โลกร้อนและรวนขึ้นทุกวัน สวนทางกับเสียงตะโกนเรื่องความยั่งยืนที่ดังขึ้นทุกที คือหนึ่งใน ‘เรื่องตลก’ ที่ขำไม่ออก
ตั้งแต่โลกเดินเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 และพัฒนาต่อยอดสู่ยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษต่อมา พร้อมกับทำคลอดเศรษฐกิจระบบทุนนิยม ทรัพยากรโลกก็ถูกล้างผลาญราวกับไฟลามทุ่ง
“พื้นที่ป่าในประเทศไทยในช่วงร้อยปี หายไปจาก 71% เหลือเพียง 31% ของพื้นที่”
หนังสือ The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยฯ โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
เทคโนโลยีใหม่ที่ค้นพบที่มีพลังงานไอน้ำเป็นโดมิโนตัวแรก ได้นำไปสู่การคิดค้นเครื่องยนต์สันดาป เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ฯลฯ และพลิกโฉมหน้าโลกสู่บทใหม่ จากการพึ่งพาแรงงานคนและสัตว์สู่การพึ่งพาเครื่องจักรเป็นสรณะ
เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม และสิ่งที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าหลังจากตอนนั้น นำมาสู่รายได้และคุณภาพชีวิตของประชากรโดยรวมที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน สิ่งของจำนวนมากก็ถูกผลิตจากโรงงานป้อนสู่ตลาดในปริมาณมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ตลาดและระบบตลาดต้องการการแลกเปลี่ยน มีการผลิตแล้วต้องมีการบริโภค มีการขายแล้วต้องมีการซื้อ เพื่อให้ระบบที่เกิดขึ้นเดินหน้าต่อไปโดยไม่สะดุด พร้อมกันนั้นจำนวนประชากรโลกก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แน่นอนว่าในอัตราเร่งสูงและเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและห้อตะบึงไปข้างหน้าไม่เคยหยุดพัก โดยลืมคิดไปว่าทุกสิ่งที่ได้มาล้วนมาจากการหยิบยืมทรัพยากรมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น
เราจึงใช้โลกใบนี้กันอย่างฟุ่มเฟือย กิน ทิ้ง ช้อป ใช้มากกว่าความจำเป็น ราวกับโลกจะผลิตทรัพยากรออกมาใหม่ได้แบบไม่มีวันหมด
มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ผลกระทบจากการพัฒนาที่เป็นอยู่เริ่มเผยตัวให้เห็น ไม่ว่าฤดูกาลผิดเพี้ยน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย มลพิษพุ่งสูง สัตว์ป่าเริ่มสูญพันธุ์ สุขภาพมนุษย์เริ่มได้รับผลกระทบ และหลายกรณีถึงแก่ชีวิต
“ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 73% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา”
Living Planet Report
เสียงเตือนถึงภัยพิบัติจากสภาวะโลกรวนเพราะความป่วยไข้ดังและถี่ขึ้นทุกวัน
องค์กรระดับโลกอย่างสหประชาชาติ (UN - United Nations) ออกมาเตือนทั่วโลกให้ตระหนักถึงปัญหาโลกรวนเมื่อปี พ.ศ.2566 ว่า
“ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคโลกเดือด” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ
ในปีเดียวกัน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มมาอยู่ที่ 1.4 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม (ระหว่างปี 1850-1900)
ล่าสุด ปีนี้ (พ.ศ.2567) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มว่าจะสร้างสถิติใหม่ที่ 1.55 องศาเซลเซียส* และมีแนวโน้มว่าจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่บรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแจ้งเตือนผู้คนบนโลก โดยเฉพาะกับผู้นำและผู้มีอำนาจที่เป็นคนกำหนดทิศทางและนโยบาย
แต่เรื่องตลกที่ขำไม่ออกก็คือ ดูจะไม่มีใครแยแสเรื่องโลกรวนอย่างแท้จริง เรื่องที่เกิดขึ้นในการประชุม COP29 ที่ว่าด้วยการจัดการกับปัญหาโลกรวนในระดับนานาชาติ เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา บอกกับคนทั้งโลกแบบนั้น
“แม้ (การประชุม) จะพูดถึงความต้องการเงินทุนมหาศาลเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การปฏิบัตินั้นดูเหมือนจะถูกบีบด้วยผลประโยชน์แห่งชาติและความเป็นจริงทางการเมืองที่บิดเบี้ยว ซึ่งผลที่ได้อาจจะช้ากว่าการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลก”
คือบทสรุปการประชุม COP29 ที่บทความ COP29 ประชุมโลกร้อน การต่อรองที่ยืดเยื้อเพื่อเขียน ‘เช็คเปล่า’ ให้กับโลก สรุปไว้อย่างเห็นภาพ
ขณะเดียวกัน โลกก็ดูจะสิ้นหวังมากกว่าเดิม เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ประกาศก้องว่า
“ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวง...”
