ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 18 ‘อ่าน’ กรีนเถอะ (ยุคนี้รู้อะไรไม่เท่า...รู้แล้วกู้โลก)
ถ้าโลกร้อนคือปัญหา ก็ต้องสร้างปัญญา อ่านตำราหาความรู้มารักษาโลก
แนะนำ: เริ่มอ่านหนังสือหรือหาความรู้เกี่ยวกับเรื่อง ‘กรีนๆ’ เพื่อบ่มเพาะ Sustainable Literacy ให้งอกงามในหัวใจ

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
“You are what you READ” คุณอ่านหรือเสพสื่ออะไรกันบ้าง พอจะตอบได้ไหม เพราะสิ่งที่เราอ่านนั้น มีส่วนการในกำหนด ‘ความเป็นเรา’ อย่างมาก
คุณมีโลกทัศน์ (มองโลก) อย่างไร สิ่งนี้เป็น ‘เงื่อนปมแรก’ ที่จะกำหนดทุกสิ่ง ความคิด การพูด การกระทำ รวมถึงการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวของเราต่อทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ทำไมคุณเลือกพกแก้วน้ำส่วนตัวแทนการซื้อแล้วทิ้ง
ทำไมตรุษจีนปีนี้ ถึงงดการจุดธูปและเผากระดาษ แล้วใช้ใจตั้งจิตไหว้บรรพบุรุษ หรือหันมาจุดธูปและเทียนไฟฟ้าแทน (ใครที่สงสัยว่าทำไม แนะนำอ่าน ฮาวทูกู้โลกรวน - วิธีที่ 17: ตรุษจีนกรีนบ้างก็ได้ (เพราะตอนนี้แดงมากไปแล้ว!))
ทำไมคุณถึงหันมาใช้ถุงผ้า และปฏิเสธรับถุงพลาสติกโดยไม่จำเป็น
ทำไม ทำไม และทำไมอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้น ล้วนขึ้นอยู่กับการบริโภคสื่อของเรา
WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
ไม่ต้องโชว์กราฟหรือสถิติที่แสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศโลกวิกฤตแค่ไหนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา (ถ้าอยากเห็น แนะนำให้หาอ่านในบทความตอนอื่นๆ ของซีรีส์ ฮาวทูกู้โลกรวน) เราทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่า โลกป่วยไข้ทรุดลงมากกว่าทรงตัว
ถึงแม้ในรอบปีหลังๆ จะมีกระแส #ความยั่งยืน เกิดขึ้นรุนแรง ทุกองค์กร บริษัท ห้างร้าน รวมถึงสื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งรัฐบาลออกมารณรงค์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของวิกฤตโลกรวนราวกับโลกจะแตกวันนี้วันพรุ่ง
แต่ดูเหมือนว่า คนส่วนมาก (ย้ำว่า ‘ส่วนมาก’ ไม่ใช่ทุกคน) จะพูดและทำในทำนอง ปากว่าตาขยิบ และเป็นประเภท มือถือสาก ปากถือศีล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ทำดีตามเทรนด์ มากกว่าจะลงมือทำด้วยความจริงใจ
อ่านแล้วอาจรู้สึกว่าผู้เขียนเป็นคนมองโลกในแง่ลบและร้ายพอตัว แต่ก่อนที่จะรู้สึกอย่างนั้น ลองกลับมาสำรวจตัวเองดูว่า เราช่วยโลกมากพอกับเท่าที่เราทำได้แล้วหรือยัง
หรือเรายังทำพอแค่ให้ไม่รู้สึกผิด ทำเพื่อให้ตัวเองไม่ดูใจร้ายกับโลกมากเกินไป แต่ชีวิตยังเอิบอาบอยู่ในกระแสบริโภคนิยม
ท่ามกลางค่านิยมเสรีประชาธิปไตย การทำตัวเป็นครูระเบียบคอยชี้แนะและบอกว่า ใครควรจะเป็นยังไงนั้นดูไม่คูล แถมยังเห่ย ไม่น่าคบหาสมาคมและโอภาปราศรัย เพราะใครจะใช้ชีวิตอย่างไรนั้น ย่อมเป็นสิทธิและความพึงพอใจของแต่ละคน ซึ่งรวมความถึงเรื่องการ ‘อ่าน’ ด้วย
