ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 9 ปั่นจักรยาน (ดีกว่า EV ก็จักรยานนี่แหละ)
รถยนต์น้ำมัน (ICE) สร้างมลพิษทางอากาศและเสียง รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็ใช่ว่าจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แนะนำ: ปั่นจักรยานดีต่อสุขภาพกายและใจ ช่วยลดการปล่อยก๊าซโลกร้อน

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาแรงแซงโค้ง เพราะราคาน้ำมันพุ่งสูง และสภาวะโลกรวนที่รวนและป่วนหนักขึ้นทุกปี คนไทยหันไปใช้รถ EV กันมากขึ้น เพราะจีนผู้เล่นหลักทุ่มตลาดทุบราคา และผู้บริโภคก็รู้สึกว่าขับ EV ดีต่อใจ เพราะทั้งช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิง และเป็นมิตรต่อโลกมากกว่า
แต่ดูเหมือนกระแสเห่อ EV จะทำให้หลายคน (โดยเฉพาะภาครัฐ) หลงลืมวิธีการเดินทางที่กรีนกว่า ง่ายกว่า ดีกว่า และประหยัดกว่าอย่างการ ‘ปั่นจักรยาน’

เพราะ EV ใช่ว่าจะกรีนเหมือนที่โฆษณา เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า รถ EV แม้จะปล่อยก๊าซที่มีผลต่อโลกร้อนน้อยกว่ารถน้ำมัน (ICE - Internal Combustion Engine) แต่พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ก็มาจากการผลิต เช่น ถ่านหิน การเผาก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ที่ก่อก๊าซเรือนกระจกมากกว่าจะมาจากพลังงานสีเขียว
อีกทั้งการผลิต ‘แบตเตอรี่’ ก็มีขั้นตอนที่ต้องใช้พลังงานและน้ำจำนวนมากในการขุดหาแร่ตลอดจนกระบวนการผลิต แถมขั้นตอนการทำลายแบตฯ ก็ยังชวนปวดหัวและท้าทายว่าจะกำจัดให้ ‘เป็นมิตรต่อโลก’ ได้อย่างไร ซึ่งเป็นคำถามตัวโตใหญ่ที่ทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปกำลังหาคำตอบที่ดีที่สุด ส่วนประเทศไทยคำตอบยังไม่มี กฎหมายยังไม่มา และยังคงไร้ทิศทางว่าจะเอายังไง จะไปทางไหน
ในขณะที่ยานพาหนะอย่าง ‘จักรยาน’ คนเข้าถึงได้ง่ายกว่า มีแนวทางการสนับสนุนและกรณีศึกษาที่ชัดเจนและล้นเหลือ ไม่นับว่าเริ่มทำได้ง่ายกว่า เป็นมิตรต่อโลกมากกว่า แต่กลับไม่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง
WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
การปั่นจักรยานดีกว่าแน่ๆ ส่วนการมาถึงของรถ EV ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเมื่อเทียบกับรถน้ำมัน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่วิธีปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง
ต้องบอกก่อนว่ารถ EV ไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้ามีอย่างพอดี แต่ดูเหมือนการสนับสนุนให้คนใช้รถ ซื้อรถ จนท้ายที่สุดวันหนึ่งปริมาณรถ EV ก็คงจะถมเต็มถนนแทนที่รถน้ำมันเหมือน (หรืออาจมากกว่า) วันนี้ที่ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีรถมากกว่าคนแบบเท่าตัว (จำนวนรถจดทะเบียนสะสม ปี 2566) จนก่อให้เกิดปัญหารถติด สิ้นเปลืองพลังงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ พ่วงด้วยปัญหามลพิษทางอารมณ์จากความเครียดและหงุดหงิด
อีกทั้งปัญหาเรื่องแบตฯ จากรถ EV ที่เสื่อมภาพจะกำจัดอย่างไร สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ยังมองว่าเป็นข้อเสียของ EV ที่ยังไม่มีมาตรการในการกำจัดที่ชัดเจน
“การเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่การกำจัดแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพไปแล้วนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการกำจัดแบตเตอรี่ที่เป็นขยะเหล่านี้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะต้องมีการดำเนินการต่อไป”
ข้อดี-ข้อเสีย รถยนต์ไฟฟ้า, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ขณะที่ สภาพัฒน์ ตั้งคำถามเช่นกันว่า “ซากแบตเตอรี่รถ EV จัดการอย่างไร?” ใน รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567 (แถลงเปิดรายงานเมื่อ 25 พฤศจิกายน 67) ที่คาดการณ์ว่า จะมีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเสื่อมสภาพเพิ่มจากปี 2563 ที่ 1.0 แสนตัน เป็น 7.8 ล้านตันต่อปีภายในปี 2583
“งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ระบุว่า ขยะแบตเตอรี่เสื่อมสภาพที่ถูกทิ้งหรือฝังกลบจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน อาทิ มลพิษทางน้ำและดินจากสารโลหะหนัก รวมทั้งสารเคมีในแบตเตอรี่ ...ที่เมื่อสัมผัสกับน้ำจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”
การใช้ทรัพยากรมากจนเกินไป ส่งผลให้ธรรมชาติเสียสมดุลผิดปกติ โลกจึงร้อนและรวน มีอาการเหมือนคนป่วย รถ EV ไม่ใช่จำเลย ยานพาหนะประเภทอื่นก็มีส่วนร่วมในมลพิษที่ก่อขึ้น
แต่คำถามสำคัญคือ ‘ขนส่งสาธารณะที่ดี’ หรือแม้แต่ ‘เลนจักรยาน’ ที่ใช้งบน้อยกว่าสร้างถนน เป็นทางออกและคำตอบที่มีหลักฐานยืนยันจากนานาประเทศ ทำไมสิ่งดูเหมือนจะง่ายที่สุด กรีนกว่าวิธีไหนๆ และตอบโจทย์เรื่อง SDGs ได้เรียบง่ายและตรงจุด ถึงยังไม่เกิด แม้ว่าจะมีการพูดถึงมาไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีหรือมากกว่านั้น
เรื่องนี้ไม่ใช่ปริศนา ภาครัฐและนายทุนน่าจะรู้ดีกว่าใคร