โดนัลด์ ทรัมป์
ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก และมีความเป็นไปได้สูงว่า เขาจะพาอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ยกเลิกการอุดหนุนสีเขียวของรัฐบาลไบเดน และกลับไปปั้มคาร์บอนด้วยการหนุนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล

การเจรจาบนโต๊ะไม่ว่าในระดับใด นานาชาติ ประเทศ หรือองค์กร ดูจะเป็นการเจรจาที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม วิกฤตทางธรรมชาติและความยั่งยืนดูจะเป็นแค่เครื่องเคียงหรือไม่ก็ผักชีโรยหน้าเท่านั้น
เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นไป ไม่ต่างจากหนังเรื่อง Don't Look Up ที่พูดถึงนักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่พบว่าดาวหางขนาดมหึมากำลังจะพุ่งชนโลกในอีกหกเดือน พวกเขามีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เหตุผลและหลักการต่างๆ รองรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และพยายามเตือนผู้คนบนโลก โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ทว่ากลับถูกมองว่าเป็นเรื่องลวงโลก หรือได้ยินก็แกล้งเฉไฉ เพราะเรื่องเงิน ผลประโยชน์ และความเบาปัญญา

โชคดีที่หนังเรื่องนี้สร้างจาก ‘เหตุการณ์จริงที่ยังไม่เกิดขึ้น’ ความฉิบหายจึงเป็นเพียงเรื่องสมมติที่กระตุกให้คิดถึง ‘เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นแล้ว’ ในโลกวันนี้
สภาวะโลกรวนที่ดูๆ ไปก็ไม่ต่างจากดาวหางที่กำลังพุ่งชนโลก ข้อมูล สถิติ และคำพยากรณ์จากผู้เชี่ยวชาญต่างบอกว่า ถ้ามนุษย์ยังใช้ชีวิตอย่างเช่นทุกวันนี้ และไม่หักเลี้ยวจากวิถีที่กำลังเป็นอยู่ เราจะได้เจอกับหายนะที่ยืนรออยู่เบื้องหน้าอย่างแน่นอน
ถามว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ที่มนุษยชาติจะจบเห่เพราะวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ ถ้าดูจากสถิติที่ผ่านมาตั้งแต่ประเด็นเรื่องความยั่งยืนถูกพูดถึงบนเวทีโลกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา การประชุม เจรจา กำหนดข้อตกลง การโหมแคมเปญรณรงค์ดูจะไร้ผล เพราะอุณหภูมิโลกไม่เคยลดลง แถมเพิ่มขึ้นทุกวัน
ยานิส วารูฟากิส (Yanis Varoufakis) นักเศรษฐศาสตร์ชาวกรีซ ผู้เขียนหนังสือ คุยกับลูกสาวเรื่องเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ย่อของทุนนิยม (TALKING TO MY DAUGHTER About the Economy) ตั้งข้อสังเกตต่อการจัดการเรื่องโลกร้อนไว้อย่างน่าคิด
เขาบอกว่า การเขียนกฎหมายเพื่อกำหนดกติกาในสังคมเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำได้ แต่ก็ใช่ว่าผู้มีอำนาจจะเอาด้วย เพราะรัฐก็ถูกแทรกแซงจากนักการเมืองและนายทุน
“คุณเชื่อจริงๆ หรือว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลผลประโยชน์ร่วมของเราทุกคนได้อย่างบริสุทธิ์ใจ “ไม่!” เพราะรัฐบาลดูแลผลประโยชน์ของพวกนักการเมือง และข้าราชการที่คุมมันอยู่ต่างหาก”
ยานิส วารูฟากิส นักเศรษฐศาสตร์ชาวกรีซ

ถึงตรงนี้ ถ้าคุณลองมองไปที่สถานการณ์การเมืองในบ้านเรา (รวมถึงการเมืองโลก) ก็คงพอจะฉุกคิดได้ว่า พวกนักการเมือง (ส่วนใหญ่) ต่างเอ่ยอ้างถึงปัญหาโลกรวนและความยั่งยืนเช่นเดียวกับที่เอ่ยถึงประชาชน นั่นคือเพื่อบังหน้าและเป็นสะพานให้พวกเขาลุแก่ผลประโยชน์ของตนเอง พวกพ้วง และผู้สนับสนุน เช่น บรรดานายทุน เป็นต้น
