ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 19 ‘Refill’ เติมซ้ำ ไม่ซ้ำเติม (ของเดิมๆ ไม่ซิง...แต่เซฟ!!)
ซื้อใหม่ตลอด สะดวกสบาย ปลายทางออกทะเล แล้วจะยั่งยืนกี่โมง?
แนะนำ: Refill ฮีลโลก เริ่มต้นภารกิจ Low Waste / Less Waste / Zero Waste Lifestyle ทำให้โลกนี้ไม่มีขยะ

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
เคยรู้สึกมั้ยว่าชีวิตมันช่างวนเวียนอยู่ในวงจร “ซื้อใหม่ทุกครั้ง ซื้อซ้ำๆ แบบไม่สิ้นสุด?” เพราะมันซื้อง่าย “สะดวกซื้อ” (สมชื่อเรียก) ตามแนวคิดป่าล้อมเมือง (เรื่องเทคนิคการตลาดนะ ไม่ใช่ป่าจริงๆ ฮาาา) เพราะป่าจริงในเมืองมีแค่สวนสาธารณะ ซึ่งถ้าเปรียบเป็นเส้นผมก็คงขึ้นเป็นหย่อมๆ เผยกระหม่อมบางๆ
จะไปโทษหลักการขายหรือเทคนิคการตลาดก็ไม่ถูกนัก เพราะความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องกิน ต้องใช้ และต้องการความสะดวกสบายนี่แหละที่ทำให้เรื่องพวกนี้ขับเคลื่อนได้
ถ้าไม่ได้เป็นฟีลแม่บ้านช้อปของใช้เข้าบ้านรายเดือน เชื่อเลยว่าการซื้อปลีกของคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดเรื่อง “ถุงเติม (Refill)” เพราะเท่าที่สังเกตมันไม่ค่อยถูกจัดวางในตำแหน่งสายตา (อยู่นอกสายตา) แต่มักเยื้องซ้ายเอียงขวาในตำแหน่งต่ำหน่อย (คนขี้เกียจก้มก็ไม่เห็นซิ) บอกแล้วว่าคนเรารักสะดวก!!

