกษาที่มีคุณภาพ

(5) ความเท่าเทียมทางเพศ

Prosperity : เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ ประกอบด้วยเป้าหมาย  

(7) การเข้าถึงพลังงานสะอาด

(8) งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

(9) อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน

(10) ลดความเหลื่อมล้ำ

(11) เมืองและชุมชนยั่งยืน 

Planet : การให้ความสำคัญกับการปกป้อง รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ เพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป ประกอบด้วยเป้าหมาย  

(6) น้ำและสุขาภิบาล

(12) การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

(13) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(14) ระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร

(15) ระบบนิเวศบนบก

Peace : การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

(16) สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

Partnership : หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา 

(17) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

นับว่าเกินครึ่งทางแล้วที่ SDGs ถูกวางกรอบไว้ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อรอติดตามผลในปี 2030 บทสรุปของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะเป็นอย่างไร? เรื่องของความยั่งยืน หรือ Sustainability ใกล้หรือไกลตัว...ทำยากหรือง่าย? SPACEBAR VIBE รวบรวมมาให้ใน ECOEYES ซีรีส์ ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก ปักหมุดติดตามกันไว้เลย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์