โลกทุกวันนี้จึงรวน ร้อน และเดือดราวกับคนป่วยที่ถูกเลี้ยงไข้ โดยคุณหมอที่แสร้งว่ารักและดูแล แต่ในใจไม่ได้แคร์หรอกว่า อาการป่วยจะทรุดลงหรือไม่ หรือตัวคนป่วยจะถึงจุดโคม่าจนรักษาไม่ได้เมื่อไหร่
เราส่วนใหญ่จึงถูกชวนเชื่อด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าเอไอ อีวี ฯลฯ ที่บอกว่า จะเป็นเทคโนโลยีแห่งความหวังที่จะมาช่วยโลกให้พ้นภัยจากความเจ็บป่วย ถึงแม้เทคโนโลยีเหล่านั้นจะลดการสร้างคาร์บอนได้มากกว่าของเดิม แต่ก็อย่าลืมว่า ทุกสิ่งที่ได้มาล้วนหยิบยืมทรัพยากรธรรมชาติมาใช้

ระบบเศรษฐกิจที่เฆี่ยนให้ทุกองค์กรธุรกิจแข่งขันสร้างผลกำไรและการเติบโตขึ้นทุกปี คือตัวการที่ทำให้เทคโนโลยีไม่ว่าจะดีเลิศประเสริฐศรีแค่ไหนกลายเป็นวายร้ายเมื่อเวลาผ่านไป เพราะสินค้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสร้าง growth ให้บริษัท จะมาพร้อมกับการสร้างดีมานต์ภายใต้แนวคิดลัทธิบริโภคนิยมและวัตถุนิยมด้วยวิธีการตลาดที่แยบยล เพื่อล่อลวงให้เรา (ผู้บริโภค) ที่ถูกโฆษณากล่อมเกลาว่าเราขาดพร่องอยู่เสมอ ควักเงินในกระเป๋าซื้อความสุขที่เราคู่ควรเพื่อให้รางวัลแก่ชีวิต
โลกเราเริ่มโคจรไปตามวิถีนี้มาตั้งแต่วันท่ีมนุษย์แหย่ขาเข้าสู่การปฏิวิติอุตสาหกรรม และหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเอไอ การใช้ทรัพยากรไม่เคยลดลง เพียงแค่เปลี่ยนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเท่านั้น
ใช่หรือไม่ว่า มนุษย์กำลังอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีรุดหน้า ทว่าความตระหนักในสิ่งแวดล้อมกลับถดถอย เพราะธรรมชาติยังคงถูกมนุษย์ขูดรีดเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือด้วยท่าทีที่แนบเนียนขึ้น
ถามว่าทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่ตรงไหน คำตอบนั้นคล้ายกับไก่กับไข่ ว่าจะให้รัฐ ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย บรรดานายทุนและเจ้าสัวเป็นคนเริ่ม หรือเราแต่ละคนเป็นคนเริ่มต้นลงมือทำ
คำตอบที่ดีที่สุด คือ ทุกคนช่วยกันทำ (อย่างจริงใจ) เพราะเราทุกคนเป็นคนใช้และอาศัยทรัพยากรที่โลกนี้มอบให้ร่วมกันไม่ใช่หรือ
การบ่นระบาย ทดท้อ สิ้นหวัง หรือกระทั่งการพร่ำเพ้อถึงความยั่งยืนไปวันๆ จะไม่มีทางที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น
อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นทุกวัน ขณะที่เสียงตะโกนเรื่องความยั่งยืนดังขึ้นทุกที ใช่, มันเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก
หยุดเรื่องตลกนี้ซะ เพราะโลกของเราไม่ใช่หนัง ถ้าพังก็ไม่มีภาคต่อ
SPACEBAR VIBE เชื่อว่า การลงมือทำด้วยใจจริง จะเปลี่ยนโลกและช่วยให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง
เราจึงทำคู่มือ ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก ชุดนี้ออกมา เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ และวิธีการในการช่วยโลกผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งแน่นอนว่า ทำไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ แล้วดีแน่นอน