ผ่าความคิดคนเราทำไมไม่ชอบซื้อแบบรีฟิล
เราลองวิเคราะห์ดูแล้ว ไม่ใช่แค่รักสะดวกอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้คนไม่สะดวกรีฟิล เติมซ้ำในขวดเดิม ทั้งที่รู้ว่าถูกกว่า ซึ่งมันอาจจะซับซ้อนกว่าที่คิด
1.Convenience เน้นสบายไม่คิดเยอะ
การซื้อขวดใหม่มันสะดวกสุดๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก บางคนแค่เดินเข้าไปในร้านแล้วซื้อขวดใหม่มานั่งดื่มเลย แต่ถ้าจะรีฟิลต้องเตรียมขวด หาแหล่งเติม หรือบางครั้งร้านอาจจะไม่ให้เติมบ่อยๆ หรือบางที่ไม่สะดวก เพราะฉะนั้นความสะดวกในการซื้อขวดใหม่มันทำให้เราคิดว่าการเติมซ้ำดูยุ่งยากไปหน่อย
2.Cultural Norms ค่านิยมกลบค่าใช้จ่าย
บรรทัดฐานในสังคมที่เราอยู่เชิดชูความเยอะ และมักจะถูกโปรโมทให้ซื้อของใหม่มากกว่าซื้อของที่ใช้ซ้ำ เราถูกมายาคติหลอกว่าขวดใหม่สะอาดและทันสมัย แต่ความจริงคือมันก็แค่ขวดพลาสติกที่ใส่เครื่องดื่มเหมือนเดิม ขวดน้ำยาล้างจานที่เติมอะไรลงไปก็ได้ ไม่มีอะไรแตกต่างมากมาย แต่การถูกโน้มน้าวทำให้คิดว่า “ของใหม่” คือ The Best ... คือ No.1 ... คือจึ้งมาก! ทำให้การใช้รีฟิลดูอ่อม และเป็นแค่ทางเลือก (ทั้งที่ความจริงคือทางรอด!)
3.Image ภาพลักษณ์ดูดี
คนเราชอบคิดว่าการซื้อขวดใหม่เหมือนการอัพเกรดตัวเอง เช่น ขวดน้ำสวยๆ จากแบรนด์ดังที่ทำให้รู้สึกว่าเรามีสไตล์ หรือการเลือกกาแฟจากร้านที่มีแก้วคอลเลคชั่นใหม่ ทำให้รู้สึกว่ามันเริ่ดนะ และช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น “ฟินกว่า” ทั้งที่เป็นแค่ภาพลวงตา หรือแค่รู้สึกคิดไปเอง
4.Lack of Awareness ลืมคิดไป
หลายคนยังไม่รู้ว่าการรีฟิลดีต่อโลกแค่ไหน หรืออาจจะคิดว่า “ไม่เห็นจะช่วยอะไร” หรือ “มันไม่สำคัญหรอก” ทว่า มันมีผลกระทบอย่างมากที่การใช้ซ้ำและการรีฟิลสามารถช่วยลดขยะพลาสติกได้มหาศาล
5.Habits นิสัย(เสีย)
หลายคนแค่ “ชิน” กับการซื้อขวดใหม่โดยไม่เคยพิจารณาว่ามีทางเลือกที่ดีกว่า การเปลี่ยนแปลงจากการซื้อขวดใหม่ๆ ทุกครั้งมาใช้ขวดรีฟิลก็เหมือนกับการเปลี่ยนนิสัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย คนส่วนใหญ่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป หรือมีตัวกระตุ้นที่ชัดเจน เช่น โครงการส่งเสริมการรีฟิล หรือการมอบรางวัลที่เห็นผลชัดเจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้
6.Misconceptions ความเชื่อที่ผิดๆ
บางคนอาจคิดว่าขวดรีฟิลไม่สะอาดเท่าขวดใหม่ หรือการเติมซ้ำในบางครั้งก็กลัวว่าจะมีสารเคมีตกค้างจากการใช้งานหลายครั้ง เช่น กลัวว่าขวดน้ำพลาสติกจะทำให้สาร BPA หรือสารเคมีบางตัวละลายออกมาได้ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องจริง ถ้าเราดูแลและล้างขวดให้สะอาด ไม่ได้วางตากแดด ก็ไม่ต้องห่วงอะไร แต่ความคิดเหล่านี้กลับทำให้คนเลือกขวดใหม่แทนการเติมซ้ำ
WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
ถ้าอยากรู้ว่าทำไมโลกร้อน ก็มองย้อนกลับไปที่การรีฟิลที่ไม่เคยทำกัน ทุกๆ ครั้งที่เธอและเราไปซื้อน้ำขวดใหม่ ซื้อกาแฟในแก้วพลาสติกใหม่ ซื้อแชมพูอีกขวด น้ำยาล้างจานอีกขวด ทุกๆ แก้ว ทุกๆ ขวด คือการเพิ่มความเจ็บปวดให้โลก ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะการผลิตสินค้าที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำให้เกิดการผลิตสิ่งใหม่ ขุดสิ่งใหม่ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล การซื้อแต่ของใหม่ ไม่เติมซ้ำ ยังซ้ำเติมโลกด้วยปัญหา “ขยะ” ที่กระจายไปทั่วทุกพื้นที่
ข้อมูลจากมูลนิธิมินเดอรู เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2019-2021 ปริมาณของพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเทียบได้กับ 15 เท่าของปริมาณพลาสติกรีไซเคิล โดยพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีแนวโน้มที่จะถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ ก่อนที่จะไหลไปตามชายหาด แม่น้ำ และลงสู่มหาสมุทร
แล้วไปไหนต่อ?
ขยะที่ทิ้งไม่ได้หายไปไหน แต่ไหลจากแม่น้ำลำคลอง ไปจับจองพื้นที่ในทะเล พลาสติกส่วนใหญ่จมลงสู่ก้นทะเลภายใน 1 เดือน เข้าสู่กระบวนการย่อยสลายและแตกตัวเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ (ไมโครพลาสติก) โดยใช้เวลานานนับร้อยปี ขณะที่ขยะพลาสติกที่ไม่จมน้ำก็ไปเกยตื้นตามชายฝั่ง และพัดออกสู่ทะเลอีกครั้งแล้วครั้งเล่า อารมณ์คล้ายๆ เวิลด์ทัวร์ทั่วโลกแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เข้าข่ายสภาวะไร้พรมแดน

