ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 22 ทุน (ไม่) นิยม (พี่มาร์กซ์เค้าว่างั้น...มาร์กซ์ไหน?)
ทุนนิยมเปลี่ยนให้ทุกสิ่งกลายเป็น ‘สินค้า’ จน ‘เงินตรา’ กลายเป็นพระเจ้า และขโมยความปกติสุขไปจากมนุษย์และโลก
แนะนำ: ศึกษา ‘ทฤษฎีทุน’ เพื่อรู้จักระบบทุนที่คอยบงการชีวิต หยุดขูดรีดตัวเองและโลก

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
คุณอยากมีเงินเยอะกว่านี้ใช่ไหม และถ้ามีเงินเยอะกว่านี้ คุณจะเอาเงินไปทำอะไร?
กิน บริโภค จับจ่าย ไปเที่ยว ฯลฯ เพื่อ “ซื้อความสุข” ให้ตัวเอง คือคำตอบของคนส่วนใหญ่
แล้วเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะที่ ‘เงินตรา’ กลายเป็นสิ่งสำคัญจนมนุษย์บางคนเปรียบเป็น ‘พระเจ้า’ และยอมทำทุกสิ่งเพื่อให้ได้มา
ตั้งแต่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และบางคนยอมเอาศีลธรรมเข้าแลก ถ้าหากมันช่วยให้ได้เงินที่มากพอ
แต่คำว่า “พอ” ไม่เคยมีในพจนานุกรมของโลกทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยการเติบโตของผลกำไรที่ต้องเพิ่มขึ้นทุกปี
และคำว่า “ไม่พอ” นี้กำลังทำร้ายโลกให้ป่วยไข้ เจ็บหนัก และใกล้ขีดโคม่ามากขึ้นทุกวัน

WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
กำไรของธุรกิจมาจากการ “ผลิต” สินค้า ยิ่งสินค้านั้น “ขาย” ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีกำไรมากเท่านั้น
สินค้าขายได้หมายถึงคนยอมจ่ายเพื่อ “บริโภค” แต่คนจะบริโภคได้ต้องมี “เงิน” มาจับจ่าย
ปัญหาอยู่ตรงนี้ เมื่อทุกสิ่งในโลกนี้ต้องใช้ “เงิน” แลกมา และกลไกของทุนนิยมคือการได้มาซึ่งกำไรที่สูงขึ้น ผู้ผลิตจึงหาวิธีกระตุ้นให้คน “อยากบริโภค” มากขึ้น คนก็พยายามหาเงินมาจับจ่ายเพื่อ “ซื้อความสุข”
โดยต้นธารของความสุขนั้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรล้วนมีต้นทางมาจากการช่วงใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น
ซีเมนต์สร้างบ้านมาจากภูเขา
เสื้อผ้าแสนสวยมาจากใยของตัวไหม
รองเท้าแตะมาจากต้นยางพารา
หรือแม้แต่ไอเท็มในเกมออนไลน์ก็มาจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรในธรรมชาติ

เป้าหมายของการผลิตในระบบทุน คือ “มูลค่าที่เป็นราคา” วิธีที่จะทำให้ทุนเพิ่มขึ้น ก็คือการผลิตสินค้าออกมาให้มากกว่าเดิม
เมื่อเงินตราเป็นเป้าหมาย ทรัพยากรธรรมชาติจึงกลายเป็นทาสผู้ถูกขูดรีด ป่าไม้หายไป สัตว์ป่าสูญพันธุ์ ธรรมชาติมีภาวะเป็นพิษสูงขึ้น เพื่อแลกกับตัวเลขผลกำไรและ GDP ที่มีเป้าว่าต้องโตขึ้นทุกปี
รู้ตัวอีกทีโลกก็รวนและร้อนจนกลายเป็นวิกฤตระดับโลก!
HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)
คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ ชาวเยอรมัน ตั้งคำถามและมองเห็นข้อจำกัดและความขัดแย้งกันเองของระบบทุนนิยมมานานมากกว่าร้อยปีแล้ว
ขณะที่หลายคนเชื่อว่า ทุนนิยมจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและสร้างความมั่งคั่งให้ทุกคน แต่มาร์กซ์กลับขมวดคิ้วและมองต่าง ทุนนิยมไม่ใช่สวรรค์ แต่จะพามนุษย์ลงสู่หุบเหวลึก เพราะความมั่งคั่งในสังคมที่ครอบงำด้วยวิถีการผลิตแบบทุนนิยม จะแสดงออกมาในรูปแบบของ “วัตถุสินค้าที่ทับถมกันเป็นจำนวนมหาศาล”

ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยทุน เงินมีอำนาจเป็นใหญ่ในการแลกเปลี่ยนทุกสิ่ง จนกระทั่งบางคนค่อนขอดว่า “ซื้อได้แม้กระทั่งความรัก” นำมาสู่การสะสมทุน เพื่อสะสมอำนาจ และนำไปสู่การสะสมทุนเพิ่มทวีคูณอย่างไม่หยุดหย่อน และการขูดรีดแรงงานให้เจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ
เพราะผู้ชนะในเกมนี้ คือผู้ผลิตที่ได้รับ ‘ส่วนต่าง’ จากต้นทุนและราคาขายมากที่สุด โดยหนึ่งในวิธีที่นายทุนใช้คือการให้แรงงานทำงานให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้ต้นทุนต่อหัวเฉลี่ยออกมาต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด
นอกจากมนุษย์ที่เป็นแรงงาน ธรรมชาติก็ถูกขูดรีดไม่ต่างกัน ลีบิค นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับมาร์กซ์ เคยวิจารณ์วิธีทำเกษตรยุคใหม่ว่าไม่ต่างจาก ‘การลักขโมย’ เพราะมนุษย์กระหน่ำกันปลูกผลผลิตเพื่อจะเก็บเกี่ยวให้มากที่สุด จนธาตุอาหารในดินซูบซีด และเร่งผลิตอย่างไม่แยแสสภาพดิน

การผลิตแบบทุนนิยมยังนำมาสู่การเติบโตของเมืองใหญ่ ผู้คนหลั่งไหลจากชนบทมาแออัดอยู่ในเมือง แม้เมืองจะเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ แต่อีกมุมก็เป็นพื้นแห่งความตึงเครียด เสื่อมโทรม เหลื่อมล้ำ อีกทั้งการผลิตที่เพิ่มกำลังก็สร้างของเสียและขยะมหาศาลในเมือง ชนบทที่อยู่ใกล้โรงงาน และธรรมชาติในพื้นที่ห่างไกล ทุกสิ่งได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่
การเปลี่ยนทุกสิ่งเป็นสินค้า ทุกอย่างแม้แต่อากาศ แหล่งน้ำธรรมชาติ หาดทรายล้วนมีราคา รวมถึงการสะสมความมั่งคั่งส่วนตนแบบไม่มีเพดาน กำลังทำร้ายโลกและมนุษย์ และพาเราห่างไกลจากความยั่งยืนและเท่าเทียมไปเรื่อยๆ
มาร์กซ์เสนอว่าการจะนำความยั่งยืนและเท่าเทียมกลับคืนมา มนุษย์จะต้องหันมา “แบ่งปันความมั่งคั่ง”
สังคมที่มั่งคั่งในความแนวคิดของมาร์กซ์ ไม่ใช่สังคมที่ร่ำรวยทางวัตถุ แต่เป็นสังคมที่ทุกคนแบ่งปันสมบัติที่สำคัญต่อส่วนรวม และ “แต่ละคนได้พัฒนาความสามารถของตัวเองได้อย่างรอบด้าน” ตามความถนัดของตนเอง

เปลี่ยนตัวชี้วัดอย่างมูลค่าของทรัพย์สินส่วนบุคคลและ GDP มาให้ความสำคัญกับมนุษย์และธรรมชาติ แล้วตั้งเป้าเศรษฐกิจที่มีการบริหารจัดการอย่างมั่นคง และตอบสนองความต้องการของคนแต่ละคน ‘เท่าที่จำเป็น’ ก็พอ
สะสมสมบัติส่วนตัวให้น้อย เปลี่ยนความมั่งคั่งเป็นสมบัติส่วนรวมให้มาก ผลิต กิน ใช้เท่าที่จำเป็น นี่คือประตูที่มาร์กซ์ชี้ไว้เป็นทางออกของมนุษย์ในวิกฤตระบบทุนนิยม
ระบบที่กำลังลากพาโลกทั้งใบให้วอดวาย ภายใต้ฉลากโฆษณา ‘ความยั่งยืน’