ในโลกที่ ใครใคร่อ่าน...อ่าน ใครใคร่ดู...ดู ใครใคร่ฟัง...ฟัง และใครใคร่ทำคอนเทนต์...ทำคอนเทนต์ โลกวันนี้จึงเต็มไปด้วยไขมันส่วนเกิน เนื้อหาที่ฉาบฉวยในรูปของข่าวสาร ข่าวประชาสัมพันธ์ บทความแฝงโฆษณา ฯลฯ เนื้อหาว่าด้วยเรื่อง ‘กรีนๆ’ ก็เช่นกัน
ส่วนใหญ่มักมาในรูปของการสร้างความ ‘ตระหนก’ เพื่อเรียกยอดเอนเกจ เรตติ้ง หวังผลเป็นยอดขาย หรือภาพลักษณ์ มากกว่าจะสร้างความ ‘ตระหนัก’ ลึกซึ้ง และสื่อสารอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
ถ้าโลกจะร้อนขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะคนส่วนใหญ่แค่ตระหนก แต่ไม่ตระหนัก และกระทำสิ่งต่างๆ อย่างฉาบฉวย
HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)
ไม่มีใครให้ในสิ่งที่ตนไม่มีได้ ดังนั้นถ้าเราอยากช่วยโลกให้ดีขึ้น ท่ามกลางโลกที่กระแสและสำนึกแบบบริโภคนิยมที่อยู่คนละขั้วกับการกู้โลกหรือเรื่องที่เรากำลังพูดกันอยู่ได้
วิธีที่เรียบง่ายที่สุด คือ การอ่าน (หรือในโลกมัลติมีเดีย จะเป็นการดู ฟัง หรือใดๆ ก็สุดแท้แต่) คอนเทนต์ที่ให้ความรู้ เรื่องกรีนๆ อย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างความตระหนักว่า เรื่องกรีนและความยั่งยืนที่พูดถึงยึดโยงและสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทั้งในระดับสังคม เศรษฐกิจ ชุมชน รวมถึงการบริโภคใช้จ่ายในแง่ส่วนตัวของเราทุกคน
การอ่านก็เหมือนการเติมความรู้ เติมเข้าไปทุกวัน ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แม้ว่าเราไม่ต้องการหรือคิดถึงมัน วันหนึ่งเราจะตระหนักและเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น โลกทัศน์ของเราจะเปลี่ยน เมื่อโลกทัศน์เปลี่ยน ทุกสิ่งหลังจากนี้ก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเอง
ถ้าคุณกำลังสงสัยว่า อยากเริ่มต้นอ่านเนื้อหากรีนๆ ที่มีประโยชน์ จะเริ่มต้นตรงไหน ขอแนะนำบางเว็บไซต์ และหนังสือบางเล่มที่น่าจะช่วยให้คุณเห็นและเข้าใจเรื่องความยั่งยืนที่กว้างและลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม
- greenery | eat good live green
- หนังสือ ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา: การมีชีวิตอย่างสร้างสรรค์ในสังคมบริโภค (Timeless Simplicity) และอีกหลายเล่มของ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา
- หนังสือเชิงวิชาการ The Handbook of Sustainability Literacy: Skills for a Changing World ที่พูดถึงทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนอย่างรอบด้านและลุ่มลึก
- ซีรีส์บทความ ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับ พูดง่าย ทำยาก ที่ทีมงาน SPACEBAR ตั้งใจสร้างสรรค์เพื่อแนะนำวิธีกู้โลกผ่านวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่ใครๆ ก็ทำได้