แต่ใช่ว่าจะหงอยเหงา เพราะหากขยะประจันหน้าแล้วนัดรวมตัวกันเดินทางซัดเซพเนจรไปตามคลื่นน้ำและกระแสลมในมหาสมุทร เกิดเป็น “แพขยะ” หรือ “Garbage Patch” โดยแพขยะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นคือ แพขยะแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) ซึ่งมีขนาดใหญ่ราว 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมีพื้นที่เท่ากับ 3 เท่าของประเทศฝรั่งเศส
แพขยะอันตรายอย่างยิ่งกับสัตว์ทะเลและนก เพราะสัตว์จะคิดว่าเป็นที่หลบภัย เป็นแหล่งหาอาหาร ทีนี้แหละขยะพลาสติก เคมี และไมโครพลาสติกที่สัตว์อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา เต่า รวมถึงนก กินเข้าไปก็กลับมาอยู่ในจานอาหาร ทำให้มนุษย์ต้องกินพลาสติกทีละนิดโดยไม่รู้ตัว

ขยะทะเลประเทศไทยมีอะไรมากที่สุด?
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวม 506,681.14 กิโลกรัม (เกือบ 507 ตัน) รวมจำนวนขยะ 5,972,232 ชิ้น (ปีงบประมาณ 2565) ในจำนวนขยะตกค้างชายฝั่งที่เก็บได้นี้ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก (ร้อยละ 81) โดยขยะตกค้างชายฝั่งทะเลที่พบมากที่สุด คือ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงก๊อปแก๊ป เศษโฟม ถุงพลาสติกอื่นๆ ขวดเครื่องดื่มแก้ว ห่อ/ถุงอาหาร เศษพลาสติก เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ/แว่นตา/สร้อยคอ กล่องอาหารโฟม กล่องอาหารพลาสติก ตามลำดับ
HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้?)
นาทีนี้ซื้อได้ ใช้ได้ ไม่ว่ากัน แต่ต้องมี Awareness หรือความตระหนักรู้ ฉลาดใช้เพื่อให้ปลายทางความยั่งยืนเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้
แนะนำ Refill ฮีลโลก เริ่มต้นภารกิจ Low Waste / Less Waste / Zero Waste Lifestyle ทำให้โลกนี้ไม่มีขยะ
ทำไมถึงอยากให้เริ่มใช้รีฟิลนะหรอ? 3 เหตุผลหลักคือ
- ลดการปล่อยมลพิษ การผลิตขวดน้ำพลาสติกใหม่ทุกครั้ง หมายถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล
- รักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง ลดขยะที่ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีในการย่อยสลาย
- ประหยัดเงิน การซื้อของแบบเติมทำให้เราไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่มไปแบบไม่จำเป็น (เพราะรีฟิลถูกกว่า) ซึ่งช่วยประหยัดเงินในระยะยาว

ชี้เป้าสถานี Refill
เพราะการบริโภคของเราส่งผลอย่างยิ่งใหญ่ต่อโลก เราจึงอยากสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งนำแนวคิดรักษ์โลก Refill : เติมซ้ำ ไม่ซ้ำเติม มาใช้ และอยากให้ทุกคนจดไว้ในลิสต์
- Refill Station
- เติมเต็ม Refill Shoppe
- ปันกันกรีน
- Hug Organic
- ZeroMoment Refillery
- Get Well Zone
- Delifill
- Little Tree Grocery
- Grasstonomy
- LESS:PLASTIC:UNCLE
- Get Well Zone
สรุปจบฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก วิธีที่ 19 ‘Refill’ เติมซ้ำ ไม่ซ้ำเติม ทำให้เห็นแล้วใช่ไหมว่า ถึงแม้เราจะใช้ขวดเดิมๆ ของเดิมๆ ที่แม้ไม่ซิงเท่าขวดใหม่ แต่เซฟเรา เซฟโลก มาเปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม แล้วทำให้โลกนี้ไม่มีขยะกันเถอะ