FYI ยูเทรกต์เป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ใช้จักรยานเติบโตเร็วเป็นอันดับต้นๆ ในเนเธอร์แลนด์ เฉลี่ย 125,000 คันต่อวัน หรือเกือบราวๆ ครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากร 330,000 คน
Stientje van Veldhoven รองรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมืองยูเทรกต์กล่าว “ถ้าคุณต้องการให้ผู้คนเลิกใช้รถยนต์ และใช้ขนส่งสาธารณะ คุณต้องสร้างบริการขนส่งสาธารณะที่ใช้ง่ายและสะดวกสบาย ...อย่างการมีที่จอดรถจักรยานใกล้กับสถานีรถไฟ และคุณไม่ต้องใช้เวลาหาที่จอดนานนัก”
ถามว่าการสร้างเมืองจักรยานของยูเทรกต์ใช้งบประมาณเท่าไหร่?
ข้อมูลจาก Time ระบุว่าราว 55 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถึงแม้จำนวนงบประมาณจะไม่น้อย แต่ในมุมรัฐบาลท้องถิ่นมองว่าคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการประหยัดค่าใช้จ่ายจากมลพิษทางอากาศและปัญหาด้านสุขภาพที่จะตามมา ซึ่งคิดเป็นเงินราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)
อย่าเพิ่งสิ้นหวัง แม้โลกนี้จะขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ผู้มีเงินหนาจะเป็นคนคุมเกม แต่ใช่ว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเราๆ ท่านๆ จะสิ้นไร้ไม้ตอกและต้องไหลไปตามเกม ขอแค่เริ่มต้นที่ มีจักรยานสักคัน (ซื้อตามกำลัง มีตั้งแต่หลักพันจนถึงหมื่น หรือเป็นหลักแสนก็มี จะเลือกที่ราคาเท่าไหร่ตามอัธยาศัยและเงินในกระเป๋า)
ต่อมาก็แค่เริ่ม ออกไปปั่นบ่อยๆ พยายามปั่นให้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตประจำวัน เอาเท่าที่ปั่นได้ รู้สึกปลอดภัย เพราะเข้าใจดีว่า พื้นที่และที่ทางสำหรับจักรยานในบ้านเราไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่ (ไม่นับรวมจิตสำนึกของสังคมที่เห็นรถยนต์เป็นใหญ่จนลืมนึกถึงจักรยานในฐานะเพื่อนร่วมถนน)

ถ้าต้องการแรงบันดาลใจ แนะนำลองทำความรู้จักข้อดีของการปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นเชื้อไฟและสร้างกำลังใจให้นักปั่นผู้เริ่มต้นได้อย่างดี
- ร่างกายแข็งแรง หัวใจฟิต ปอดเฟิร์ม เพราะปั่นจักรยานคือการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio Exercise)
- นอนหลับดีขึ้น การออกกำลังกาย ได้ใช้พลังงานเยอะๆ จะช่วยแก้ปัญหานอนไม่หลับ หรือคนที่หลับดีอยู่แล้ว ก็หลับได้ดีและลึกกว่าเดิม
- หุ่นดีขึ้น ขยับเท่ากับออกกำลังกาย ได้ทั้งเดินทาง ออกกำลังกาย และนำ้หนักลดลงในคราวเดียวกันเลยนะ
- ช่วยคลายเครียด จิตใจแจ่มใส เบิกบาน ลองปั่นจักรยานดูสักครั้ง คุณจะสัมผัสถึงภาวะความปลอดโปร่ง สมองโล่ง สนุก และอารมณ์ดีขึ้นได้เอง ถ้าไม่เชื่อหรือยังลังเลสงสัย แนะนำลองปั่นดู ...ระวังจะติดใจ

ส่วนการปั่นจักรยานจะเป็นมิตรต่อโลกแค่ไหน ไม่ต้องพูดเยอะ (เจ็บคอ) เพราะไม่ต้องมีสถิติหรือผลวิจัยใดอ้างอิง แค่สังเกตง่ายๆ ด้วยตัวเราเอง ทุกคนก็รู้แล้วว่า เป็นมิตรกว่าเป็นไหนๆ
แค่เริ่มปั่นจักรยาน คุณก็ค่อยๆ เปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นแล้วล่ะ (อย่างน้อยมลพิษจากการเดินทางที่เราก่อขึ้นก็ลดลง)
หนึ่งคนปั่น อาจไม่มาก แต่ถ้าทุกคนร่วมกันปั่น โลกก็เปลี่ยนได้นะ
